'โตโยต้า' ยึดไทยผลิตอีวี! ชง 'อีอีซี' ยกระดับโรงงานบ้านโพธิ์-นิคมเกตเวย์ต่อยอดลงทุน

10 ธ.ค. 2561 | 07:45 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ธ.ค. 2561 | 15:05 น.
'โตโยต้า' ยึดไทยฐานการผลิตยานยนต์สมัยใหม่ "อีวี" ต่อยอด "ปลั๊ก-อินไฮบริด" ยกระดับโรงงานบ้านโพธิ์ นิคมฯเกตเวย์ ซิตี้ เป็นเขตส่งเสริมภายใต้อีอีซี เตรียมชงบีโอไอยื่นขอลงทุนสิ้นปีนี้

อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ถือเป็น 1 ใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี โดยเฉพาะการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า หรือ อีวี ล่าสุด ทางบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ส่งสัญญาณที่จะใช้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ด้วยการยื่นขอจัดตั้งเขตส่งเสริมพิเศษในพื้นที่โรงงานบ้านโพธิ์และนิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งจะเข้าสู่การประชุมของคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ที่มี นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน ในวันที่ 11 ธ.ค. นี้

 

[caption id="attachment_360311" align="aligncenter" width="503"] อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม[/caption]

จากนั้นจะเสนอให้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พิจารณาในช่วงปลายเดือน ธ.ค. นี้ เพื่อที่จะยื่นขอรับสิทธิประโยชน์โครงการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ทัน ก่อนจะสิ้นสุดภายในสิ้นปีนี้


ขอตั้งเป็นเขตส่งเสริม
แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ทางบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ต้องการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ให้เกิดขึ้นในพื้นที่อีอีซี จึงได้ยื่นเรื่องขอจัดตั้งเขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรมในพื้นที่โรงงานโตโยต้า บ้านโพธิ์ เนื้อที่ 1,640 ไร่ เนื่องจากมีความพร้อมที่จะใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและสามารถขยายกำลังการผลิตได้อีก 1 เท่าตัว จากปัจจุบัน มีการใช้ประโยชน์พื้นที่เพียง 287 ไร่ หรือ 18% ของพื้นที่ทั้งหมด ขณะที่ สายการผลิตที่มีอยู่ใช้กำลังการผลิตไปเพียง 44% แสนคันต่อปี


main_vis

ใช้ไทยเป็นฐานผลิตรถอีวี
สำหรับการขอจัดตั้งเขตส่งเสริมดังกล่าว ทางบริษัทโตโยต้าฯ จะใช้เป็นฐานการลงทุนสำหรับการต่อยอดไปสู่การผลิตรถยนต์สมัยใหม่และชิ้นส่วนยานยนต์ หลังจากที่ผ่านมา ได้มีการลงทุนโครงการสำคัญในโครงการ IMV (Innovation International Multi-Purpose Vehicle) โครงการที่ 1 และ 2 ด้วยแผนการลงทุนตลอดโครงการประมาณ 50,000 ล้านบาท ซึ่งโครงการไอเอ็มวีนี้นำมาซึ่งการถ่ายทอดเทคโนโลยีนวัตกรรมยานยนต์ที่ล้ำสมัย ตลอดจนส่งเสริมศักยภาพและพัฒนาขีดความสามารถของบุคคลากรในประเทศให้สูงขึ้น สามารถสร้างงานให้กับคนไทยและสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยอย่างมากมาย

เขตส่งเสริมดังกล่าวนี้จะก่อให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ เป็นรากฐานของผู้ประกอบการในการมุ่งสู่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและสนับสนุนให้เกิดการผลิตชิ้นส่วนสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ สามารถสร้างธุรกิจใหม่ ๆ ใน Supply Chain ของรถยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะ Component Parts ของชิ้นส่วนสำคัญที่ได้มาตรฐานโลก

121161-1451
เล็งพัฒนาอีโคคาร์ 2 สู่อีวี
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ทางบริษัท เอ็ม ดี เอ็กซ์ จำกัด (มหาชน) ยังจะเสนอขอยกระดับพื้นที่บางส่วนในนิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ ซิตี้ ฉะเชิงเทรา เนื้อที่ 625 ไร่ เป็นเขตส่งเสริมสำหรับรองรับการประกอบอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ของ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตรถยนต์นั่งปีละ 3 แสนคัน

