'ซีพี' ยึดที่ราชพัสดุ 4,000 ไร่ 'บางน้ำเปรี้ยว' เช่าที่ทหารเรือใช้ประโยชน์ ... ธนารักษ์แปดริ้วโยน สนง.อีอีซี ชี้แจงชาวบ้าน วอนนายกฯ เปิดข้อมูลให้รับรู้ ... อสังหาฯแปดริ้วปูดเซ็นสัญญาเรียบร้อยแล้ว แถมกว้านซื้อที่ไม่หยุด 3 อำเภอ นับหมื่นไร่ เร่งทยอยโอน สั่งรื้อเล้าไก่ขึ้นตึกสูง
ผืนที่นาราคาถูกใน 3 จังหวัดระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก กลายเป็นเป้าหมายของยักษ์ใหญ่
เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ไล่กว้านซื้อมาสร้างเมืองใหม่ รองรับรถไฟความเร็วสูง ล่าสุด
ที่ดินราชพัสดุบางน้ำเปรี้ยวที่ให้ชาวบ้านเช่าทำนา 4,000 ไร่ ช่วงรอยต่อกรุงเทพฯ-มีนบุรี-หนองจอก
[caption id="attachment_318189" align="aligncenter" width="503"]
©OpenClipart-Vectors[/caption]
ไล่ชาวนายึดที่ 'บางน้ำเปรี้ยว'
แหล่งข่าวจากวงการอสังหาริมทรัพย์ จ.ฉะเชิงเทรา เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ กลุ่มซีพี ของนายธนินท์ เจียรวนนท์ เซ็นสัญญาเช่าที่ดินที่ราชพัสดุ กรมธนารักษ์ ใน อ.บางน้ำเปรี้ยว จำนวน 4,000 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ทหารเรือใช้ บริเวณ ต.โยธะกา ทำเลนี้ติดแม่น้ำบางปะกงและรอยต่อระหว่างกรุงเทพมหานครกับแปดริ้ว เพื่อเตรียมพัฒนาเมืองใหม่ ดึงคนเข้าพื้นที่ระหว่างอีอีซีกับมักกะสัน พุ่งเข้าใจกลางเมือง ทั้งรถไฟความเร็วสูง แอร์พอร์ตลิงค์ และโครงข่ายถนน
โดยกรมธนารักษ์ได้บอกเลิกสัญญาเช่ากับชาวบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่ทำนา อัตราค่าเช่าไร่ละ 75 บาทต่อปี รวม 275 หลังคาเรือน และล่าสุด ประชาชนในพื้นที่ได้รวมตัวกันคัดค้านกรณีกรมธนารักษ์ไม่ต่อสัญญาและนำที่ทำกินหลายชั่วอายุคนไปยกให้นายทุนทำเมืองใหม่ รวมถึงมีการส่งหนังสือไปยังกรมธนารักษ์และกรมโยธาธิการและผังเมือง
"ที่ดินแปลงดังกล่าวทหารเรือใช้พื้นที่ ต่อมามีนโยบายเฟ้นหาที่ตั้งเมืองใหม่ ทำให้กรมธนารักษ์ยกที่ดินเข้าโครงการอีอีซี"
กว้านซื้อดะ! ท้องนา 3 อำเภอ
ขณะที่ ความเคลื่อนไหวการซื้อที่ดินชาวบ้านยังมีต่อเนื่อง โดยกลุ่มซีพีจะกระทำในนามบริษัทลูก
เน้นกว้านซื้อที่นาราคาถูกในแถบ อ.บางปะกง , อ.บ้านโพธิ์ และ อ.แปลงยาว พร้อมทยอยโอนที่สำนักงานที่ดินคราวละ 50-100 ไร่ ส่วนเขต อ.เมือง ทางกลุ่มซีพีไม่เข้าซื้อ เนื่องจากราคาแพง และเริ่มพัฒนาเต็มพื้นที่ เทียบกับโซนบางน้ำเปรี้ยว ราคาไร่ละหลักแสนบาท ขณะที่ เขต อ.เมือง ไร่ละ 20 ล้านบาทขึ้นไป
ดันเล้าไก่สู่ "สมาร์ทซิตี"
นายจอมพงษ์ ชูทับทิม เลขาธิการหอการค้าจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า นอกจากที่ดินที่ราชพัสดุแล้ว ซีพียังมีโรงเลี้ยงไก่ทำเลหนองจอก ในพื้นที่กรุงเทพฯ กว่า 100 ไร่ ที่คาดว่าจะถูกยกเลิกไป เข้าใจว่าน่าจะรวมพื้นที่ขึ้นสมาร์ทซิตี เนื่องจากอยู่รอยต่อแปดริ้วติดกับที่ราชพัสดุของกรมธนารักษ์ 4,000 ไร่
ธนารักษ์รับ 'ซีพี' สนใจ
แหล่งข่าวจากกรมธนารักษ์ ยอมรับว่า บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ฯ หรือ ซีพี สนใจที่จะเช่าที่ราชพัสดุ จำนวน 4,000 ไร่ ในพื้นที่ อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งปัจจุบัน มีกองทัพเรือขอใช้ประโยชน์อยู่ ใช้เป็นที่ตั้งศูนย์เกษตรกรรมทหารเรือโยธะการ รวมประมาณเกือบ 4,000 ไร่
จากการลงพื้นที่ของผู้สื่อข่าวพิเศษ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้สัมภาษณ์ นายภูริต กุศลผลบุญ นักประเมินราคาทรัพย์สินชำนาญการ สำนักงานธนารักษ์ พื้นที่ฉะเชิงเทรา ในฐานะรักษาการธนารักษ์พื้นที่ฉะเชิงเทรา ซึ่งแจงว่า ปัจจุบัน จ.ฉะเชิงเทรา มีพื้นที่ราชพัสดุ 25,000 ไร่ ส่วนใหญ่ใช้เป็นสถานที่ราชการ ทำไร่ ทำนา
