20 กันยายน 2561 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีรายได้+เงินประจำตำแหน่ง คนละ 71,230 บาท มีเงินเพิ่มอีก 42,330 บาท รวมแล้วตกเดือนละ 113,560 บาท ได้สร้างประวัติศาสตร์ในการพิจารณาร่างกฎหมายของประเทศขึ้นมาใหม่ แบบไม่เคยปรากฏมาก่อน
เมื่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.... ขออนุมัติ สนช. ขยายระยะเวลาในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ออกไปอีก 60 วัน หรือขอพิจารณารายละเอียดไปจนถึงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2561
นับเป็นการขอขยายเวลาพิจารณากฎหมายฉบับนี้เป็นครั้งที่ 9 และถือเป็นสถิติใหม่ของกฎหมายที่มีการพิจารณาในรัฐสภาไทยยาวนานที่สุดร่วม 2 ปี
ปกติแล้วในการพิจารณากฎหมายของสภานั้น เมื่อสภารับร่างกฎหมายฉบับหนึ่งฉบับใด จะมีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณากฎหมายขึ้นมา 1 ชุด และมักกำหนดระยะเวลาในการพิจารณาไว้ประมาณ 60 วัน กรรมาธิการฯสามารถใช้เวลาในการพิจารณากฎหมาย ผลกระทบจากการบังคับใช้ยาวนานที่สุดไม่เกิน 60-90 วัน
รัฐสภาจึงออกข้อกำหนดว่า ในการพิจารณากฎหมายนั้น กรรมาธิการแต่ละชุดห้ามขยายเวลาในการพิจารณาเกิน 30 วัน และห้ามขอขยายระยะเวลาในการพิจารณาเกิน 2 ครั้ง!!!
แต่ สนช.ชุดนี้แหละ “ฉีกกฎสภา” ด้วยการลงมติ “ของดใช้ข้อบังคับการประชุมสภา” เพื่อนำมาใช้กับกฎหมายที่มากด้วยฤทธิ์เดชฉบับนี้...ใครจะฮาก็ฮาไป แต่ผมไม่ฮาด้วยแน่นอน...สนช.ที่ผู้คนไม่เคารพครับ
พี่น้องครับ...เชื่อหรือไม่ว่า ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ...ฉบับนี้ถูก สนช.ที่มีรายได้เดือนละ 113,560 บาท ในสมัยนี้แหละเลื่อนด้วยกรรมวิธีขยายเวลาในการพิจารณามาแล้ว 9 ครั้ง
ทำไมถึงเลื่อนการพิจารณาในวาระ 1 กันยาวนานขนาดนั้น เขาว่ากันนะครับ และผมก็ขอว่าด้วยคน เพราะ สนช.245 คน และกรรมาธิการฯ ที่พิจารณากฎหมายฉบับนี้ที่จะมีการเก็บภาษีจากการถือครองที่ดินและทรัพย์สินอาคารบ้านเรือนจากประชาชน มีที่ดินในการครอบครองอยู่รวมกันสูงถึง 9,803 ล้านบาท
สนช.ที่ครอบครองที่ดินที่มีมูลค่ามากที่สุดอยู่ที่ 1,197 ล้านบาท ถือครองที่ดินน้อยที่สุด 200,000 บาท คิดเฉลี่ยแล้วถือครองที่ดินกันคนละ 42 ล้านบาท นับว่าเป็นมูลค่าที่มหาศาล
เจ้าของที่ดินมูลค่ามหาศาลนั่งอยู่ในรัฐสภาแห่งนี้ พวกเขาได้ทำหน้าที่เป็นผู้ชี้ชะตากฎหมายที่จะเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจากประชาชนกันอย่างเอาจริงเอาจัง เพราะกลัวประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศที่ถือครองที่ดินกันไม่ถึง 2-3 ไร่ จะต้องเสียภาษีมากเหมือนพวกเขา...555
ร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่เสนอให้สนช.พิจารณาเห็นชอบเป็นกฎหมาย ในชั้นรับหลักการวาระแรก เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2560 จึงลากยาวไปถึง 20 พฤศจิกายน 2561 รวมเวลาพิจารณากันยาว 20 เดือน และเมื่อเลื่อนออกไปยาวขนาดนี้ ส่อเป็นนัยว่า “แท้ง” มีมากกว่า “รอด”
เพราะหากผ่านวาระแรกไปในช่วงก่อนวันที่ 20 พฤศจิกายน 2561 ก็ต้องมีการทอดเวลาในการพิจารณาวาระ 2 วาระ 3 ออกไปช่วงหนึ่ง แต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำหนดเส้นตายการเลือกตั้งไว้ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ยาวสุดไม่เกินพฤษภาคม 2562 ...เรียกว่า ช่วงการเมืองเลือดเดือด
ท่านคิดว่าจะมีรัฐบาลหน้าไหน กล้าหาญชาญชัยออกกฎหมายมาเก็บภาษีที่ดิน สิ่งปลูกสร้างจากประชาชนที่กำลังจะตัดสินใจไปลงคะแนนเสียงเลือกผู้ที่จะมาบริหารประเทศ....คำตอบคือ หายาก
ท่านคิดว่าจะมีนายทุนคนไหน โง่มาก ขนาดจะควักเงินมาสนับสนุน กลุ่มนักการเมือง พรรคการเมือง ที่ร่วมกันผลักดันทำคลอดกฎหมายมาเก็บภาษีที่ดิน-ทรัพย์สินจากพวกเขา ที่ส่วนใหญ่ถือครองที่ดินทรัพย์สินของประเทศกว่า 70% ของความมั่งคั่งในประเทศบ้าง...คำตอบคือ ไม่มีนายทุนคนไหนหน้าโง่ดอก สิบอกไห่...