ที่ผ่านมา โตโยต้าได้ริเริ่มการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสม (Hybrid Electric Vehicle) และหวังจะให้รถยนต์ไฮบริดเป็นรากฐานสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่การใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบ อีกทั้งมีการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าเพื่อใช้เป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนสำคัญ โดย 10 ปีที่ผ่านมา มีการลงทุนไปแล้วหลายโครงการมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท เช่น โครงการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล (อีโคคาร์) รุ่นที่ 1 มูลค่า 9,800 ล้านบาท และโตโยต้ามีแผนที่จะลงทุนในรุ่นที่ 2 ภายในปี 2562 ที่คาดว่าจะมีการพิจารณานำเทคโนโลยีไฟฟ้าเข้ามาใช้กับรถยนต์ประเภทนี้ด้วย

 

[caption id="attachment_360317" align="aligncenter" width="503"] ©MikesPhotos ©MikesPhotos[/caption]

ตั้งโรงงานรีไซเคิลแบตเตอรี่
นอกจากนี้ โตโยต้าอยู่ระหว่างการพิจารณาการต่อยอดการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสม (Hybrid Electric Vehicle : HEV) เพิ่มเติมในรถยนต์ Segment ต่าง ๆ ในอนาคต เช่น รถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ 100% หรือ บีอีวี รวมถึงชิ้นส่วนสำคัญอื่น ๆ เช่น แบตเตอรี่ Li-ion มอเตอร์ไฟฟ้า เป็นต้น อีกทั้งยังลงทุนในกิจการจัดการแบตเตอรี่ใช้แล้ว หรือ โครงการ Rebuilt Reuse Recycle หรือ 3Rs เพื่อนำแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ราวกลางปี 2562

การลงทุนเพิ่มเติมใน 2 พื้นที่ดังกล่าว ทางโตโยต้าจะใช้วิธีการปรับปรุงสายการผลิต โดยเพิ่มขั้นตอน หรือ กระบวนการที่จำเป็นเข้าไปในสายการผลิตเดิมที่มีอยู่ อีกทั้งยังสามารถปรับลดเวลาที่ใช้ในการผลิตรถยนต์ 1 คัน เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตตอบสนองต่อตลาดทั้งในประเทศและส่งออกได้

นายมิจิโนบุ ซึงาตะ เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่นฯ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้กล่าวก่อนหน้านี้ว่า รัฐบาลไทยพร้อมสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายส่งเสริมรถยนต์ไฮบริด ซึ่งโตโยต้าเตรียมขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำเสนอทางเลือกที่หลากหลายให้กับผู้บริโภค

 

[caption id="attachment_360319" align="aligncenter" width="503"] ©stux ©stux[/caption]

ยันรถยนต์ไฟฟ้ามาแน่นอน
นายองอาจ พงศ์กิจวรสิน นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบัน อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยมีการผลิตอยู่ในอันดับ 12 ของโลก อันดับ 4 ของเอเชีย และเป็นที่ 1 ของอาเซียนและโอเซียเนีย รวมถึงตะวันออกกลาง ที่สำคัญประเทศไทยยังติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก ในเรื่องของความคุ้มค่าในการผลิตเทียบเท่าญี่ปุ่น หรือ ประเทศชั้นนำของโลก

สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า หรือ อีวี หลายประเทศมีนโยบายการใช้รถอีวีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น ยุโรปคาดว่า ปี 2575 จะมีรถที่เป็นไฮบริด หรือ ปลั๊กอิน และอีวี อยู่ที่ 20-30% ส่วนจีนตั้งเป้าว่า ในปี 2593 จีนจะใช้รถเป็นรถไฟฟ้าทั้งหมด ส่วนญี่ปุ่น มีการคาดการณ์ว่า ปี 2593 คาดในอนาคตอันใกล้รถยนต์ 100 คัน จะต้องเป็นรถไฟฟ้า 20-30%

"การสนับสนุนจากรัฐบาลเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้รถไฟฟ้าเกิดขึ้นได้เร็วยิ่งขึ้น สุดท้าย คือ ประเทศไทยจะรักษาฐานการผลิต 3 ล้านคัน และรักษามาตรฐานการผลิตเหนือคู่แข่งในตลาด จึงจำเป็นที่จะต้องเตรียมตัว และเปลี่ยนแปลงสู่การผลิตรถไฟฟ้า เพราะอย่างไร รถไฟฟ้าเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ไม่ช้าก็เร็ว" นายองอาจ กล่าว


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,424 วันที่ 6 - 8 ธ.ค. 2561 หน้า 01+15

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
'อีอีซี' ตั้งเขตส่งเสริมเพิ่ม 4 แห่ง รองรับกลุ่มโตโยต้า-อาลีบาบา-ม.ธรรมศาสตร์
โตโยต้ากาซู เรซซิ่ง เฟสติวัล 2018 ลุ้น 2 นักแข่งไทย วาดลวดลาย@สนามฟูจิ


เพิ่มเพื่อน
บาร์ไลน์ฐาน