ที่ดินหายากตึกเก่าอโศกคูหาละ100 ล้าน
ดีเวลอปเปอร์ไล่กว้านซื้อตึกเก่าทุบทิ้งพัฒนาโครงการเผยแนวรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีนํ้าเงิน-สีเขียวถูกจ้องตาเป็นมัน “ออริจิ้น” ชี้มีคนเสนอขายตึกแถวย่านอโศก 100 ล้าน
ราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ที่ดินริมถนนและแนวรถไฟฟ้าหายาก มีราคาสูงผู้ประกอบการจึงหันไปซื้อที่ดินในซอยเพื่อพัฒนาโครงการ และซื้อตึกแถวเพื่อเปิดทางเข้า-ออกโครงการหลายแห่ง
นายสุรเชษฐ กองชีพ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าพื้นที่ตึกแถวหรืออาคารพาณิชย์ถูกซื้อเพื่อทุบทิ้งเอาที่ดินในช่วงที่ผ่านมาคือ พื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สายสีเขียวส่วนต่อขยาย รวมไปถึงสายสีม่วง และเส้นทางรถไฟฟ้าสายปัจจุบันในพื้นที่นอกเขตใจกลางธุรกิจก็มีการกว้านซื้อตึกแถว ปั๊มน้ำมัน โชว์รูม บ้านเพื่อรวบรวมที่ดินมาสร้างเป็นคอนโดมิเนียม
"พื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายทั้งสายสีน้ำเงิน สีเขียว (หมอชิต – คูคต) รวมไปถึงบางทำเลของเส้นทางรถไฟฟ้าบีทีเอสปัจจุบันน่าจะเป็นทำเลที่มีผู้ประกอบการให้ความสนใจมากที่สุด และเป็นทำเลที่แทบไม่มีที่ดินติดถนนเส้นทางหลัก (จรัญสนิทวงศ์ เพชรเกษมและพหลโยธิน) เหลือให้พัฒนาเป็นโครงการคอนโดมิเนียมแล้ว เพราะเป็นชุมชนดั้งเดิมมีการพัฒนาเป็นอาคารพาณิชย์ โกดัง หรือโชว์รูม ตลอดแนวเส้นทางจึงเริ่มเห็นการกว้านซื้อ รื้อถอนตึกแถวริมถนนบ้างแล้ว และบางทำเลผู้ประกอบการก็ยอมจ่ายแพงๆ ในการซื้อตึกแถว เพื่อใช้เป็นทางเข้า-ออกที่ดินด้านหลัง ส่งผลให้ราคาตึกแถวบ้างทำเลสูงกว่า 10 หรือ 20 ล้านบาท หรือมากกว่านี้ถ้าอยู่ในทำเลที่เป็นที่ต้องการจริงๆ"นายสุรเชษฐ กล่าว
ด้าน นางสาวพรทิพย์ แก้วอยู่ กรรมการบริหารฝ่ายที่ดินและการลงทุน บริษัท เซ็นจูรี่21 (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การซื้ออาคารพาณิชย์เก่าเพื่อทุบทิ้งเพื่อเอาที่ดินนั้นมีมานานแล้ว ส่วนใหญ่จะซื้อเพื่อเปิดทางให้กับที่ดินที่บริษัทอสังหาริมทรัพย์ซื้อไว้ด้านหลัง ซึ่งราคาขายก็ขึ้นอยู่กับความพอใจของเจ้าของอาคาร ไม่ได้ใช้ราคาประเมินเป็นที่ตั้ง เช่น ที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งของโครงการบีทนิค สุขุมวิท 32 คอนโดมิเนียมระดับลักชัวรี่ ที่พัฒนาโดยบริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3 แสนบาทต่อตารางเมตร เดิมเป็นที่ตั้งของโรงแรมเร็กซ์ โฮเทล (REX Hotel) เนื้อที่ประมาณ 21-22 ตารางวา ซื้อขายกันที่ 40 ล้านบาท
นายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าการหาซื้อที่ดินในปัจจุบันมีปัญหาอย่างมาก ผู้ประกอบการรายกลาง-เล็กไม่สามารถแข่งขันกับรายใหญ่ได้ อย่างเช่นในปีที่ผ่านมามีคนมาเสนอขายที่กว่า 200 แปลง แต่มีแปลงที่เหมาะสมแค่แปลงเดียวเท่านั้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องซื้อที่ดินในซอยมากขึ้น และหันไปซื้ออาคารพาณิชย์ริมถนนเพื่อใช้เปิดทางสู่ที่ดินด้านในมากขึ้น
"ในปีที่ผ่านมามีบริษัทนายหน้ารายหนึ่งมาเสนอขายอาคารพานิชย์เก่าย่านอโศกในราคาคูหาละ 100 ล้านบาท จากเดิมก่อนหน้านี้เสนอขายที่ประมาณ 70 ล้านบาท ซึ่งบริษัทไม่ได้สนใจ เนื่องจากพิจารณาแล้วว่าไม่คุ้มกับการลงทุน เนื่องจากบริษัทมีนโยบายไม่ซื้อที่ดินเกินว่า 8 แสนบาทต่อตารางวา"นายพีระพงศ์ กล่าว
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัทบีทีเอสกรุ๊ปโอลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทได้มีการเจรจาซื้ออาคารพาณิชย์บริเวณใกล้เคียงในทำเลหมอชิต เพื่อพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมเพิ่มเติม หลังจากแบ่งที่ดินที่สะสมจำนวน 2 ไร่จาก 15 ไร่เศษมาพัฒนาโครงการเดอะไลน์ หมอชิต-จตุจักร โดยที่ดินส่วนที่เหลืออาจพัฒนาเป็นคอนโดมิเนียมอีก 1โครงการ รวมทั้งอาคารสำนักงาน โรงแรม ซึ่งที่ผ่านมาซื้อไปจำนวน เกือบ 10 คูหา และสนใจอีก 9 คูหา
สอดคล้องกับการสำรวจของ "ฐานเศรษฐกิจ" ที่ได้รับการยืนยันจากชาวบ้านว่า บีทีเอส ได้เข้ามาติดต่อซื้อ อาคารพาณิชย์ จำนวน 9 คูหาในซอยยูโรป้า หมอชิต จำนวนนี้มีโรงพิทมพ์ ยูโรป้า จำนวน 2 คูหา ในราคา 20 ล้านบาท ต่อคูหา หรือ 20 ตารางวา แต่โรงพิมพ์ยูโรป้าได้ปฏิเสธที่จะขาย
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,235 วันที่ 12 - 15 กุมภาพันธ์ 2560