รายงานข่าวจากกระทรวงการคลังแจ้งว่า นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร ได้ลงนามในประกาศกรมศุลกากร 2 ฉบับ ได้แก่ ประกาศที่ 59/2561 เรื่อง “หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการปฏิบัติการศุลกากรในการตรวจปล่อยผู้โดยสารและหีบห่อสัมภาระระหว่างสนามบินภายในประเทศ โดยวิธีการ Check Through” ซึ่งใช้ในกรณีที่ผู้โดยสารเปลี่ยนเที่ยวบิน หรือโดยเที่ยวบินเดิม ระหว่างสนามบินในประเทศ เพื่อผ่านเข้ามาในหรือออกนอกราชอาณาจักร และ ประกาศที่ 60/2561 เรื่อง “การปฏิบัติพิธีการศุลกากรของติดตัวผู้โดยสารที่นำติดตัวเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรพร้อมกับตนทางอากาศยาน” ซึ่งใช้ในกรณีสัมภาระผู้โดยสารที่นำเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรพร้อมกับผู้โดยสารให้เป็นไปตามหลักสากล
ประกาศกรมศุลกากรที่ 59/2561 สาระสำคัญคือ สำหรับเที่ยวบินขาเข้าจากต่างประเทศ เข้ามาในประเทศไทย แล้วต่อเครื่องไปยังสนามบินอื่นในไทย ไม่ว่าเที่ยวบินเดิมหรือเปลี่ยนเที่ยวบิน ให้ศุลกากรตรวจสัมภาระที่สนามบินแห่งแรก และตรวจหีบห่อสัมภาระที่บรรทุกใต้ท้องเครื่องบิน ที่สนามบินปลายทาง โดยหากมีของต้องเสียภาษีอากร หรือของต้องกำกัด (หมายถึง ต้องได้รับอนุญาตหรือปฏิบัติให้ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด) หรือไม่แน่ใจว่าของที่นำติดตัวมาเป็นประเภทใด ให้ผ่านการตรวจที่ช่องแดง (มีของต้องสำแดง) แต่ถ้าไม่มีของต้องเสียภาษีอากร ของต้องห้าม หรือของต้องกำกัด ให้ผ่านการตรวจที่ช่องเขียว (ไม่มีของต้องสำแดง) โดยสายการบินหรือตัวแทนต้องประกาศให้ผู้โดยสารทราบก่อนเครื่องบินลงจอด และติดเครื่องหมาย International Baggage Claim ที่หน้าอกเสื้อ และนำผู้โดยสารผ่านช่องตรวจศุลกากร
สำหรับสัมภาระที่บรรทุกใต้ท้องเครื่องบิน ให้สายการบินยื่นเรื่องต่อศุลกากรประจำสนามบิน โดยจะพิจารณาความพร้อมของสนามบิน ที่สามารถควบคุมและคัดแยกผู้โดยสาร หรือหีบห่อสัมภาระ แยกระหว่างผู้โดยสารในประเทศ และที่เดินทางจากต่างประเทศอย่างชัดเจน โดยสายการบินต้องติดเครื่องหมาย CIQ (Customs - Immigration - Quarantine) บนหีบห่อสัมภาระหรือตู้คอนเทนเนอร์ เมื่อถึงสนามบินปลายทาง ให้แยกผู้โดยสารที่ทำการ Check Through ไปตามช่องทางที่กำหนด เพื่อรับหีบห่อสัมภาระที่บรรทุกใต้ท้องเครื่องบิน และผ่านการตรวจจากพนักงานศุลกากรจนเสร็จสิ้นพิธีการ
ส่วนผู้โดยสารขาออก จากสนามบินในประเทศไปยังสนามบินอีกแห่งในประเทศ เพื่อไปยังต่างประเทศ สามารถปฏิบัติพิธีการตรวจปล่อยผู้โดยสารและหีบห่อสัมภาระของผู้โดยสาร ณ สนามบินต้นทางได้ โดยสารการบินหรือตัวแทนจะต้องนำผู้โดยสารพร้อมหีบห่อสัมภาระ ซึ่งจะเดินทางไปต่างประเทศไปผ่านการตรวจจากพนักงานศุลกากร ณ จุดตรวจหีบห่อสัมภาระผู้โดยสารขาออกที่สนามบินต้นทาง จากนั้นให้สายการบินแยกผู้โดยสารออกจากผู้โดยสารภายในประเทศ โดยติดเครื่องหมาย CIQ บริเวณหน้าอกเสื้อ รวมทั้งติดเครื่องหมาย CIQ บนหีบห่อสัมภาระหรือตู้คอนเทนเนอร์ เมื่อถึงสนามบินอีกแห่งในประเทศ กรณีเปลี่ยนเที่ยวบินให้สายการบินแยกผู้โดยสารที่ทำการ Check Through ไปตามช่องทางที่กำหนดพร้อมนำหีบห่อสัมภาระบรรทุกใต้ท้องเครื่องบินที่จะนำผู้โดยสารออกนอกประเทศต่อไป
