ธุรกิจพาเหรดจ่ายโบนัส! รับสัญญาณเศรษฐกิจฟื้น กำไรพุ่ง ค่ายรถจัดหนักโบนัส-เงินเพิ่มพิเศษ 'ฮอนด้า' มากสุด 8.3 เดือน บวก 3 หมื่น 'ทอท.' 7.75 เดือน 'วิทยุการบิน' 4 เดือน ขณะที่ กลุ่มอสังหาฯ 4 เดือน
ภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ 507 หลักทรัพย์ หรือ 95.30% ของบริษัทจดทะเบียน มีกำไรสุทธิในช่วง 9 เดือน (ม.ค. - ก.ย. 61) มีกำไร 759,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกลุ่มที่ทำกำไรเพิ่มขึ้นสูงสุด ได้แก่ พลังงาน ปิโตรเคมี และธนาคารพาณิชย์
ผลประกอบการที่มีกำไรที่เพิ่มขึ้น ทำให้หลายบริษัทประกาศจ่ายเงินโบนัสให้กับพนักงานในช่วงสิ้นปี หรือ ต้นปีหน้า
โดย "ฐานเศรษฐกิจ" ตรวจสอบพบว่า อุตสาหกรรมยานยนต์เป็นธุรกิจที่จ่ายโบนัสมากสุดในปีนี้ หลังจากสถานการณ์กลับมาอยู่ในภาวะที่ดีอีกครั้ง โดยเฉพาะยอดขายรถยนต์ในประเทศที่คึกคักต่อเนื่อง คาดว่าถึงสิ้นปี ตัวเลขรวมจะถึง 1 ล้านคัน เริ่มจากรถยนต์ฮอนด้า ที่จะแบ่งจ่าย 2 ครั้งต่อปี รวม 8.3 เดือน ไม่รวมเงินพิเศษอีก 3 หมื่นบาท ขณะที่ โตโยต้า รับ 7 เดือน บวกเงินพิเศษ 2 หมื่นบาท, นิสสันในส่วนโรงงานผลิต บางนา-ตราด จ่ายงวดเดียวสิ้นเดือน ธ.ค. นี้ 6.3 เดือน บวกเงินพิเศษ 2.5 หมื่นบาท, ซูซูกิ มอเตอร์ โบนัส 5 เดือน เงินพิเศษ 3 หมื่นบาท
ด้าน ตลาดรถจักรยานยนต์ที่ปีนี้ยอดขายลดลงเล็กน้อย แต่ยังมีโบนัสให้พนักงาน โดยผู้นำตลาด เอ.พี.ฮอนด้า รับ 7.5 เดือน บวกเงินพิเศษ 5.5 หมื่นบาท ขณะที่ กลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนไม่น้อยหน้า มิตซูบิชิ อิเลคทริก ไทย ออโตพาร์ท ได้ 7.8 เดือน เงินพิเศษ 2.5 หมื่นบาท และบ๊อซ ออโตโมทีฟ รับ 4 เดือน เงินพิเศษ 4 หมื่นบาท
ปตท. รอเคาะโบนัส 6 เดือน
ด้าน ธุรกิจพลังงาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ผลประกอบการในรอบ 9 เดือน ที่ผ่านมา มีกำไรอยู่ที่ราว 1 แสนล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ 9.98 หมื่นล้านบาท คาดว่าการจ่ายเงินโบนัสของปี 2561 น่าจะใกล้เคียงกับปี 2560 โดยจะแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ เงินพิเศษตามผลการประเมิน (เคพีไอ) ของพนักงาน 1-1.5 เดือน และจ่ายโบนัสอีก 6 เดือน รวมทั้งสิ้น 7.5 เดือน
ส่วนบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. หากประเมินกำไรในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา อยู่ที่ 27,372.17 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันปี 2560 ที่มีกำไรสุทธิ 11,138.15 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 145% โดยผู้บริหารยืนยันว่า ทั้งปี 2561 น่าจะทำกำไรได้ดีกว่าปี 2560 ซึ่งอยู่ที่ 20,579 ล้านบาท เพราะแค่ 3 ไตรมาส ก็มีกำไรสูงกว่าปีก่อนทั้งปีแล้ว ที่มีการจ่ายโบนัสอยู่ที่ 6 เดือน ดังนั้น การจ่ายเงินโบนัสปีนี้น่าจะสูงกว่าปีก่อนอย่างแน่นอน
อสังหาฯ เฉลี่ย 4 เดือน
ขณะที่ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ผลประกอบการของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ที่มีรายได้สูงสุด 5 อันดับแรก ในงวด 9 เดือนแรกปีนี้ มี พฤกษา โฮลดิ้งส์, แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์, เอพี ไทยแลนด์, แสนสิริ และศุภาลัย ตามลำดับ และส่วนใหญ่รายได้ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ยกเว้น เอพี ไทยแลนด์ เติบโต 35% ส่วนกำไร
สำหรับโบนัสที่จ่ายเพื่อเป็นของขวัญกำลังใจพนักงาน ยังไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการ แต่มีบางบริษัทที่กำหนดจ่ายภายในเดือน ธ.ค. ปีนี้ เช่น บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค โบนัส 2 เดือน และ บมจ.เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น แม้จะยังไม่ประกาศอย่างเป็นทางการ แต่ในเดือนนี้จะจ่ายก่อน 1 เดือน ที่เหลือจ่ายต้นปีหน้า ที่ผ่านมา โบนัส 4 เดือนขึ้นไป แล้วแต่ผลงาน ขณะที่ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่กำหนดจ่ายเดือน ม.ค. - ก.พ. 2562
ส่วน บมจ.เอพี ไทยแลนด์ นั้น ปีที่ผ่านมา โบนัส 4-6 เดือน ด้าน บมจ.แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ นายโอภาส ศรีพยัคฆ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ ออกมาระบุว่า ปี 2561 บริษัทจ่ายเงินโบนัสให้กับพนักงาน 4 เดือน ซึ่งปีนี้ถือว่าน้อย หากเทียบกับ 5-6 ปีก่อน เคยจ่ายสูงสุด 12 เดือน ทั้งนี้ เกิดจากอสังหาริมทรัพย์อยู่ในภาวะทรงตัว ประกอบกับองค์กรขนาดใหญ่ขึ้นค่าตอบแทนพนักงานขยับสูง ทำให้การจ่ายโบนัสลดลง
ธุรกิจค้าปลีกเป็นอีกกลุ่มที่จ่ายโบนัสให้พนักงาน จากการสำรวจพบว่า เดอะ มอลล์ กรุ๊ป ประกาศแจกโบนัสพนักงานในวันที่ 28 ธ.ค. นี้ ตั้งแต่ 2 เดือนขึ้นไป ขึ้นกับตำแหน่งงานและอายุงาน ส่วน
"กลุ่มเซ็นทรัล" ยังไม่ประกาศและกำหนดวันแจกโบนัสกับพนักงาน โดยคาดว่าจะแจกในปลายเดือน ม.ค. หรือ ต้นเดือน ก.พ. เช่นเดียวกับสยามพารากอนที่ยังไม่กำหนดรายละเอียดการแจกโบนัส แต่ปกติจะจ่ายในไตรมาสแรกของทุกปี ขณะที่
"โออิชิ กรุ๊ป" ได้แจกโบนัสให้กับพนักงานตั้งแต่ต้นเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา
ส่งออกมีลุ้น 1-3 เดือน
สำหรับธุรกิจส่งออก นายหลักชัย กิตติพล ประธานกิตติมศักดิ์ บริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) บริษัทอยู่ระหว่างการพิจารณาจ่ายเงินโบนัสพนักงานประจำปี 2561 เบื้องต้น คาดจะจ่าย 1-3 เดือน ในสิ้นปีนี้ ผลจากบริษัทมีการบริหารจัดการที่ดี ทั้งด้านการผลิต ลดต้นทุน และการทำตลาด ทำให้มีกำไร
เช่นเดียวกับ นายอมรพันธุ์ อร่ามวัฒนานนท์ รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.ซีแวลู ที่เผยปีนี้จะจ่ายเงินโบนัสให้พนักงานได้ 1-2 เดือน จากธุรกิจส่งออกทูน่าและผลิตภัณฑ์ ปีนี้มีผลประกอบการที่ดี ขณะที่ รายงานข่าวจาก บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ ซีพีเอฟ แจ้งว่าปีนี้จะจ่ายเงินโบนัสพนักงาน 2 เดือน เช่นเดียวกับทุกปี
[caption id="attachment_364006" align="aligncenter" width="503"]
อมรพันธุ์ อร่ามวัฒนานนท์ รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.ซีแวลู[/caption]
ส่วนบริษัทส่งออกข้าว อย่าง บริษัท ฮ่วยชวนค้าข้าวฯ และบริษัท เอเซีย โกลเด้น ไรซ์ฯ ระบุ อยู่ระหว่างการสรุปผลประกอบการในช่วงสิ้นปีว่า มีกำไร หรือ ขาดทุนอย่างไร หากมีผลประกอบการที่ดีจะช่วยเงินโบนัสพนักงานแน่นอน
ส่วนธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ คาดว่า พนักงานจะได้รับเงินพิเศษไม่ต่ำกว่า 2 เดือน เนื่องจากได้มีการประกาศว่า สำหรับพนักงานที่ทำงานในโรงแรมก่อนถึงปิดโรงแรมในวันที่ 5 ม.ค. 2562 จะได้รับเงินเอ็กซ์ตร้า 1 เดือน และทางโรงแรมยังจะให้เงินพิเศษด้วยความเสน่หาอีก 1 เดือน ยังไม่รวมการนำผลประกอบการของโรงแรมมาคำนวณเป็นโบนัสที่จะได้อีก 1 ก้อน
ทอท. จ่ายหนัก 7.75 เดือน
นอกจากนี้ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ เริ่มมีการแจ้งการจ่ายโบนัสและเงินรางวัลตอบแทนพิเศษในการทำงานให้แก่พนักงานแล้วเช่นกัน โดยในส่วนของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ได้โบนัส 7.75 เดือน บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทยฯ (บวท.) ก็ได้จ่ายเงินรางวัลตอบแทนพิเศษสำหรับการทำงานในปีนี้ให้พนักงานอยู่ที่ 4 เดือน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) มีการจ่ายค่าตอบแทนให้พนักงานอยู่ที่ 2 เดือน
บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ปณท จ่ายโบนัส 1 เดือน สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ ปกติจะได้โบนัส 1 เดือนทุกปี เช่นเดียวกับ บริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด หรือ ทีพีซี ที่ในขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการนำเสนอบอร์ด คาดว่าจะได้โบนัสอยู่ที่ 1 เดือน เหมือนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,428 วันที่ 20 - 22 ธ.ค. 2561 หน้า 01-02
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
●
อุตฯยานยนต์รับทรัพย์ "โตโยต้า-ฮอนด้า" ตบโบนัส 7-8 เดือน บวกเงินพิเศษ
●
โบนัสมาเเล้ว! ฮอนด้า-ทอท. นำโด่ง 7-8 เดือน