ชงรัฐบาลอุ้มสูงวัยแสนล้าน หักแวต 1%! คก.ปฏิรูป ห่วงหลังเกษียณเงินออมน้อย ไม่พอรายจ่าย

15 เม.ย. 2561 | 12:05 น.
อัปเดตล่าสุด :15 เม.ย. 2561 | 19:05 น.
150461-1830

คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม เสนอดึงเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม 1% เป็นเงินออม นำออกมาใช้ได้หลังอายุ 60 ปี พร้อมเสนอ 4 แนวทาง รับมือสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ ในปี 2564 รัฐบาลเร่งแก้กฎหมายจ่ายเงินสงเคราะห์คนรายได้น้อย

นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”
ว่า แผนปฏิรูปประเทศด้านสังคมที่คณะกรรมการเสนอให้รัฐบาล จะให้ความสำคัญกับการที่ประเทศไทยจะมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไปสู่ “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์” ในปี 2564 หรือ อีก 3 ปีข้างหน้า คาดว่าจะมีสัดส่วนของผู้สูงอายุ 20% ของประชากรทั้งหมด และแนวโน้มสัดส่วนจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ วัยเด็กและวัยแรงงานมีสัดส่วนลดลง โดยวัยเด็กมีสัดส่วนคิดเป็น 16% ขณะที่ วัยแรงงานคิดเป็น 64%

 

[caption id="attachment_275607" align="aligncenter" width="315"] ปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม ปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา
ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม[/caption]

18 ปี คนสูงวัยพุ่ง 30%
ขณะที่ อีก 18 ปีข้างหน้า ในปี 2579 สังคมไทยจะมีสัดส่วนผู้สูงอายุมากถึง 30% ขณะที่ วัยเด็กและวัยแรงงานมีสัดส่วนลดลงเหลือ 14% และ 56% ตามลำดับ ซึ่งการลดลงของวัยแรงงาน อาจส่งผลต่อรายได้ภาครัฐที่จะนำมาใช้จ่ายในการพัฒนาประเทศ รวมถึงการจัดสวัสดิการต่าง ๆ ตลอดจนภาระค่าใช้จ่ายในกลุ่มผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม สังคมไทยพูดถึงการออมน้อยมาก ซึ่งจะเป็นปัญหาสืบเนื่องในสังคมสูงอายุ เพราะโดยเฉลี่ยของโลก คนที่พ้นจากการทำงานต้องมีเงินออม 40% ของเงินที่ได้รับครั้งสุดท้าย สมมติได้รับเงิน 100 บาท เขาต้องมีเงิน 40 บาท สำหรับการรับเงินครั้งสุดท้าย แต่ประเทศไทยได้เงินครั้งสุดท้ายของการทำงานเพียง 19% โดยเฉลี่ยเท่านั้น

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ

คนแก่ 24% ไม่มีเงินออม
จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า ประชากรไทยโดยเฉลี่ยมีรายได้ไม่เพียงพอที่จะชดเชยค่าใช้จ่ายตลอดช่วงชีวิตและมีการออมอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลต่อความมั่นคงในการดำรงชีวิตในวัยสูงอายุ โดยพบว่า ผู้สูงอายุ 24% ไม่มีเงินออม ทำให้การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2560 วงเงิน 241,149.1 ล้านบาท หรือคิดเป็น 8.8% ของวงเงินงบประมาณทั้งหมด ใช้เป็นงบดำเนินการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม สร้างความเสมอภาค “เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ”

นายปีติพงศ์ กล่าวว่า การออมมี 2 อย่าง คือ การออมภาคสมัครใจ ที่มีกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เป้าหมาย 20 ล้านคน แต่ทำให้เพียง 6-7 แสนคน เท่านั้น ส่วนการออมภาคบังคับ กระทรวงการคลังกำลังคิดว่าจะทำอะไร ซึ่งคาดว่าจะเป็นเรื่องคืนภาษีให้กับคนที่ยากจน


