ทางด่วนฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี เส้นทางคมนาคมทางเลือกสู่เหนือ-อีสาน
นครนายกและสระบุรี นอกเหนือจากจะเป็นจังหวัดสำคัญที่เป็นแหล่งประกอบอุตสาหกรรม และแหล่งผลิตผลทางการเกษตรรวมทั้งแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงแล้วยังถือว่าเป็นประตูเชื่อมโยงการเดินทางไปยังภาคกลางตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีกด้วย
ปัจจุบันการเดินทางจากกรุงเทพฯไปยังจังหวัดนครนายกจะใช้ถนนรังสิตนครนายก หรือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 305(รังสิต-นครนายก) ส่วนการเดินทางไปยังจังหวัดสระบุรีนั้นจะใช้ถนนพหลโยธินหรือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 ผ่านอำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เข้าสู่จังหวัดสระบุรี
สภาพเส้นทางและปริมาณการจราจรในปัจจุบันค่อนข้างหนาแน่นเฉลี่ยประมาณ 1 แสนคันต่อวันเนื่องจากเป็นเส้นทางหลักในการเดินทางสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะเส้นทางรถบรรทุกขนาดใหญ่ใช้บริการจำนวนมากส่งผลให้เกิดความล่าช้าโดยเฉพาะช่วงเทศกาลสำคัญต่างๆ
การทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) จึงวางแผนขยายโครงข่ายทางด่วนฉลองรัชไปยังจังหวัดสระบุรีเพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางที่สะดวกสามารถเชื่อมโยงการเดินทางเข้ากับจังหวัดปทุมธานี สระบุรีและนครนายกสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น นอกเหนือจากจะเป็นการเพิ่มโครงข่ายถนนและช่วยในการพัฒนาพื้นที่ด้านตะวันออกของถนนพหลโยธินที่ปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรมได้อีกด้วย
"โครงการทางด่วนฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี" จึงกำหนดแนวเส้นทางตัดผ่านถนนลำลูกกาในทิศตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงเทพมหานคร ผ่านจุดตัดทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 305 ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 33(ถนนสุวรรณศร) และไปสิ้นสุดแนวสายทางที่อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี รูปแบบทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร
โดยมีจุดเริ่มต้นโครงการต่อเชื่อมจากทางด่วนฉลองรัชที่ด่านจตุโชติบริเวณจุดตัดถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก(ถนนกาญจนาภิเษก) ตัดผ่านถนนหทัยราษฎร์ ถนนนิมิตรใหม่ ถนนลำลูกกาและจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2(ถนนมิตรภาพ) ประมาณกิโลเมตรที่ 10+700 ใกล้กับจุดบรรจบของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3222 กับถนนมิตรภาพในเขตอำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี รวมระยะทางประมาณ 104 กิโลเมตร มีจุดพักรถ 1 แห่ง บริเวณแยกบางอ้อ อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก และจุดบริการ 1 แห่งที่อำเภอแก่งคอย มีทางขึ้น-ลงจำนวน 9 แห่งครอบคลุมเขตพื้นที่ 4 จังหวัด 7 อำเภอ 27 ตำบล
โครงการนี้กทพ.ได้มีการศึกษารูปแบบการร่วมลงทุนที่จะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 พร้อมกับจัดทำการทดสอบความสนใจของนักลงทุน(Market Sounding) อีกด้วยโดยเริ่มต้นศึกษาโครงการตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2557 สิ้นสุดการศึกษาไปเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2558 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมเสนอผู้บริหารกทพ.และกระทรวงคมนาคมเร่งผลักดันต่อไป
ทั้งนี้คาดว่าจะใช้งบประมาณลงทุนเบื้องต้นประมาณ 3.1 หมื่นล้านบาท โดยอยู่ระหว่างนำเสนอรับรองผลการศึกษาด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) หลังจากนั้นจะเร่งเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณาเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบให้ดำเนินการคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2565
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,220 วันที่ 22-24 ธันวาคม 2559