รฟม.ดันเส้นทางรถไฟฟ้าบูมกทม.โซนตะวันออก

01 มี.ค. 2559 | 08:00 น.
รฟม.ดัน 3 เส้นทางรถไฟฟ้าบูมกทม.โซนตะวันออกเปิดพื้นที่โซนรามคำแหง-ลาดพร้าว-รามอินทรา ด้วยขนส่งมวลชนระบบราง คาดเริ่มก่อสร้างสายสีส้มปลายปีนี้ส่วนชมพู-เหลืองรอคณะกรรมการพีพีพีไฟเขียวก่อนเร่งออกแบบก่อสร้าง จ่อหารือกทม.-เรือแสนแสบรับมือวิกฤติจราจรย่านรามคำแหง

[caption id="attachment_34433" align="aligncenter" width="335"] พีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล  ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล
ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย[/caption]

นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือคณะกรรมการพีพีพีจะเร่งพิจารณารายงานกรณีโครงการรถไฟฟ้า 2 เส้นทางที่อยู่ในความรับผิดชอบของรฟม.นำเสนอเข้าสู่รูปแบบการร่วมลงทุนภาครัฐและเอกชนตามพ.ร.บ.ร่วมทุนปี พ.ศ.2556 ประกอบไปด้วย 1.สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และ 2. สายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรง ที่จะเปิดโอกาสให้เอกชนร่วมลงทุนทั้งโครงการตั้งแต่เริ่มต้นไปจนถึงการบริหารโครงการ

โดยในส่วนสายสีส้ม เส้นทางตลิ่งชัน-มีนบุรี ซึ่งโซนตะวันออกช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรีที่จะนำไปพัฒนาก่อนนั้น รฟม.ได้ส่งความเห็นเพิ่มเติมไปให้กระทรวงคมนาคมประกอบการพิจารณานำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เรียบร้อยแล้ว

สำหรับกระบวนการหลังจากคณะกรรมการพีพีพีพิจารณาแล้ว สายสีส้มและสายสีเหลืองจะต้องนำเสนอครม.อนุมัติให้ดำเนินการภายในเดือนมีนาคมนี้ หลังจากนั้นรฟม.จะตั้งคณะกรรมการตามมาตรา 35 เพื่อคัดเลือกผู้รับจ้างเดินรถและบริหารจัดการต่อไป ส่วนกรณีสายสีส้มหากกระทรวงคมนาคมเห็นชอบนำเสนอครม.อนุมัติ และเมื่อเรื่องกลับคืนมายังรฟม.ก็จะเข้าสู่กระบวนการจัดทำราคากลาง เพื่อเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.เห็นชอบให้จัดประกวดราคาต่อไป

"กรณีที่จะให้มีการเซ็นสัญญาได้ครบทั้งหมดในกลางปีนี้นั้นคงทำไม่ได้ทั้งหมด แต่จะเริ่มกระบวนการสรรหาผู้รับจ้างได้ในปีนี้ คาดว่าจะมีการเซ็นสัญญาได้ช่วงปลายปี 2559 หรือต้นปี 2560 ซึ่งรฟม.จะพยายามเร่งรัดให้เกิดขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ สนองนโยบายของรัฐบาลต่อไป"

ทั้งนี้นายพีระยุทธ ยังได้มองถึงการมีส่วนร่วมกระตุ้นความเจริญของพื้นที่กรุงเทพมหานครในโซนตะวันออกที่เป็นเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีส้ม สายสีชมพูและสายสีเหลืองว่า สายสีส้มจะเปิดพื้นที่ด้านแนวตะวันออก-ตะวันตก เนื่องจากปัจจุบันถนนรามคำแหงสภาพการจราจรติดขัดมาก รถไฟฟ้าสายสีส้มจะสามารถแบ่งเบาการเดินทางของประชาชนให้ได้รับความสะดวกรวดเร็วขึ้น อีกทั้งยังจะเปิดพื้นที่การพัฒนาหลายด้านตามแนวเส้นทางรอบสถานีได้อีกทางหนึ่งด้วย เนื่องจากเมื่อรถไฟฟ้าผ่านไปยังพื้นที่ไหนจะพบว่าความเจริญของการพัฒนาพื้นที่จะตามไปด้วย เช่นเดียวกับโซนรามอินทรา ศรีนครินทร์ ลาดพร้าว และรามคำแหง ที่จะพบเห็นได้ในอีกไม่นานนี้ โดยเฉพาะการเติบโตของภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

"ส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหาช่วงการก่อสร้าง จะต้องมีการหารือร่วมกับกรุงเทพมหานครและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะเรื่องสาธารณูปโภคและเรื่องอำนวยการจราจรที่จะมีการส่งเสริมให้ประชาชนสามารถใช้บริการทางเรือโดยสารผ่านคลองแสนแสบได้อย่างสะดวกเพื่อเลี่ยงพื้นที่ก่อสร้างช่วงถนนรามคำแหงไปจนกว่าจะสามารถคืนพื้นที่จราจรให้ได้"

อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาพบว่า รถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี วงเงิน 1.1 แสนล้านบาท คาดว่าจะประกวดราคาได้ช่วงเดือนมิถุนายน 2559 ส่วนช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรมฯ วงเงิน 8.5 หมื่นล้านบาทอยู่ระหว่างเร่งสรุปความชัดเจนของโครงการ ตามพ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐพ.ศ.2556 รองรับผู้ใช้บริการได้ 6 แสนคน/เที่ยว/วัน รถไฟฟ้าสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี วงเงินลงทุน 1.3 แสนล้านบาท รองรับผู้ใช้บริการได้มากถึง 4.4 หมื่นคน/ชั่วโมง/ทิศทางและรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง วงเงินลงทุน 5.4 หมื่นล้านบาท รองรับได้ 4 หมื่นคน/ชั่วโมง/ทิศทาง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,135
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 2 มีนาคม พ.ศ. 2559