พาณิชย์ดีเดย์ ก.ย. ออกกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์ให้ไม้ยืนต้น 58 ชนิด เป็นหลักประกันธุรกิจ ... "ธ.ก.ส.-เอสเอ็มอีแบงก์" เด้งรับ! ปล่อยกู้ 50% ของราคาหลักประกันเท่ากับที่ดิน
หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า หน่วยงานที่กำกับดูแลและบังคับใช้กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ ออกกฎกระทรวงกำหนดให้
ต้นไม้ยืนต้น 58 ชนิด ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจนำมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจกับสถาบันการเงิน เพื่อขอกู้ยืมเงิน
[caption id="attachment_302779" align="aligncenter" width="294"]
กุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า[/caption]
นางกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า เรื่องนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้มีการหารือกับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม ขณะนี้ กระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างยกร่างกฎกระทรวง เพื่อเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา
คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ได้ในช่วงเดือน ก.ย. เบื้องต้น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะเป็นสถาบันการเงินแรกที่ดำเนิน
"โครงการธนาคารต้นไม้" ซึ่งสมาชิกโครงการนี้ สามารถนำต้นไม้เป็นหลักประกันธุรกิจ โดย ธ.ก.ส. จะเป็นฝ่ายประเมินราคา
"เบื้องต้น ต้องเป็นต้นไม้อายุ 1 ปี ลำต้นตรง 2 เมตร มีต้นไม้ 200-400 ต้น ใน 1 ไร่ และปลูกในที่ดินตัวเอง ซึ่งต้นไม้จะเป็นหลักประกันทางธุรกิจอีกประเภทหนึ่ง นอกจากหลักประกันประเภทอื่น ๆ ที่มีผู้มาจดแจ้งกับกรมแล้วกว่า 2.4 แสนคำขอ คิดเป็นมูลค่ากว่า 4.8 ล้านล้านบาท นับตั้งแต่เดือน ก.ค. 2559 เป็นต้นมา"
นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) เปิดเผยว่า ธนาคารอยู่ระหว่างเตรียมดำเนินการต่อยอดให้ผู้ประกอบการนำต้นไม้ 58 ชนิด สามารถนำมาเป็นหลักประกันของนักธุรกิจในลักษณะเป็นแพ็กเกจสินเชื่อสามัญ โดยเอสเอ็มอีแบงก์จะให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาค้ำประกันต้นไม้ที่นำมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในการขอสินเชื่อเศรษฐกิจติดดาว
ปัจจุบัน เอสเอ็มอีแบงก์ มีวงเงินเหลือกว่า 3 หมื่นล้านบาท ภายใต้เงื่อนไขวงเงินกู้ต่อราย 5 ล้านบาท ปลอดชำระเงินต้นเป็นเวลา 1 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 3 ปีแรก 3.00% ต่อปี ระยะเวลาผ่อนชำระ 7 ปี โดยหลักการอนุมัติสินเชื่อนั้น ธนาคารจะพิจารณาความสามารถในการชำระ โดยธนาคารเตรียมการไว้รองรับ ซึ่งผู้ประกอบการที่ต้องการสินเชื่อสามารถใช้บริการทันทีที่กฎกระทรวงมีผลบังคับใช้
[caption id="attachment_302781" align="aligncenter" width="335"]
©Anestiev[/caption]
ด้าน นายสุรชัย รัศมี ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า ธ.ก.ส. ได้เริ่มโครงการธนาคารต้นไม้มานาน ปัจจุบัน มีสมาชิก 6,804 ชุมชน มีต้นไม้ในโครงการมากกว่า 11.7 ล้านต้น ในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา ได้จัดทำโครงการนำร่องใน 7 สถาบันการเงินชุมชน ที่นำต้นไม้มาเป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อในสถาบันการเงินชุมชน
ส่วนการต่อยอดให้ผู้ประกอบการนำต้นไม้ 58 ชนิด สามารถนำมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ ธ.ก.ส. ได้ศึกษาข้อมูลเบื้องต้นเรื่องการปล่อยสินเชื่อ แล้วว่าจะปล่อยกู้ให้ 50% ของราคาหลักประกันเท่ากับที่ดิน เพราะสามารถให้ชุมชนที่ดูแลต้นไม้ พัฒนาเป็นแหล่งคาร์บอน เพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการขายคาร์บอนเครดิตได้ รวมทั้งศึกษาเรื่องการติดเครื่องจีพีเอสที่ต้นไม้ที่เป็นหลักประกัน
[caption id="attachment_302783" align="aligncenter" width="503"]
©kalhh[/caption]
นายวิเชษฐ วรกุล รองผู้จัดการทั่วไป สายงานธุรกิจบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า หากต้องการผลักดันและให้เกิดการใช้ต้นไม้ 58 ชนิด เป็นหลักประกันอย่างแพร่หลาย ภาครัฐอาจจะต้องเขียนกฎหมายและระเบียบปฏิบัติให้ชัดเจน เช่น การประเมินราคา การตีมูลค่าหลักประกัน หรือ ความเสี่ยงของหลักประกัน เพื่อให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน เพราะจะเห็นว่าการพิจารณาการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินจะดูจากหลักประกัน ความเสี่ยงของลูกค้า โดยหลักประกันที่มีโอกาสสูง จะเป็นเงินฝาก ที่ดิน และเครื่องจักร
การนำต้นไม้ 58 ชนิด มาเป็นหลักประกันนั้น มองว่า ในช่วงปีแรก ๆ เชื่อว่า สถาบันการเงินจะต้องใช้ บสย. เป็นผู้ค้ำประกันควบคู่กัน เนื่องจากยังไม่มั่นใจในการตีความ หรือ ประเมินราคา แต่หากในระยะต่อไปมีการประเมินราคาที่เป็นธรรม หรือ มีราคากลางที่สามารถยึดเป็นหลักได้ การใช้ บสย. ค้ำประกันจะทยอยปรับสัดส่วนลดลง เช่น จากเดิมขอวงเงิน 10 ล้านบาท ใช้ บสย. ค้ำประกัน 7 ล้านบาท ต่อไปอาจจะเหลือ 5 ล้านบาท เป็นต้น ขึ้นอยู่กับความมั่นใจและรายละเอียดการตีความและราคาประเมินที่เป็นธรรมชัดเจน
[caption id="attachment_302785" align="aligncenter" width="503"]
©nattanan23[/caption]
แหล่งข่าวจากสถาบันการเงิน กล่าวว่า การเพิ่มประเภททรัพย์สินให้นำต้นไม้ 58 ชนิด เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันนั้น เป็นแนวทางที่ดี แต่จะต้องระบุความเป็นไปได้ในการที่จะนำไม้แต่ละชนิดมาใช้ในการยื่นขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน เพราะที่ผ่านมา ทรัพย์สิน 6 ชนิด ภายใต้ พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ ก็ยังยากต่อการนำมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน เนื่องจากมีอุปสรรคในทางปฏิบัติ เพราะต้องมีการประเมินมูลค่า หรือ การดูแลรักษาต้นไม้ การกันสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ รวมถึงหลักเกณฑ์ในการบังคับหลักประกัน
……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,388 วันที่ 2 - 4 ส.ค. 2561 หน้า 01+15
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
●
ทางออกนอกตำรา : ‘ลุงตู่’ ปฏิวัติระบบกู้ยืม ไชโย! ‘ต้นไม้’ทำเงิน
●
ต้นไม้ 58 ชนิดกู้เงินได้