ส่วนโครงการจัดตั้งเมืองใหม่ตามนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ยังไม่มีการเสนอขอใช้ที่ราชพัสดุในฉะเชิงเทราแม้แต่โครงการเดียว
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน การเช่าที่ราชพัสดุในฉะเชิงเทราต่างจากอดีต
เพราะจะเป็นการขอเช่าที่ราชพัสดุผ่านสำนักงานอีอีซี ตาม พ.ร.บ.เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 มาตรา 53 ที่ระบุว่า ถ้าคณะกรรมการนโยบายอีอีซีต้องการที่ราชพัสดุมาใช้ประโยชน์ในพื้นที่อีอีซี ทั้งการเช่าหรือเช่าช่วง ให้อำนาจทั้งปวงของกรมธนารักษ์ในที่ราชพัสดุนั้น เป็นอำนาจของสำนักงานอีอีซีเลย แต่ถ้าที่ราชพัสดุนั้นอยู่ในการครอบครองของหน่วยงานรัฐอื่น ต้องได้รับความยินยอมจากหน่วยงานรัฐนั้นก่อน จึงจะนำมาเอามาใช้ได้
●
พ.ร.บ.เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก พ.ศ. 2561
"ดังนั้น ไม่ว่านักลงทุนหรือหน่วยงานที่จะใช้ประโยชน์ ต้องติดต่อผ่านอีอีซีตามมาตรา 53 ซึ่งจะรวดเร็วกว่าเดิม เพราะเขาจะให้อำนาจชัดเจน"
ส่วนกรณีพื้นที่ อ.บางน้ำเปรี้ยว มีการใช้ประโยชน์จากกองทัพเรือประมาณ 4,000 ไร่ ถ้าจะมีเอกชนไปขอใช้ สามารถติดต่อทางสำนักงานอีอีซีได้เลย และทางสำนักงานอีอีซีก็จะติดต่อไปยังหน่วยงานที่ใช้ประโยชน์ในที่ดินแปลงนั้น
เมื่อถามว่า มีข่าวว่ากลุ่มซีพีจะขอเช่าพื้นที่ 4,000 ไร่ ตรงนั้น ต้องยื่นขอมาที่ธนารักษ์ฉะเชิงเทรา หรือ กองทัพเรือ หรือ สำนักงานอีอีซี นายภูริต กล่าวย้ำว่า ต้องผ่านสำนักงานอีอีซีแน่นอน เพราะกฎหมายบอกว่า เขาไม่ต้องมาติดต่อธนารักษ์แล้ว ทุกอย่างต้องผ่านสำนักงานอีอีซีทั้งหมด ตามมาตรา 53
ส่งคืนที่ราชพัสดุ
ด้าน แหล่งข่าวจากคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เปิดเผยว่า จากที่กรมธนารักษ์ได้มอบพื้นที่ราชพัสดุในพื้นที่อีอีซี ประมาณ 1 หมื่นไร่ เพื่อให้ทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) นำไปใช้ประโยชน์ในการสร้างเมืองใหม่นั้น ทางอีอีซีขอยืนยันว่า ได้ทำหนังสือกลับไปยังกรมธนารักษ์แล้วว่า ไม่มีความประสงค์ใช้ที่ดินแปลงดังกล่าว ซึ่งการจัดตั้งเมืองใหม่อัจฉริยะที่อีอีซีจะดำเนินการนั้น ขณะนี้ อยู่ระหว่างการศึกษาและจัดหาพื้นที่เพื่อมาดำเนินโครงการศูนย์กลางทางการเงินและธุรกิจ ราว 500 ไร่ ซึ่งอยู่ในพื้นที่เขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก พื้นที่ราว 6,500 ไร่ บริเวณท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา
ชาวบ้านรวมตัวต้าน
นายสมหมาย บุญนิมิต ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 11 ต.โยธะการ อ.บางน้ำเปรี้ยว กล่าวว่า "อยากฝากถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่า หากจะมีโครงการใหญ่อะไร ไม่ว่าจะเกี่ยวกับกองทัพเรือ หรือ ซีพีเข้ามาขอเช่าที่ราชพัสดุเพื่อทำโครงการอีอีซี ก็ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาพูดคุย หรือ ให้ข้อมูลกับชาวบ้านบ้าง เพราะเราอยู่ที่นี่กันมานานตั้งแต่ปู่ย่าตายาย อยู่มาก่อนที่กองทัพเรือจะมาตั้งหน่วย อยู่มาก่อนที่ธนารักษ์จะออกกฎหมายราชพัสดุเสียอีก"
……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,401 วันที่ 16-19 ก.ย. 2561 หน้า 01-02
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
●
เป้าหมาย "ซีพี"ผุดเมืองใหม่อ่วมโดนน้ำท่วม
●
ซีพีเอฟ เปิดโรงเรียนการอาหาร ตอบโจทย์เชฟมืออาชีพ