บางกอกเอวิเอชั่นเซ็นเตอร์ ทุ่ม 1,500 ล้านบาทผุดโรงเรียนการบินแห่งใหญ่สุดในประเทศ “BAC Academy” บนพื้นที่ 15 ไร่ปากทางเข้าสนามบินโคราช ผลิตนักบินพาณิชย์ปีละ 300 คน ด้านจังหวัดขานรับ ประสานแก้ปัญหาเช่าที่ดินกรมป่าไม้
น.ท.ปิยะ ตรีกาลนนท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บางกอกเอวิเอชั่นเซ็นเตอร์ จำกัด (BAC) เปิดเผยว่า BAC เป็นโรงเรียนการบินเอกชนแห่งแรกในไทย ก่อตั้งเมื่อปี 2545 ตั้งอยู่ที่ จ.นครนายก และเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการฝึกนักบินให้เหมาะสมกับความต้องการนักบินที่เพิ่มขึ้น BAC จึงทุ่มลงทุน 1,500 ล้านบาท ผุดโครงการ "BAC Academy" (จ.นครราชสีมา) บนเนื้อที่ 15 ไร่ บริเวณปากทางเข้าท่าอากาศยานนครราชสีมา อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา ภายในประกอบไปด้วยห้องเรียน, หอพัก 2 อาคาร รวม 200 ห้อง , ห้องประชุม, ศูนย์กีฬา และพื้นที่สันทนาการที่มีความทันสมัย
[caption id="attachment_126727" align="aligncenter" width="503"]
BACผุดโรงเรียนการบินโคราช ใหญ่สุดในประเทศ-ทุ่ม1.5พันล้านผลิตนักบินปีละ300คน[/caption]
" BAC จะมีการสั่งซื้อเครื่องบินใหม่ เป็นเครื่องบินขนาดเล็ก 4 ที่นั่ง 1 ลูกสูบ 1 ใบพัด รุ่น เซสน่า 172 มาใช้ในการเรียนการสอนอีก 60 ลำ สร้างลานจอด โรงซ่อมบำรุงเครื่องบินขนาด 8 ลำ ซึ่งส่วนนี้จะอยู่ในสนามบินนครราชสีมาซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจาเช่าพื้นที่ ขณะนี้ได้มีการปรับพื้นที่ในส่วนของ Academy เรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะตอกเสาเข็มและเริ่มการก่อสร้างได้ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 1 ปี จากนั้นจะเปิดการเรียนการสอนเพื่อผลิตนักบินออกสู่ตลาด โดยสามารถผลิตนักบินได้เต็มความสามารถปีละประมาณ 450 คนถือเป็นโรงเรียนการบินแห่งใหญ่ที่สุดในโลก เบื้องต้นในปีแรกจะผลิตให้ได้ 250-300 คน โดยมีเป้าหมายฝึกนักบินต่างชาติเป็นหลักด้วย"
น.ท.ปิยะ กล่าวอีกว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้ BAC ตัดสินใจเข้ามาลงทุนที่จังหวัดนครราชสีมา เนื่องจาก สนามบินนครราชสีมาถือเป็นสนามบินที่ใกล้ที่สุด เมื่อเดินทางจากกรุงเทพฯ ผู้มาเรียนก็เดินทางสะดวก โครงสร้างพื้นฐาน (Infranstructure)ทั้งหมดของสนามบินโคราชถือว่ามีความพร้อมมากที่สุด ห่างจาก Academy เพียง 5 กิโลเมตร ความได้เปรียบในเรื่องพื้นที่ที่มีมากถึง 4,000 ไร่บนพื้นที่ของป่าไม้กว่า 4 หมื่นไร่ มีรันเวย์ยาวถึง 2,000 เมตรและสามารถขยายได้อีก ความกว้างถึง 80 เมตรและมีไหล่ทางด้วย ซึ่งถือเป็นมาตรฐานสากล สามารถนำเครื่องบินขนาดใหญ่ลงได้ และที่สำคัญคือเครื่องช่วยเดินอากาศ มีความพร้อมอย่างมากและเป็นข้อได้เปรียบอย่างมาก ซึ่งวิทยุการบินได้ลงทุนในเรื่องนี้เป็น1,000 ล้านบาทแต่ที่ผ่านมาอาจจะใช้ไม่เต็มประสิทธิภาพ โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา BAC ได้ นักบินมาฝึกบินที่สนามบินนครราชสีมาปีละไม่น้อยกว่า 50-80 รายนำเครื่องบินมาฝึกที่นี่ 10-15 ลำ
"โครงการนี้จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของ จ.นครราชสีมาได้เป็นอย่างดี เนื่องจาก BAC มุ่งเน้นการสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่คนในพื้นที่ อีกทั้งยังส่งเสริมการพัฒนาฝีมือช่างซ่อมอากาศยานโดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและสถาบันอาชีวศึกษาประจำจังหวัดในการส่งนักศึกษาเข้ามาเป็นช่างซ่อมบำรุง โดย BAC ต้องการทีมช่างมากกว่า 150 คน เพื่อรองรับการซ่อมและบำรุงรักษาเครื่องบินจำนวน 40-60 ลำ นอกจากนี้ศิษย์การบินและครูการบินจำนวนกว่า 300 คน จะใช้ชีวิตอยู่ใน จ.นครราชสีมา ซึ่งจะต้องมีการจับจ่ายใช้สอยและจะเป็นการสร้างรายได้ให้แก่คนในพื้นที่และยิ่งกว่านั้นในอนาคตจะเป็นการเพิ่มดุลการค้าให้แก่ประเทศไทยได้ทางหนึ่ง เนื่องจาก BAC จะขยายตลาดการฝึกนักบินต่างชาติต่อไป ขณะนี้ทางบริษัทฯ กำลังทำตลาดกับจีนเพื่อผลิตนักบินจีนป้อนตลาดการบินด้วย"
ด้านนายมธุรธาธีร์ รักชาติเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า โครงการนี้ ยังติดปัญหาเรื่องการขออนุญาตใช้พื้นที่เพื่อทำลานจอดเครื่องบินซึ่งเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานราชการโดยเฉพาะกรมป่าไม้ โดยจังหวัดจะหาแนวทางในการแก้ไขดังกล่าวให้เรียบร้อยโดยเร็ว เพื่อจะเดินหน้าก่อสร้างและการสั่งซื้อเครื่องบินต่อไป สิ่งที่จังหวัดนครราชสีมาจะได้รับคือเป็นศูนย์ฝึกการบินรายใหญ่ระดับโลก และคนในพื้นที่มีโอกาสเข้าเรียนหรือฝึกงานด้านช่างซึ่งมีผลตอบแทนที่สูง และจะทำให้กิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการบินเหล่านี้เกิดขึ้นตามมาอีก
นายมธุรธาธีร์ กล่าวว่า ในปีนี้จะมีโครงการขนาดใหญ่เกิดขึ้นหลายโครงการในจังหวัดนครราชสีมา นอกจากโรงเรียนการบินแห่งใหญ่ระดับโลกแล้วจะมีโครงการ มอร์เตอร์เวย์ โครงการรถไฟความเร็วสูง และโครงการของกลุ่มจังหวัด
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,230 วันที่ 26 - 28 มกราคม 2560