บีโอไอตั้งเป้าขอส่งเสริม 6 แสนล. มั่นใจปีหน้าดึงลงทุนพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก
บีโอไอตั้งเป้าคำขอส่งเสริมปี60 พุ่ง6 แสนล้านบาทมั่นใจทุนไหลลงพื้นที่อีอีซีมากขึ้น จับตา10 เดือนปีนี้ คำขอส่งเสริมลงทุนจากต่างประเทศพุ่ง 2 เท่าเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนเป็นสัญญาณบวกส่งท้ายปี ทุนญี่ปุ่นยังครองแชมป์ลงทุนมากเป็นอันดับ1 ทั้งจำนวนโครงการและมูลค่าเงินลงทุน ส่วนกลุ่มทุนสิงคโปร์จีน ฮ่องกง น่าจับตาเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น
นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่าปี2560 บีโอไอตั้งเป้าว่าจะมีมูลค่าคำขอรับการส่งเสริมอยู่ที่ระดับ 6 แสนล้านบาท เทียบกับมูลค่าคำขอรับการส่งเสริมปี2559 ที่คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 5.5 แสนล้านบาท โดยมั่นใจว่าจะมีทุนทางตรงจากต่างประเทศหรือเอฟดีไอ เข้ามาลงทุนในพื้นที่ ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (Eastern Economic Corridor) หรือ อีอีซีใน3 จังหวัดนำร่องคือระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา มากขึ้นภายหลังจากที่พื้นที่ดังกล่าวมีความชัดเจนด้านสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับกิจการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและเป็นกิจการที่มีการวิจัยและพัฒนาในประเทศ อีกทั้งบางกิจการอาจมีการปรับการให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุดตามกรอบเพดาน 13 ปี จากที่สิทธิ์เดิมได้รับสิทธิประโยชน์ดังกล่าวสูงสุดเพียง 8 ปี
สอดคล้องกับที่แหล่งข่าวจากบีโอไอกล่าวว่า ปีหน้าเริ่มเห็นสัญญาณบวกด้านการลงทุน ดูจากช่วงปลายปีนี้ที่การขอรับการส่งเสริมเดือนมกราคม-ตุลาคม 2559 มีการขอรับการส่งเสริมการลงทุน 1,205 โครงการเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน54% มีมูลค่าเงินลงทุน 408,100 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 144% นับเป็นแรงส่งสำคัญ เนื่องจากมีนักลงทุนหลายรายสนใจยื่นขอรับการส่งเสริมในกิจการซอฟต์แวร์ตามนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิตอลและกิจการบริษัทการค้าระหว่างประเทศ ประกอบกับมีโครงการขนาดใหญ่ที่มีเงินลงทุนมากกว่า 1,000 ล้านบาทยื่นขอรับการส่งเสริมเข้ามาเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะกิจการบริการและสาธารณูปโภคและกิจการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วน เช่น โครงการท่อขนส่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่การผลิตยางรถยนต์และการผลิตเครื่องยนต์ของรถยนต์ เป็นต้น อีกทั้งในช่วงที่ผ่านมามีการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ 10 กลุ่ม(ดูตาราง) สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้น
นอกจากนี้ตามรายงานข่าวจากบีโอไอระบุอีกว่า การลงทุนในช่วง 10 เดือนแรกปี2559 พบว่าเป็นคำขอรับการส่งเสริมจากต่างประเทศจำนวน 719 โครงการ เงินลงทุน 186,181 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2558 ที่มีเงินลงทุน 87,953 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นประมาณ2 เท่า และญี่ปุ่นเป็นประเทศมีจำนวนโครงการและมูลค่าเงินลงทุนมากที่สุดเป็นอันดับ 1 มีคำขอรับการส่งเสริมจำนวน 203 โครงการ คิดเป็น28%ของจำนวนโครงการที่ได้รับการส่งเสริมลงทุนจากต่างประเทศ เงินลงทุน 32,591ล้านบาท คิดเป็น18% ของเงินลงทุนของโครงการที่ได้รับการส่งเสริมจากต่างประเทศ ตัวอย่างโครงการเช่น กิจการผลิตเครื่องยนต์สำหรับยานพาหนะ เงินลงทุน 7,200 ล้านบาท กิจการผลิตรถยนต์อเนกประสงค์ เงินลงทุน 2,875 ล้านบาท และกิจการผลิตโพลิเมอร์ชนิดพิเศษ เช่น Cross-linked Acrylic Polymer เงินลงทุน 970 ล้านบาท
ส่วนกลุ่มทุนที่ต้องจับตามองเนื่องจากเริ่มมีการลงทุนในไทยมากขึ้นในช่วง10เดือนที่ผ่านมาไล่ตั้งแต่ สิงคโปร์ลงทุนมากเป็นอันดับ 2รองจากญี่ปุ่น มีคำขอรับการส่งเสริมจำนวน 84 โครงการ คิดเป็น 12% ของจำนวนโครงการที่ได้รับการส่งเสริมลงทุนจากต่างประเทศ เงินลงทุน 27,296ล้านบาท คิดเป็น 15% ของเงินลงทุนของโครงการที่ได้รับการส่งเสริมจากต่างประเทศ ตัวอย่างโครงการเช่น กิจการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์และแผงเซลล์แสงอาทิตย์เงินลงทุน 8,293ล้านบาท ซึ่งเป็นการลงทุนจากจีนผ่านสิงคโปร์และกิจการขนส่งทางอากาศ 2 โครงการ เงินลงทุน 9,881 ล้านบาท ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างไทยและสิงคโปร์
สำหรับจีนลงทุนมากเป็นอันดับ 3 มีคำขอรับการส่งเสริมจำนวน 81 โครงการ คิดเป็น 11% ของจำนวนโครงการที่ได้รับการส่งเสริมลงทุนจากต่างประเทศ เงินลงทุน 26,028 ล้านบาท คิดเป็น 14% ของเงินลงทุนของโครงการที่ได้รับการส่งเสริมจากต่างประเทศ ตัวอย่างโครงการเช่นกิจการขนส่งทางอากาศ 10 โครงการ เงินลงทุนรวม 6,280 ล้านบาท ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างไทยและจีน กิจการผลิตยางยานพาหนะ เงินลงทุน 4,370 ล้านบาท และกิจการผลิตไฟเบอร์กลาส เงินลงทุน 2,752 ล้านบาท
รวมถึง ฮ่องกงลงทุนมากเป็นอันดับ 4 มีคำขอรับการส่งเสริมจำนวน 29 โครงการ คิดเป็น 4% ของจำนวนโครงการที่ได้รับการส่งเสริมลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด เงินลงทุน 20,122 ล้านบาท คิดเป็น 11% ของเงินลงทุนของโครงการที่ได้รับการส่งเสริมจากต่างประเทศ ตัวอย่างโครงการ เช่น กิจการผลิตยางรถโดยสารและยางรถบรรทุก เงินลงทุน 13,570 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขอรับส่งเสริมการลงทุนจากจีนผ่านฮ่องกง เป็นต้น
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,219 วันที่ 18-21 ธันวาคม 2559