ตลาดส่งออกเมล็ดพันธุ์ 5,000 ล้าน ปี60 สะเทือน หลังเวียดนามคู่ค้ารายใหญ่ รัฐบาลไฟเขียวให้ปลูกข้าวโพดจีเอ็มโอ เป็นทางเลือกได้ หวั่นเสียตลาดถาวร ด้านนายกสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์คนใหม่ จี้รัฐแก้กฎหมาย 3 ฉบับอุปสรรคต่อการพัฒนา -ขาดความคล่องตัว ผวาโทษหนักพักใบอนุญาตถึงปิดโรงงาน
ดร.ชัยฤกษ์ สงวนทรัพยากร นายกสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงสถานการณ์ตลาดส่งออกเมล็ดพันธุ์ของไทยที่มีมูลค่ากว่า 5,000 ล้านบาทต่อปีว่า ในปี 2560 มีทิศทางที่ไม่ค่อยสดใสนัก เนื่องจากคู่ค้ารายใหญ่คือเวียดนาม รัฐบาลได้เปิดให้เกษตรกรสามารถปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ดัดแปลงพันธุกรรม หรือข้าวโพจีเอ็มโอเป็นทางเลือกได้ จึงหวั่นว่าจะส่งผลกระทบ และไทยมีโอกาสจะสูญเสียตลาดเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเวียดนามซึ่งเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ได้ แต่อีกด้านหนึ่งรัฐบาลเวียดนามเองก็มีโครงการเช่นเดียวกับรัฐบาลไทยที่ต้องการลดพื้นที่ปลูกข้าว ซึ่งทางบริษัทในสมาคมต่างก็เห็นพ้องกันว่ายังเป็นช่องทางและโอกาสที่ไทยยังพอรักษาตลาดไว้ได้ เนื่องจากปริมาณการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเวียดนามอาจเพิ่มขึ้นในอนาคต
ส่วนนโยบายของรัฐบาลไทยที่สนับสนุนให้เกษตรกรหันมาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทดแทนการทำนา โดยเฉพาะในพื้นที่ไม่เหมาะสม มองว่าเป็นนโยบายที่ดี เพราะ การปลูกข้าวเกินความต้องการของตลาด ที่สำคัญข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ก็เป็นพืชเศรษฐกิจอีกตัวหนึ่ง ซึ่งทางสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นวัตถุดิบปีละ 7 ล้านตันเศษ ขณะที่ไทยสามารถปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้เพียง 4 ล้านตันเศษ ต่อปีเท่านั้น จะเห็นว่าตลาดยังมีความต้องการสูง มองเป็นอนาคตที่จะทำให้เกษตรกรขายผลผลิตได้ราคาดี
"โครงการสนับสนุนปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มี 3-4 ประเด็นที่น่าสนใจคือ 1.การลดพื้นที่นาปรัง 2.มีราคาประกันให้ขั้นต่ำ 8 บาทต่อกิโลกรัม ณ กรุงเทพและปริมณฑล ส่วนต่างจังหวัดจะไม่ได้ราคา 8 บาทต่อกิโลกรัมเพราะจะทอนเรื่องค่าขนส่งและค่ารถบรรทุก ยกตัวอย่าง กรุงเทพฯ ราคาข้าวโพด 8 บาทต่อกิโลกรัม แต่นครราชสีมาราคา 7 บาทต่อกิโลกรัม เป็นต้น รวมทั้งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ยังให้สินเชื่อ พร้อมให้คำแนะนำองค์ความรู้ตั้งแต่การเพาะปลูกไปจนถึงการเก็บเกี่ยว วัตถุประสงค์เพื่อให้เกษตรกรที่เข้าร่วมมีกำไร"
นายชัยฤกษ์ กล่าวว่า หลังจากรับตำแหน่ง ประมาณมีนาคม 2559 ที่ผ่านมา การทำงานของสมาคมได้พยายามแก้ไขปัญหาให้สมาชิกอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญได้มีการผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายใหม่ ที่เป็นอุปสรรคทางการค้า อยู่ 3 ฉบับ ได้แก่ 1. พระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติพันธุ์พืช (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 และ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2550ซึ่งมีสาระสำคัญคือ หากกรมวิชาการเกษตรสุ่มตรวจจากร้านค้า แล้วพบว่าผลการตรวจสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์มีอัตราความงอกต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดทั้งที่เมล็ดพันธุ์ยังไม่หมดอายุตามที่ผู้รวบรวมระบุไว้บนฉลาก เป็นเหตุให้บริษัทผู้ผลิตต้องถูกดำเนินคดีในข้อหาจำหน่ายเมล็ดพันธุ์เสื่อมคุณภาพ โดยจะถูกพักใช้ใบอนุญาตเมื่อกระทำความผิด ทั้งนี้บริษัทเมล็ดพันธุ์มีใบอนุญาตเดียวทั้งบริษัท หากผลิตภัณฑ์ตัวใดมีปัญหา หรือเจ้าหน้าที่ ตัวแทนจำหน่ายกระทำความผิด โทษจะต้องย้อนกลับมาถึงบริษัท โดยจะต้องพักใบอนุญาตทั้งบริษัท อาจถึงขั้นต้องปิดบริษัท
"กฎหมายไม่แยกชนิด ไม่แยกประเภทความผิด ไม่แยกผู้ทำความผิด ดังนั้นทางสมาคมจึงมีประกาศมาตรฐานอายุของเมล็ดพันธุ์พืชควบคุม 37 ชนิดตามหลักวิชาการและให้อยู่ในอุณหภูมิสถานที่จัดเก็บเมล็ดพันธุ์ในที่ร่มประมาณ 30 องศาเซลเซียสและมีบรรจุภัณฑ์ที่ป้องกันความชื้นได้ เพื่อช่วยลดปัญหาเมล็ดพันธุ์เสื่อมคุณภาพ
2. พ.ร.บ.กักกันพืช 2507 ซึ่งจะมีบัญชีแนบท้ายว่า พืชใดบ้างที่ห้ามนำเข้า ซึ่งเป็นปัญหาต่อการพัฒนาเพราะอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์หยุดนิ่งไม่ได้ ต้องมีการค้นคว้าวิจัย ต้องมีการนำเชื้อพันธุ์เข้ามา และ 3.พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 ยังออกกฎหมายลูกไม่ได้ และยังบังคับใช้ไม่ได้ โดยอยู่ระหว่างปรับแก้ ต้นเหตุของปัญหาคือมีการนำหลายอย่างมาผสมกันแล้วใช้กฎเดียวกัน โดยครอบคลุมทั้งพืชป่า พืชคุ้มครอง พืชอนุรักษ์ พืชท้องถิ่น รวมกับพืชที่พัฒนาวิจัยพืชใหม่ จึงทำให้กฎหมายมีปัญหา ไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง เพราะหากกฎหมายจะส่งผลให้เมล็ดพันธุ์แพง จะเป็นเรื่องสิทธิบัตร ปัจจุบันได้ยื่นเรื่องต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไปนานแล้วยังไม่มีการตอบรับแต่อย่างใด
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,221 วันที่ 25 -28 ธันวาคม 2559