ธุรกิจซื้อ ขายรถยนต์ออนไลน์รุ่ง ผู้ประกอบการแห่เปิดเว็บไซต์ “สยามคาร์ดีล” เตรียมจับมือพันธมิตรดีลเลอร์กว่า 150 ราย 23 ยี่ห้อ ด้านคาร์พารากอน เล็งระดมทุนรอบใหม่ขยายสู่ต่างจังหวัดและอาเซียน ส่วนแอพเพิลออคชั่น คาดการประมูลรถออนไลน์ปีนี้เติบโตกว่า 40%
แนวโน้มการใช้งานอินเตอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นในเมืองไทย ประกอบกับเม็ดเงินโฆษณาที่ขยับเข้าหาสื่อออนไลน์ในสัดส่วนมากขึ้นทุกปี ส่งผลให้หลายธุรกิจเริ่มมองหาช่องในการเจาะเข้าไปทำตลาดออนไลน์ เช่นเดียวกับธุรกิจซื้อ-ขายรถยนต์ และการประมูลรถยนต์ออนไลน์
โดยข้อมูลจากเจดี พาวเวอร์ พบว่า กว่า 58 % ของผู้ที่สนใจจะซื้อรถยนต์แต่ละคัน ใช้อินเตอร์เน็ตในการศึกษาหาข้อมูลก่อนตัดสินใจซื้อ นอกจากนั้นระยะเวลาที่ลูกค้าแต่ละคนจะเลือกซื้อรถยนต์มักใช้เวลากว่า 3 เดือน ซึ่งช่วง 3 เดือนที่ว่า ลูกค้าจะเข้าไปทดลอง หรือ ดูรถจริงที่โชว์รูมเฉลี่ย 3.14 ครั้งและใช้เวลาค้นหาข้อมูลออนไลน์ตามเว็บไซต์ต่างๆ อีกราว 9.05 ครั้ง
สำหรับรูปแบบของเว็บไซต์ซื้อขายรถยนต์ที่เริ่มเห็นคือการเป็นตัวกลางที่เชื่อมระหว่างดีลเลอร์และลูกค้า ไม่ใช่การขายแข่งกับดีลเลอร์แต่อย่างใด โดยเจ้าของเว็บไซต์จะมีข้อมูลแคมเปญ -รถรุ่นต่างๆของแต่ละดีลเลอร์ ทั้งรุ่น - สี -ราคา และหากลูกค้าให้ความสนใจก็มีการส่งต่อข้อมูลไปยังทีมขายของดีลเลอร์
“เราลงทุนประมาณ 5 ล้านบาทและเริ่มเปิดเว็บไซต์ตั้งแต่ต้นปี 2559 โดยมีพันธมิตรที่เป็นดีลเลอร์รถยนต์ยี่ห้อต่างๆประมาณ 30 ราย จาก 10 ยี่ห้อ แต่ปีนี้เราตั้งเป้าจะเพิ่มเป็น 150 ราย และอยากได้แบรนด์รถยนต์ให้ครบ 23 ยี่ห้อที่มีจำหน่ายในบ้านเรา และแผน 2 ปีเราวางไว้ว่าจะเพิ่มดีลเลอร์เป็น 400 ราย มียอดคนเข้าชม 2 แสนราย”นางสาวศิริพร เชาว์ว่องเลิศ ผู้ร่วมก่อตั้งเวปไซต์ สยามคาร์ดีล (www.SiamCarDeal.com) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”
นางสาวศิริพร กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งสำคัญในการทำเว็บไซต์ซื้อขายรถออนไลน์นั้น คือ การตอบสนองลูกค้าได้ทันทีและรวดเร็ว โดยบริษัทจะมีแอดมินเพจ ที่จะตอบทุกข้อสงสัยในรูปแบบเรียลไทม์ หลังจากนั้นจะมีการส่งข้อมูลเซลส์ลีดของลูกค้าให้กับดีลเลอร์ โดยพนักงานขายก็จะนำไปต่อยอดเพื่อให้เกิดยอดขายต่อไป
ขณะที่เม็ดเงินที่คาดว่าจะส่งต่อให้กับดีลเลอร์ได้ในปีนี้คือ 2,500 ล้านบาท หรือคิดเป็นจำนวน 2,500 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่ทำได้ 500 ล้านบาท หรือ 500 คัน
ปัจจุบันการให้บริการจะมีค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากดีลเลอร์ประมาณ 4,000 บาทต่อเดือน