ส่วนประกาศกรมศุลกากรที่ 60/2561 สาระสำคัญที่นักเดินทางจะต้องรับทราบ ก็คือ กรณีเดินทางออกนอกประเทศ หากจะนำของมีค่าออกไป เช่น นาฬิกา กล้องถ่ายวีดีโอ กล้องถ่ายรูป คอมพิวเตอร์สำหรับพกพา ซึ่งมีเครื่องหมาย เลขหมายที่สามารถตรวจสอบได้ ให้แจ้งต่อพนักงานศุลกากร ณ ห้องที่ทำการศุลกากรบริเวณห้องผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศ
โดยต้องนำภาพถ่ายของสิ่งของที่นำมาแจ้งจำนวน 2 ชุด เจ้าหน้าที่จะมอบใบรับแจ้งของมีค่าที่ผู้โดยสารนำติดตัวออกไป เมื่อกลับมายังประเทศไทย ให้แสดงใบรับแจ้งของมีค่าต่อพนักงานศุลกากรช่องแดงในวันเดินทางกลับประเทศไทย เพื่อขอรับการยกเว้นอากรในฐานะของใช้ส่วนตัว โดยต้องเป็นของเก่าใช้แล้ว และมีจำนวนพอสมควรแก่การเดินทาง มีเครื่องหมาย เลขหมาย (Serial Number) หรือหลักฐานอื่นที่สามารถตรวจสอบได้ พนักงานศุลกากรอาจทำเครื่องหมาย หรือเลขหมายแสดงไว้เป็นหลักฐาน หากเป็นของมีค่าหรือของส่วนตัวที่ผู้โดยสารนำติดตัวไปขณะเดินทางออกนอกประเทศ ที่ใช้เป็นปกติวิสัยในระหว่างการเดินทาง หรือเครื่องประดับการแต่งกายตามปกติ ไม่ต้องแจ้งต่อพนักงานศุลกากร
สำหรับผู้โดยสารขาเข้าจากต่างประเทศ ของส่วนตัวที่เจ้าของนำเข้ามาพร้อมกับตนทางอากาศยาน ที่จะสามารถได้รับการยกเว้นอากร คือ ของส่วนตัวที่เจ้าของที่นำเข้ามพร้อมกับตน สำหรับใช้เองหรือใช้ในวิชาชีพและมีจำนวนพอสมควร มีราคารวมกันไม่เกิน 20,000 บาท ให้ได้รับยกเว้นอากร รวมทั้ง บุหรี่ 200 มวน หรือ ซิการ์ หรือ ยาเส้น อย่างละ 250 กรัม หรือหลายชนิดรวมกันมีน้ำหนักทั้งหมด 250 กรัม แต่บุหรี่ต้องไม่เกิน 200 มวน, สุรา 1 ลิตร หากนำของเข้ามาเกินกว่าปริมาณที่กำหนด ให้สละการครอบครอง โดยนำไปใส่ไว้ในกล่องโปร่งใส (Drop Box) ที่ทางศุลกากรได้จัดทำไว้ด้านหน้าช่องเขียว - ช่องแดง
หากสิ่งของที่ผู้โดยสารนำติดตัวเข้ามาพร้อมกับตน (Accompained Baggage) ในวันเดินทางมาจากต่างประเทศ โดยไม่เป็นของต้องห้าม หรือของต้องจำกัดในการนำเข้า มีมูลค่ารวมกันไม่เกิน 200,000 บาท หรือเป็นของที่มีมูลค่าเกินกว่า 200,000 บาท และนำติดตัวเข้ามาเพียงชิ้นเดียว ให้อยู่ในอำนาจของพนักงานศุลกากรที่ดูแลโดยตรง จัดเก็บอากรปากระวาง ประกอบด้วย อากรขาเข้า ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิต ภาษีเพื่อมหาดไทย และค่าธรรมเนียมอื่นๆ (ถ้ามี) ส่วนสินค้าปลอดภาษี (Duty Free) ของที่ซื้อจากร้านค้าปลอดอากรขาออกในเมือง หรือร้านค้าปลอดอากรภายในอาคารผู้โดยสารขาออก ณ สนามบิน จะต้องนำออกไปนอกราชอาณาจักรเท่านั้น หากนำกลับเข้ามาให้ผ่านการตรวจที่ช่องแดง (Goods to Declare) และชำระอากร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีดังกล่าวของการเคลื่อนไหวของกรมศุลกากรนั้น น่าจะส่งผลกระทบโดยตรงกับธุรกิจดิวตี้ฟรีของ ”คิง เพาเวอร์” ซึ่งเป็นผู้ประกอบการธุรกิจประเภทนี้เพียงรายเดียวของประเทศไทยที่ได้รับสัมปทานธุรกิจดังกล่าว
อ่านรายละเอียด.....
-ประกาศกรมศุลกากร ที่ ๕๗/๒๕๖๑ เรื่อง หลักเกณฑ์วิธีและเงื่อนไข การปฏิบัติพิธีการศุลกากรในการตรวจปล่อยผู้โดยสารและหีบห่อสัมภาระระหว่างสนามบินภายในประเทศ โดยวิธีการ Check Through
- ประกาศกรมศุลกากร ที่ ๖๐/๒๕๖๑ เรื่อง การปฏิบัติพิธีการศุลกากรของติดตัวผู้โดยสารที่นำติดตัว เข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรพร้อมกับตนทางอากาศยาน