อภิโปรเจ็กต์ ทวาย คืบหน้าบนความไม่แน่นอน
ตลอดระยะเวลาเกือบ 10 ปีนับแต่ โครงการเขตเศรษฐกิจเศษของเมียนทวายของเมียนมาซึ่งมีแผนพัฒนาบนเนื้อที่ 204.5 ตารางกิโลเมตรใหญ่กว่า มาบตาพุด 10 เท่ามูลค่าการลงทุนไม่น้อยกว่า 3.9 แสนล้านบาทโดยมีเป้าหมายเป็นสะพานเชื่อมฝั่งอันดามันกับทะเลจีน เริ่มต้นเมื่อปี 2551 โดย บมจ. อิตาเลียนไทย ดิเวลล๊อปเมนต์ หรือ อิตาเลียนไทย ผู้ได้รับสัมปทาน 75ปี อภิโปรเจ็กต์ที่สุดทะเยอทะยานนี้ถูกปกคลุมด้วยความไม่แน่นอนมาโดยตลอด
ในช่วงปี 2555-2556 โครงการชะลอหลังรัฐบาลเต็งเส่งไม่มั่นใจว่า อิตาเลียนไทย สามารถรับมือได้โดยลำพัง ก่อน รูปแบบการจัดการโครงการถูกยกระดับเป็นโครงการระหว่างรัฐโดยรัฐบาล 3 ประเทศ เมียนมา ไทย และญี่ปุ่นร่วมตั้ง เอสพีวี (นิติบุคคลเฉพาะกิจ) ขึ้นมารับผิดชอบภาพรวมแทน อิตาเลียนไทย หากโครงการไม่ทันเดินหน้า เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเมียนมาเมื่อพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย(เอ็นแอลดี)ที่มี นางอองซาน ซูจีเป็นแกนนำชนะการเลือกตั้ง(9 พฤศจิกายน 2558) การเจรจาตัวแทน 2 ประเทศหยุดชะงักลงทันที
ตลอดปีเศษรัฐบาลเมียนมาภายใต้การนำของ นางอองซานซูจีให้น้ำหนักการปรองดองและนิคมอุตสาหกรรมติลาวา(ญี่ปุ่นร่วมทุนห่างย่างกุ้ง1ชั่วโมง) แต่ไม่ตัดสินใจลงนามในสัญญาเงินกู้เพิ่มเติม 4,500ล้านบาท เพื่อใช้ในการก่อสร้างถนน2 เลนเชื่อมโครงการทวายมายังชายแดนประเทศไทย บริเวณบ้านพุน้ำร้อน จังหวัดกาญจนบุรี ระยะทาง 132 กิโลเมตรโดยไทยให้กู้แบบเงื่อนไขผ่อนปรน(ซอฟต์โลน)ระยะเวลา20 ปี ปลอดชำระหนี้เงินกู้ 10 ปีแรก ส่งผลให้โครงการ ต้องชะลออกไปจากเดิมกำหนดก่อสร้างเดือนมีนาคม 2559
ความคืบหน้าเดียวจากเมียนมาในช่วงที่ผ่านมาคือ ตั้งคณะกรรมการเศรษฐกิจพิเศษทำหน้าที่ดูแลเขตเศรษฐกิจทุกแห่งในประเทศ โดยมี ดร.ตุน เนียง รัฐมนตรีช่วยกระทรวงพลังงานไฟฟ้าเป็นประธาน ซึ่งคณะทำงานดังกล่าวจะลดขั้นตอนการทำงานให้เกิดความรวดเร็วเมื่อเดือนตุลาคม 2559 ที่ผ่านมาเอง
ด้าน นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ยืนยันกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า โครงการทวายคงเดินหน้า ความล่าช้าเกิดขึ้นระดับเดือนเท่านั้นเนื่องจากการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง “การทำงานระดับเจ้าหน้าที่ไม่หยุดแม้มีการเปลี่ยนรัฐบาล” และโตรงการถนนไม่ได้หยุดรัฐบาลใหม่(เมียนมา)ได้อนุมัติสัมปทานเหมืองหินสำหรับทำถนนแล้ว
เลขาฯสศช.กล่าวด้วยว่าการเคลื่อนไหว จากทางเมียนมาระดับนี้ถือว่าโครงการทวายอยู่ในลำดับต้นๆสำหรับการขับเคลื่อนแล้ว เขายังบอกอีกด้วยว่าการนำคณะนักธุรกิจไทย เยือนเมียนมาของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี (2-5 กุมภาพันธ์)ตามคำเชิญของนางอองซาน ซูจี ตามด้วยคณะของ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (10 กุมภาพันธ์)และได้เข้าพบรองนายกฯเมียนมา (เฮนรี วันเทียว) และหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง “ถือเป็นสัญญาณระดับสูง ว่าควรจะร่วมมือทวายกันต่อซึ่งถือเป็นส่งสัญญาณที่ดี”
ส่วนนายเปรมชัย กรรณสูต ประธานกรรมการ บมจ.อิตาเลียนไทย บอกกับสื่อมวลชนที่กรุงเทพฯกลางสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ขณะนี้(โครงการทวาย)มีความคืบหน้าไปมากหลัง นางอองซานซูจีแต่งตั้งบุคคลขึ้นมารับผิดชอบโครงการ มีการประชุมร่วมกันตั้งแต่เดือน พฤศจิกายน 2559 รวม 3 ครั้งแล้ว “ครั้งนี้คุยกันด้วยดีเริ่มคุยเดือนละหน ทุกครั้งคืบหน้า และบรรยากาศดีกว่ารัฐบาลเก่า” เขามั่นใจว่าโครงการถนนเชื่อมชายแดนไทยไปยังทวาย จะชัดเจนขึ้น หลัง นายอาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรงคมนาคม เดินทางเยือนเมียนมา
สัปดาห์เดียวกัน นายอาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แถลงที่ทำเนียบหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เขาแจกแจงรายละเอียดการหารือกับนายเฮนรี วัน เทียว รองนายกฯเมียนมา และ ผลการประชุมร่วม คณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ซึ่งฝ่ายเมียนมามี ดร.ตุน (รัฐมนตรีช่วยพลังงานและไฟฟ้า และประธานเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย)เป็นประธาน ว่า การหารือมีข้อสรุปหลายเรื่องๆ (ดูตาราง) รวมทั้งโครงการถนนเชื่อมทวายกับชายแดนไทยพม่ารวมทั้งรายละเอียดเงินกู้ซอฟต์โลนที่ไทยเสนอให้เมียนมากู้ก่อสร้างถนนและจะมีการประชุมร่วมกันอีกครั้งที่ กรุงเทพฯ เดือนมีนาคมหน้านี้ แต่น่าสังเกตว่า นายอาคม รัฐมนตรีคมนาคม ยังไม่รายงานคณะรัฐมนตรี ซึ่งชวนให้คาดเดาถึงสาเหตุไปต่างๆนานา
ดูเหมือนว่าไทยกับเมียนมาได้ข้อสรุปร่วมกันแล้วว่ายังจะเดินหน้าโครงการทวายต่อไป แต่ยังไม่พบข้อยุติว่าจะร่วมมือ ด้วยรูปแบบไหนและอย่างไร
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,237 วันที่ 19 - 22 กุมภาพันธ์ 2560