ปฏิรูปตำรวจสูตร 'มีชัย' รื้อใหญ่แต่งตั้งโยกย้าย - สอบสวน

13 พ.ค. 2561 | 10:45 น.
อัปเดตล่าสุด :13 พ.ค. 2561 | 17:45 น.
65659 การประชุมนัดแรกเมื่อ 20 เมษายน 2561 ของคณะกรรมการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษ มี นายมีชัย ฤชุพันธุ์  เป็นประธาน ได้มีข้อสรุปประเด็นปฏิรูปตำรวจ จากการนัดหารือกันสัปดาห์ละ 3 นัด ทะยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง

ท่ามกลางการจับตามองของสังคม เพราะได้ประกาศแล้วว่า การพิจารณาร่างกฏหมายตำรวจฉบับนี้ จะไม่เพียงพิจารณาตามกรอบที่เสนอ แต่ย้อนกลับไปสู่เป้าหมายที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ 2560 คือการปฏิรูปตำรวจให้เป็นจริง ไม่ใช่ปรับแก้เล็กน้อยเพราะเกรงใจตำรวจ

ประเดิมในการประชุมนัดแรก ยกเรื่องภารกิจหลักของตำรวจขึ้นมาหารือ ได้ข้อสรุปว่า คือการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม และนำคนผิดเข้ากระบวนการยุติธรรม ตำรวจควรกลับมาโฟกัสที่ภารกิจหลัก

ส่วนภารกิจรองอื่น เช่น งานบริการประชาชน ให้ถ่ายโอนแก่หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรง เช่น ตำรวจรถไฟให้ รฟท. ตำรวจป่าไม้ให้กระทรวงเกษตรฯ ตำรวจดับเพลิง ให้ท้องถิ่น

ทั้งนี้ มิใช่โอนอำนาจด้านสอบสวนให้หน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญโดยตรงไปทั้งหมด เพราะจะเกิดหน่วยงานที่ใช้อำนาจสอบสวนใหม่ขึ้นจำนวนมาก ยิ่งสร้างภาระให้ประชาชน แต่อาจเปลี่ยนให้ผู้เชี่ยวชาญในทักษะเฉพาะนั้นมาเป็นที่ผู้ช่วยพนักงานสอบสวน
599219120 วาง 4 แท่งภารกิจตำรวจ
ต่อด้วยเรื่องของการกำหนดภารกิจตำรวจเป็น 4 แท่งภารกิจ คือ 1.งานสอบสวนทำสำนวนคดี 2.งานป้องกันปราบปรามการทุจริต 3.งานเทคนิควิชาการ และ 4. งานบริหารและอำนวยการ

แต่ที่เรียกเสียงฮือฮา คือ การประชุม 2 นัดหลังสุด ที่ได้พิจารณาถึงการปรับโครงสร้างองค์กรสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยการประชุมครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 30 เมษายน ที่ประชุมสรุปให้ยุบคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ(ก.ต.ช.) และโอนภารกิจไปให้คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ(ก.ตร.)

จากโครงสร้างแบบเดิมตามพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 ที่ใช้อยู่ กำหนดให้มีก.ต.ช.เป็นคณะกรรมการ 14 คน มีนายกฯเป็นประธาน ทำหน้าที่กำหนดและกำกับดูแลนโยบาย รวมทั้งเลือกผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.)ที่มีนายกฯเป็นผู้เสนอ
ประกาศ-นายร้อยตำรวจ-60 อีกองค์กรคือ ก.ตร. เป็นคณะกรรมการ 22 คน จาก 2 ส่วนคือ กรรมการโดยตำแหน่ง 11 คน และผู้ทรงคุณวุฒิ 11 คน ที่เป็นอดีตตำรวจ 5 คน และบุคคลภายนอก 6 คน มีนายกฯเป็นประธาน ทำหน้าที่พิจารณาการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจอื่นที่เหลือ

โครงสร้างนี้เปิดช่องให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซงได้มาก โดยในก.ต.ช.นอกจากนายกฯแล้ว ยังมีรัฐมนตรีมหาดไทยและรัฐมนตรียุติธรรม ซึ่งเป็นฝ่ายการเมืองร่วมเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง

