คนไทยเมื่อเห็นภาพเบื้องหน้าอันละลานตาก็มักจะกล่าวว่า “สวยงามสุดลูกหูลูกตา” และก็เป็นความจริงเช่นนั้น เมื่อมองจากที่สูงสู่ป่าผืนใหญ่ของป่าลุ่มน้ำปาย อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน
จากภูมิอากาศร้อนชื้นในฤดูร้อน หนาวจัดในฤดูหนาว และฝนตกชุกในฤดูฝน บนระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล 300 - 1,300 เมตร ทำให้มีหมอกปกคลุมตลอดทั้งปี จึงมีต้นสักขึ้นอยู่หนาแน่นกว่า 300,000 ไร่
ป่าสักผืนที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ยังคงความสมบูรณ์อยู่ และกว้างขวางเกินกว่าที่ภาครัฐจะอนุรักษ์ไว้ได้
กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและ พันธุ์พืช จึงได้ขอพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ให้ทรงช่วยอนุรักษ์ผืนป่านี้ไว้ และในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2553 ทรงรับไว้ในพระบรมราชินูปถัมภ์
และพระราชทานนามว่า “ป่าสักนวมินทรราชินี” ตลอดมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมอนุรักษ์ผืนป่านี้ไว้อย่างสมบูรณ์ ต่างพร้อมใจกันสนองพระราชดำริเพื่อให้ป่าแห่งนี้เป็นสมบัติของประเทศตราบนานเท่านาน
“ ที่เห็นนี้เป็นชาดาวเรืองโดยนำดอกดาวเรืองมาแปรรูปเพื่อการบริโภค” ผศ.ดร.ธเนศ ไชยชนะ รองคณะบดีฝ่ายวิชาการและพัฒนานักศึกษาวิทยาลัยพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยแม่โจ้บอก และเผยว่าได้นำเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยแม่โจ้มาใช้ในการแปรรูป ส่วนการเพาะปลูกดอกดาวเรืองใช้และพืชอื่นๆ
แบบหมุนเวียน และได้น้อมนำพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้านการพัฒนาแหล่งน้ำเรื่องบ่อหลัก บ่อพวง มาเป็นกลไกในการบริหารจัดการน้ำ โดยใช้พลังงานทดแทนดึงน้ำขึ้นไปที่สูงก่อนปล่อยลงมาสู่หมู่บ้าน ส่วนในเขตอุทยานฯ ได้นำองค์ความรู้เรื่องบ่อน้ำจากยางพารามาใช้ เมื่อมีน้ำ มีพื้นที่ก็สามารถทำการเพาะปลูกพืชได้อย่างหลากหลายและตลอดทั้งปี โดยไม่ต้องไปบุกรุกป่าเพื่อทำไร่เหมือนเช่นที่ผ่านมา
และเมื่อวันพุธที่ 22 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมด้วยนายสมศักดิ์ เพิ่มเกษร รองเลขาธิการ กปร. และคณะอนุกรรมการฯ ได้เชิญถุงพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปมอบแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานของโครงการฯ ฯ บ้านมะโนรา
พบว่าทางมหาวิทยาลัยลัยแม่โจ้ ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และมหาวิทยาลัยพายัพ ทำการสำรวจหมู่บ้านรอบผืนป่าฯ ในช่วงที่ผ่านมา และสามารถนำองค์ความรู้ของมหาวิทยาลัยทั้ง 4 แห่ง มาสนับสนุนการดูแลและอนุรักษ์ป่าสักฯ ได้แบบคนอยู่ร่วมกับป่าอย่างเกื้อกูล โดยเลือกพื้นที่บ้านมโนราเป็นหมู่บ้านต้นแบบ
สำหรับป่าแห่งนี้มีไม้สักขึ้นอยู่อย่างหนาแน่นมีทรงต้นสวยงาม เมื่อเทียบกับป่าไม้สักแหล่งอื่นๆ ของประเทศไทยถือว่าที่นี่มีความสมบูรณ์มากที่สุดบนระดับความสูงถึง 1,300 เมตร จากที่เคยมีการบันทึกไว้ว่าจะไม่เกิน 750 เมตร และเพื่อไม่ให้เกิดการกระทบกับราษฎรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาติพันธุ์
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงร่วมกันพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรบริเวณป่าลุ่มน้ำของลุ่มน้ำปาย จํานวน 4 หมู่บ้าน ประกอบด้วย บ้านห้วยซลอบ บ้านนาอ่อน บ้านมะโนรา และบ้านห้วยปมฝาก เพื่อให้คนอยู่ร่วมกับป่าอย่างเกื้อกูลมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
ปัจจุบันเป็นพื้นที่อนุรักษ์พันธุกรรมไม้สักในถิ่นกําเนิดและนอกถิ่นกําเนิด พร้อมทั้งเป็นศูนย์ศึกษาวิจัยไม้สักที่ครบวงจรของประเทศไทยและในระดับสากลอีกด้วย