เขียนใบแปะข้างฝาเลยว่ากฎหมายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแท้งแล้ว....ไม่ต้องเหนียมอาย บอกกันตรงๆว่าร่างกฎหมายนี้จะถูกยื้อจนตกไปพร้อมกับ สนช.ที่จะสิ้นสุดลง เมื่อมีการเลือกตั้งครั้งใหม่...
ทำไมถึงต้องตีกฎหมายฉบับที่ว่ากันว่า จะนำไปสู่การกระจายการถือครองที่ดิน ลดความเหลื่อมล้ำ ลดการกักตุนเก็งกำไรที่ดิน ใครถือครองอยู่มากต้องเสียภาษีมาก คนรวยต้องนำเงินมาจ่ายภาษี 4 ประเภท คือ 1.เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย 2.เพื่อการทำเกษตรเลี้ยงชีพ 3.เพื่อพาณิชยกรรม และ 4.ที่ดินรกร้างว่างเปล่า โดยจะคิดอัตราภาษีตามมูลค่าของที่ดินต่างกันไปตามประเภทการใช้ประโยชน์ ส่วนที่รกร้างว่างเปล่าจะถูกคิดอัตราภาษีแบบขั้นบันได เพื่อบีบให้ทำประโยชน์ในที่ดินอย่างเต็มที่
ก็เพราะกฎหมายนี้มีผลกระทบต่อคนรวยมากกว่าคนจนนะสิครับ จึงต้องพิจารณากันนานและลงรายละเอียดกันมาก ภาคเอกชน ภาคแกนนำในธุรกิจของประเทศที่มีกำลังต่อรองกับรัฐบาล จึงมีความเห็นแย้งในหลายจุด ถึงขนาดขอเข้าไปนั่งเป็นกรรมาธิการฯ และผู้ที่เป็นสนช.หลายคนก็ส่งเสียงคัดค้าน
กฎหมายที่ดีจึงถูกนายทุน ในคราบของ สนช.ที่นั่งในรัฐสภาไทย ดึงเรื่อง หาทางตีกฎหมายในรูปแบบนี้ให้ตกไป
ผมทราบมาว่า สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ มีการปรับปรุงแก้ไขในชั้นของคณะกรรมาธิการฯ มากมาย ถึงขนาดมีการปรับลดอัตราเพดานภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลงหมดทุกประเภทถึง 40% จากมติเดิม ที่ ครม.ลุงตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เห็นชอบไว้ก่อนหน้านี้ เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรกร ผู้มีบ้านอาศัย รวมทั้งผู้ประกอบการเพื่อการพาณิชย์
กล่าวคือ อัตราเพดานภาษีที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้ลดจาก 0.2% เหลือ 0.15%
อัตราภาษีที่เรียกเก็บสำหรับที่อยู่อาศัยลดจาก 0.5% เหลือ 0.3%
นอกเหนือจากเกษตรและที่อยู่อาศัยลดจาก 2% เหลือ 1.2%
ที่ดินว่างเปล่าหรือไม่ทำประโยชน์จาก 2% ให้ลดเหลือ 1.2% เพิ่ม 0.3% ทุก 3 ปี แต่สูงสุดไม่เกิน 3%
ภาษีที่อยู่อาศัยในส่วนมูลค่าไม่เกิน 20 ล้านบาทแรกไม่เสีย
ที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมส่วนที่ไม่เกิน 50 ล้านบาทแรกไม่ต้องเสีย
ปรับลดกันขนาดนี้ ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นเรื่องอ่อนไหวของรัฐบาล จะล้มไปก็เสียสัตย์ในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม จะเดินหน้าแบบเต็มตัวก็มีกลุ่มทุนที่ต้องเสียภาษีจากการครอบครองที่ดินจำนวนมากขวางลำกันสุดตัว
ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นกฎหมายที่มหาหินที่สุดของประเทศ กระทรวงการคลังใช้ความพยายามมานานเกือบ 30 ปี ผ่านมาถึง 12 รัฐบาล ก็ยังไม่สามารถทำคลอดกฎหมายนี้ออกมาบังคับใช้ได้
เล่นกับใครไม่เล่น เล่นกับนายทุนเศรษฐี ของดีจึงกลายเป็นของเสีย...
ทางออกนอกตำรา ฉบับ 3403 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 23-26 ก.ย.2561 โดย...บากบั่น บุญเลิศ