นอกจากค่ายสยามคาร์ดีลแล้ว ปลายปีที่ผ่านมามีอีกหนึ่งเจ้าที่เข้ามารุกในตลาด คือ คาร์พารากอนดอทคอมที่แม้จะเป็นน้องใหม่ แต่เริ่มเห็นทิศทางธุรกิจที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น และเตรียมที่จะระดมทุนรอบใหม่ เพื่อขยายธุรกิจออกไปยังต่างจังหวัดและต่างประเทศ และภายในสิ้นปีจะมีโมเดลธุรกิจขายรถมือ 2 บนหน้าเว็บไซต์
“เราเพิ่งเปิดตัวปลายปี 2559และการตอบรับจากลูกค้าถือว่าดี สามารถปิดดีลการขายรถได้สำเร็จ และในเร็วๆนี่กำลังศึกษาเรื่องค่าธรรมเนียม เพราะปัจจุบันยังเปิดให้บริการฟรีสำหรับดีลเลอร์ ส่วนจำนวนเซลส์ลีดที่ส่งให้กับดีลเลอร์นั้นอยู่ที่ประมาณ 100 รายต่อเดือน “นายวรท กมลโชติรส ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สมูทเลน จำกัด เจ้าของเว็บไซต์คาร์พารากอนดอทคอม กล่าว
“ในอเมริกาใช้เวลา 10 ปีกว่าที่การซื้อขายรถออนไลน์ได้รับความนิยม แต่ในไทยคาดว่าจะเร็วกว่า แต่จะถึง 2 ปีหรือเปล่าก็ไม่แน่ใจ เพราะปริมาณการใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทยอยู่ในระดับที่สูง ส่วนการแข่งขันในตลาดนี้ แน่นอนว่าย่อมต้องมีผู้เล่นหน้าใหม่ๆเข้ามา แต่เราเชื่อว่ากลยุทธ์ในการสร้างความสัมพันธ์กับดีลเลอร์จะเป็นจุดแข็งของเรา และการเลือกเซลส์ลีดที่มีคุณภาพก็เป็นอีกหนึ่งจุดที่เราเหนือกว่าคู่แข่งอื่นๆโดยปีนี้เราประมาณการว่ายอดเซลส์ลีดที่ส่งไปให้กับดีลเลอร์ จากจำนวน 100 รายต้องปิดการขายเกิน 10 % ซึ่งถือเป็นเรทที่เทียบเท่ากับอเมริกา”
ด้านกลุ่มธุรกิจประมูลรถมือสอง นายเชาวลิตกาญจนนท์ กรรมการผู้จัดการบริษัท แอพเพิล ออโต้ออคชั่น (ไทยแลนด์)จำกัดศูนย์ประมูลรถยนต์มือสองครบวงจร เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” จุดเด่นของการประมูลรถออนไลน์ คือเป็นการแข่งขันแบบเสรี มีความโปร่งใส โดยผู้เข้าประมูลจะต้องลงทะเบียนเป็นสมาชิกกับบริษัทก่อนและมีค่าประกัน2 หมื่นบาท เมื่อเสร็จสิ้นการประมูลก็จะคืนเงินให้
“ในญี่ปุ่นการประมูลรถจะใช้รูปแบบออนไลน์ 100 % แต่ในไทยเริ่มต้น 5 % และขยับมาเป็น 20-30 % ในปีที่ผ่านมา และเราตั้งเป้าว่าในปีนี้จะมียอดประมูลออนไลน์เพิ่มเป็น 40 %” นายเชาวลิตกล่าว
...แม้จะดูเป็นของใหม่สำหรับตลาดเมืองไทย ในการซื้อขาย-ประมูลรถออนไลน์ แต่เมื่อดูจากการแข่งขัน และการปรับตัวของผู้ประกอบธุรกิจแต่ละรายแล้วก็ต้องบอกว่าเป็นตลาดที่มีความน่าสนใจและน่าจะดุเดือดแน่ๆในอนาคต
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,239
วันที่ 26 กุมภาพันธ์ - 1 มีนาคม พ.ศ. 2560