P1-Info-3357

-รัฐเร่งจัดสวัสดิการคนสูงวัย-


หักแวต 1% อุ้มคนสูงวัย
“คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม เห็นต่างกันว่า ภาษีที่คืนอาจจะไม่ใช่ภาษีเงินได้ เห็นว่า ควรหักจากภาษีมูลค่าเพิ่ม 1% หักได้เท่าไร ก็เก็บไว้ในธนาคาร ถ้าอายุ 60 ปีแล้ว ค่อยนำเงินไปใช้ สิ่งที่ต้องทำให้การออมภาคบังคับ คือ การนำภาษีที่ท่านจ่ายของท่านเองกลับมาเป็นการออมตั้งแต่เริ่มต้น เพราะท่านต้องใช้จ่าย เมื่ออายุมากขึ้น เราจะสามารถทำให้ท่านมีเงินออม 30% ของรายได้สุดท้าย อันนี้ต้องช่วยกันและเสียสละ” นายปีติพงศ์ กล่าว ทั้งนี้ หากคำนวณจากรายได้ภาษีมูลค่าเพิ่มที่รัฐบาลจัดเก็บได้ในปีงบประมาณ 2560 จำนวน 751,819 ล้านบาท ถ้ามีการหักออกมา 1% ตามข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูป ในแต่ละปีจะมีเงินที่นำมาเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการดูแลผู้สูงอายุประมาณ 107,402 ล้านบาท


เสนอรัฐออก 4 มาตรการ
ส่วนแผนปฏิรูปประเทศด้านสังคมที่คณะกรรมการเสนอให้รัฐบาล มี 4 แนวทาง เพื่อเตรียมมาตรการรองรับ “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์” ประกอบด้วย


แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์

1.ขยายเกษียณอายุราชการ จาก 60 ปี เป็น 63 ปี ด้วยการแก้ไขพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญให้ขยายอายุเกษียณราชการเป็น 63 ปี แต่จะต้องไม่กระทบต่อการจ้างงานคนรุ่นใหม่ที่ทดแทนคนที่เกษียณอายุ และไม่ครอบคลุมหน่วยงานที่ต้องใช้ศักยภาพทางร่างกาย

2.การกำหนดนโยบายในการช่วยเหลือผู้สูงอายุ ควรจัดให้มีการสำรวจเพื่อให้ทราบถึงผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือที่แท้จริง อาทิ กลุ่มผู้สูงอายุที่มีรายได้ต่ำ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการช่วยเหลือผู้สูงอายุผ่านนโยบายต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ

app32329977_s

3.แก้ไขบทบัญญัติของกฎหมาย ที่ให้ผู้สูงอายุสามารถรับงานเป็นชิ้นงาน เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันตามศักยภาพและสภาพแวดล้อม โดยไม่ต้องผูกพันทำงานเต็มเวลา 8 ชั่วโมงต่อวัน อาทิ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ฉบับที่ 6 พ.ศ. 2560, พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2533 เพื่อให้สามารถจ้างงานผู้สูงอายุเป็นชิ้นงานได้ และเกิดการทำงานร่วมกันตามศักยภาพและสภาพแวดล้อม

4.ขับเคลื่นคลังปัญญาผู้สูงอายุและโรงเรียนผู้สูงอายุ จัดให้มีศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิต โรงเรียนผู้สูงอายุ ส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ ครอบคลุมทุกตำบล และจัดกิจกรรมให้ผู้สูงอายุมีเวทีในการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และทำกิจกรรมร่วมกันในพื้นที่ในรูปแบบโรงเรียนผู้สูงอายุ โดยให้ชมรมผู้สูงอายุมีส่วนร่วม


โปรโมทแทรกอีบุ๊ก

เร่งจัดสวัสดิการคนสูงวัย
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ รัฐบาลมีมาตรการที่กำลังดำเนินการและกำลังพิจารณา อาทิ แก้ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ ให้จ่ายเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพแก่ผู้สูงอายุรายได้น้อย, ออก พ.ร.บ.วิสาหกิจเพื่อสังคม เปิดให้รับผู้สูงอายุเข้าทำงาน ซึ่งบริษัทจะได้สิทธิ์ลดหย่อนภาษี, การจัดให้มีสินเชื่อประชารัฐเพื่อผู้สูงวัย-สินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ ดำเนินการโดยธนาคารออมสิน

แจกเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เริ่มต้นที่ 600 บาท/ราย (วงเงินเพิ่มตามอายุ) และโครงการบริจาคเบี้ยยังชีพเข้ากองทุนผู้สูงอายุ สำหรับผู้สูงอายุที่มีฐานะจะได้เหรียญเชิดชูเกียรติ เปิดโครงการ “อายุยืน...เยาว์” มอบเกียรติบัตรให้ผู้อายุ 100 ปีขึ้นไป และครอบครัว และล่าสุด คือ การออกมาตรการจูงใจผู้สูงอายุให้ท่องเที่ยว เพื่อเป็นสิทธิ์ลดหย่อนภาษีให้กับบุตรหลานที่นำผู้สูงอายุไปเที่ยว ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียด


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,357 วันที่ 15-18 เม.ย. 2561 หน้า 01-02
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ผู้สูงอายุ ชีวิตที่มี.. ความหมาย
เตือนผู้สูงอายุเสี่ยงภัยไซเบอร์


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว