ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (MRO) เฟส 1 พื้นที่กว่า 200 ไร่ ในสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการ EEC Project List ลงทุนกว่า 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งกว่า 6 พันล้านบาท เป็นการลงทุนของภาครัฐ โดยกองทัพเรือ ส่วนอีกราว 4 พันล้านบาท เป็นการร่วมลงทุนระหว่างการบินไทยและแอร์บัส ซึ่งหลังจากคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกมีมติเห็นชอบพิจารณาให้ใช้วิธีการคัดเลือกเอกชนโดยไม่ใช้วิธีการประมูลแล้ว ตามผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการที่การบินไทยเสนอมา
ขณะนี้ การบินไทยจึงได้ออกประกาศรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับการคัดเลือกเอกชน โดยไม่ใช้วิธีการประมูล ใช้วิธีการคัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจง เพื่อเปิดเผยแก่สาธารณชน ซึ่งชี้แจงว่า การบินไทยมีความจำเป็นที่จะต้องหาเอกชนที่มีคุณสมบัติเป็นผู้ประกอบการที่เป็นผู้ผลิตอากาศยานขนาดใหญ่ที่มีคุณสมบัติทางเทคนิค คือ บริษัท แอร์บัส เอส.เอ.เอส.ฯ และบริษัท โบอิ้งฯ เข้ามาร่วมกระบวนการคัดเลือกและเจรจาร่วมกันอย่างเท่าเทียมกันแล้ว มีเพียงแอร์บัสที่มีความพร้อมและแสดงความประสงค์ในการเข้าร่วม การบินไทยจึงเสนอให้จัดส่งประกาศเชิญชวนการคัดเลือกเอกชนของโครงการนี้ให้แก่ทางแอร์บัส ถือเป็นเอกชนที่จะได้รับการเชิญชวนให้ยื่นข้อเสนอตามกระบวนการคัดเลือกเอกชนโดยไม่ใช้วิธีการประมูล
เหตุผลความจำเป็นที่การบินไทยต้องใช้วิธีการคัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจง เป็นเพราะการบินได้พิจารณาเปรียบเทียบระยะเวลาระหว่างการคัดเลือกเอกชนของโครงการนี้ โดยวิธีการประมูลและวิธีการไม่ประมูลแล้ว พบว่า การเปิดประมูลจะทำให้ระยะเวลาเริ่มเปิดดำเนินโครงการล่าช้ากว่าการคัดเลือกเอกชนโดยไม่ใช้วิธีประมูล เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 18 เดือน ซึ่งจะส่งผลกระทบทำให้โครงการไม่ประสบความสำเร็จตามแผนพัฒนาอีอีซี
เนื่องจากแผนพัฒนาอีอีซี (พ.ศ. 2560-2564) ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กำหนดระยะเวลาการก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานของโครงการให้แล้วเสร็จภายในปี 2564 โดยในช่วงออกแบบ (ปลายปี 2561 - มิ.ย. 2562) จะต้องอาศัยเงื่อนไขทางเทคนิคในการออกแบบจากเอกชนผู้ร่วมทุน ซึ่งการไม่ใช้วิธีประมูลจะทำให้เอกชนผู้ร่วมลงทุนสามารถช่วยให้ความเห็นและรับรองการออกแบบ เพื่อก่อสร้างได้ภายในเดือน มิ.ย. 2562 และก่อสร้างได้แล้วเสร็จภายในปี 2564
[caption id="attachment_376318" align="aligncenter" width="500"]
[/caption]
นอกจากนี้ หากใช้วิธีการประมูลยังส่งผลกระทบทำให้โครงการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ของสนามบินอู่ตะเภา, โครงการก่อสร้างศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบิน, โครงการระบบสาธารณูปโภคในสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ไม่สามารถดำเนินการได้สำเร็จตามแผน
ขณะเดียวกัน ก็จะทำให้เกิดความเสียหายขึ้นกับการบินไทยกว่า 2,800 ล้านบาท เพราะหากคัดเลือกเอกชนโดยใช้วิธีการประมูล จะทำให้เริ่มดำเนินการโครงการ MRO ล่าช้าออกไปอีก 18 เดือน ส่งผลให้การบินไทยจะมีความเสียหายที่เกิดขึ้นจากค่าใช้จ่ายในการส่งอากาศยานไปซ่อม ณ แหล่งซ่อมอากาศยานในต่างประเทศ เป็นจำนวนประมาณ 1,123 ล้านบาท ทั้ง ๆ ที่ควรจะเป็นรายได้ของโครงการ MRO ในปี 2565-2566 ทำให้มูลค่าความเสียหายในส่วนนี้จะรวมเป็น 2 เท่า
โดยจะมีการสูญเสียรายได้และเพิ่มค่าใช้จ่าย รวมทั้งรายได้จากเครื่องลูกค้าที่ประมาณไว้เป็นจำนวนเงินประมาณ 372 ล้านบาท และประกอบกับศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา ปัจจุบัน จะต้องถูกรื้อถอนตามแผนการสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 บุคลากรเดิมที่อู่ตะเภาประมาณ 350 คน ต้องย้ายมาประจำที่ดอนเมืองและสุวรรณภูมิ โดยไม่มีงาน หรือ Production ราว 1 ปี ซึ่งการบินไทยจะต้องเสียค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรเป็นจำนวนเงิน 190 ล้านบาท โดยไม่สามารถทำรายได้เพิ่มจากระยะเวลา 18 เดือน ที่โครงการล่าช้าออกไป จึงทำให้ต้องใช้วิธีคัดเลือกเอกชนโดยไม่ใช้วิธีการประมูล
นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า การบินไทยอยู่ระหว่างการร่วมมือกับแอร์บัสพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา MRO ระยะที่ 1 เปิดให้บริการได้ในปี 2565 ทั้งยังสนใจที่จะลงทุนในโครงการ MRO ระยะที่ 2 ในสนามบินอู่ตะเภาด้วยเช่นกัน เพราะเรามองว่า MRO เป็นโอกาสทางธุรกิจที่การบินไทยจะไปต่อได้ดี เนื่องจากช่วยขับเคลื่อนรายได้ในส่วนของหน่วยธุรกิจฝ่ายช่างได้เป็นอย่างดี
……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,435 วันที่ 13-16 ม.ค. 2562 หน้า 15
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
●
ฐานโซไซตี : จับตา "ซีพี" ร่วมชิงเค้ก เมืองมหานครการบินอู่ตะเภา
●
สู่ฝัน "มหานครการบิน" !! อีอีซีเล็งรวมพล 600 บริษัท 30 กม.รอบ 'อู่ตะเภา'