ต่อมาจึงมีประกาศคสช.ฉบับที่ 88/2557 ปรับปรุงโครงสร้างก.ต.ช.และก.ตร.ใหม่ เลิกให้รัฐมนตรีมหาดไทยและยุติธรรมเป็นกรรมการก.ต.ช. ลดจำนวนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิลง และให้มาจากการคัดเลือกของวุฒิสภา เพื่อสกัดฝ่ายการเมืองส่งคนเข้าแทรก รวมทั้งเปลี่ยนการเสนอชื่อผบ.ตร.คนใหม่จากนายกฯ มาเป็นผบ.ตร. โดยต้องพิจารณาจากตำรวจยศพล.ต.อ.ที่เป็นจเรตำรวจ หรือรองผบ.ตร.เท่านั้น
TP16-3363-A เลิก ก.ต.ช. คง ก.ตร.
คณะกรรมการพิเศษฯ มีมติรื้อโครงสร้าง ให้เลิกก.ต.ช.ไปเลย เหลือแต่ก.ตร. และปรับเปลี่ยนภารกิจใหม่ ให้ก.ตร.ทำหน้าที่กำกับนโยบาย และวางหลักเกณฑ์กติกาและกำกับการแต่งตั้งโยกย้ายเลื่อนขั้นเงินเดือนตำรวจที่ชัดเจน ใช้หลักอาวุโส 50 % ผลงาน 30 % และความพึงพอใจของประชาชน 20 %  โดยก.ตร.จะพิจารณาเลือกผบ.ตร.เองตำแหน่งเดียว

ส่วนโครงสร้างก.ตร.ใหม่มี 16  คน เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง 10 คนคือ  1.นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และต้องมาประชุมด้วยตนเอง 2.ผบ.ตร. 3.รองผบ.ตร.และจเรตำรวจ รวม 4 คน 4.อัยการสูงสุด 5. เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม  6.ปลัดกระทรวงมหาดไทย 7.ปลัดกระทรวงยุติธรรม

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 6 คน  โดยผู้ทรงคุณวุฒิที่เคยเป็นตำรวจ จากการเลือกโดยข้าราชการตำรวจทั่วประเทศโดยตรงและเป็นการลับ 3 คน และผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่เคยเป็นตำรวจอีก 3 คน จากรายชื่อที่เสนอโดยนายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา และประธานศาลฎีกา ฝ่ายละ 3 คน

กระจายอำนาจกันไปเพื่อป้องกันฝ่ายการเมืองล้วงลูก เข้ามายุ่มย่ามการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ
4DQpjUtzLUwmJZZPDd90F6xydqU1PdD2wT4CfbXumpKS ยกสอบสวนเป็นวิชาชีพ
ติดล็อคอีกชั้นในการประชุมนัดถัดมา ที่ประชุมสรุปให้มี "คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมตำรวจ" หรือ ก.พ.ค.ตร.ขึ้นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำหน้าที่วินิจฉัยอุทธรณ์และเรื่องร้องทุกข์ เกี่ยวกับการแต่งตั้งโยกย้ายผิดหลักเกณฑ์แก่บรรดาข้าราชการตำรวจ หากผู้ร้องไม่พอใจคำวินิจฉัย สามารถใช้สิทธิฟ้องศาลปกครองสูงสุดได้ต่อไป

เรื่องการแต่งต้้งโยกย้ายตำรวจ ถ้าทำได้อย่างโปร่งใส เป็นธรรม จะสร้างประสิทธิภาพการปฎิบัติงาน มีความเป็นมืออาชีพ และความเชื่อมั่นจากสังคมคืนสู่วงการตำรวจ

อีกเรื่องที่ชัดเจนเพิ่มขึ้นเป็นลำดับคืองานสอบสวน กรรมการพิเศษชุดนี้มีข้อสรุปให้ยกระดับเป็นวิชาชีพเฉพาะ มีหลักประกันความเป็นอิสระจากการสั่งการของผู้บังคับบัญชา เติบโตในสายงานได้ถึงจุดสูงสุด คือ รองผบ.ตร. 1 ใน 4 สายงาน ทั้งนี้  การทำงานของเจ้าพนักงานสอบสวนก็จะต้องมีกลไกในการตรวจสอบถ่วงดุลจากหน่วยงานอื่นในกระบวนการยุติธรรม

รวมท้ั้งปลดล็อคหัวหน้าสถานีคุมสำนวน จากเดิมที่ให้ผู้กำกับหัวหน้าสถานีตำรวจมีอำนาจเหนือและเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนไปด้วยในตัว มีอำนาจสั่งคดี เปิดช่องให้เข้ามาแทรกแซงได้ จึงกำหนดใหม่ให้แต่ละสถานีมีหัวหน้าพนักงานสอบสวนที่มาจากสายงานสอบสวนโดยเฉพาะ และให้พนักงานสอบสวนที่เหนือกว่าระดับสถานีตรวจสอบถ่วงดุลกันเอง และวางกลไกการตรวจสอบภายนอกโดยหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม

หลังจากสรุปประเด็นที่ต้องปรับเปลี่ยนครบถ้วนแล้ว จากนั้นจะลุยปรับแก้ร่างหรืออาจถึงขั้นเขียนใหม่ทั้งฉบับ เพื่อเป็นหลักประกันให้การปฏิรูปตำรวจเป็นจริง

............................
เชกชั่นการเมือง|หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3363 ระหว่าง วันที่ 6-9 พ.ค.2561
e-book-1-503x62