'สมคิด' หนุน รฟท. เร่งพัฒนาระบบรถไฟ กระตุ้นการลงทุนและยกระดับโลจิสติกส์ของประเทศ ปรับโหมดสู่ระบบรางมากขึ้น ด้าน 'วรวุฒิ' ฉายภาพแผนการพัฒนารถไฟ ดีเดย์กลางปีนี้ เปิดใช้ทางคู่ 2 เส้นทาง พร้อมจ่อลงทุนแสนล้าน ยกระดับสู่บริการรถไฟฟ้า ขีด 3 วงแหวน รัศมีการพัฒนาต่อยอดจากสายสีแดง เริ่มปี 64
นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการด้านธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) จัดการติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ เมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2562 โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) เป็นประธาน และมีรัฐวิสาหกิจ 8 แห่ง เข้าร่วมการรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานในครั้งนี้ รฟท. ได้นำเสนอ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ถึงแผนการพัฒนาการรถไฟในเส้นทางต่าง ๆ ตั้งแต่ปี 2562-2568
โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในปี 2561 มีทางรถไฟ 4,044 กม. เป็นทางคู่ 357 กม. มีเป้าหมายในปี 2566 มีทางรถไฟ 4,360 กม. เป็นทางคู่ 2,464 กม. และรถไฟความเร็วสูง 473 กม. โดยมีโครงการที่สำคัญ ได้แก่ โครงการรถไฟทางคู่ จำนวน 14 เส้นทาง ได้รับอนุมัติแล้ว 8 โครงการ และจะแล้วเสร็จทั้งหมดภายใน 2567, โครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ ทางรถไฟช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร- นครพนม (แล้วเสร็จปี 2568) และช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ (แล้วเสร็จปี 2566), รถไฟความเร็วสูง จำนวน 2 สาย ได้แก่ กรุงเทพฯ-นครราชสีมา (แล้วเสร็จปี 2566) กรุงเทพฯ-อู่ตะเภา (แล้วเสร็จปี 2566), โครงข่ายรถไฟชานเมืองสายสีแดง ประกอบด้วย สายบางซื่อ-รังสิต สายบางซื่อ-ตลิ่งชัน (แล้วเสร็จปี 2564) สายรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต สายตลิ่งชัน-ศาลายา สายตลิ่งชัน-ศิริราช (แล้วเสร็จปี 2566) สายบางซื่อ-หัวลำโพง และสายบางซื่อ-หัวหมาก (แล้วเสร็จปี 2567) โดยพบว่า ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา มีการอนุมัติเส้นทางรถไฟไปแล้ว 900 กม. ซึ่งสูงกว่าการพัฒนาเส้นทางรถไฟในช่วง 68 ปีที่ผ่านมา ที่พัฒนาไปเพียง 700 กม.
ทั้งนี้ เมื่อจำแนกรายภาค เริ่มตั้งแต่ปี 2562 เส้นทางสู่สายตะวันออกเฉียงเหนือและสายตะวันออกเตรียมเปิดให้บริการรถไฟทางคู่ 2 เส้นทาง คือ ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย และช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น เพื่อป้อนสินค้าสู่พื้นที่อีอีซี ตามนโยบายของรัฐบาล ปี 2566 อีกจำนวน 3 เส้นทาง ที่จัดอยู่ในแผนการพัฒนาระยะที่ 2 คือ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ, ขอนแก่น-หนองคาย, ชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี จะครอบคลุมพื้นที่ได้มากขึ้น และที่จะเปิดให้บริการในปี 2568 คือ ช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม ซึ่งเป็นเส้นทางสายใหม่ นอกจากนั้นยังมีแผนเปิดให้บริการรถไฟฟ้าความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา และกรุงเทพฯ-ระยอง เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการเดินทาง
ส่วนสายเหนือ มีทั้งทางคู่และทางสายใหม่ ประกอบด้วย เปิดให้บริการปี 2565 ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ ปี 2566 ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ปี 2567 ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย, ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ จะเปิดพื้นที่เส้นทางโลจิสติกส์สู่ภาคเหนือและภาคกลางมากขึ้น
เช่นเดียวกับ สายใต้ที่จะก่อสร้างแล้วเสร็จเปิดให้บริการปี 2564 ประกอบไปด้วย ช่วงนครปฐม-หัวหิน, หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ปี 2566 ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี, ช่วงหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ปี 2567 ช่วงสุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่-สงขลา
"ฉายภาพเพื่อให้เห็นถึงการพัฒนาระบบรางของ รฟท. ในการพัฒนารถไฟทางคู่ ทั้งในวันนี้และที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมกรอบวงเงินลงทุนประมาณ 1.1 แสนล้านบาท เฟสแรก เร่งก่อสร้างไปแล้วหลายเส้นทาง จะแล้วเสร็จในปี 2564 และเร่ง เฟสที่ 2 ต่อเนื่องกันไปให้แล้วเสร็จในปี 2567 ส่วนกลางปีนี้จะเห็นภาพเปิดให้บริการ 2 เส้นทาง พื้นที่สายตะวันออกเฉียงเหนือแน่นอน"
นายวรวุฒิ กล่าวอีกว่า สำหรับแผนการพัฒนาระยะต่อไปนั้น เตรียมนำเสนอรัฐบาลเร่งผลักดันโครงการระบบรถไฟฟ้าที่กำหนดไว้ 3 รัศมี คือ ระยะแรก 100 กม. รอบกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ใช้รถไฟสายสีแดง เริ่มตั้งแต่ปี 2564 ระยะที่ 2 รัศมี 250 กม. จากกรุงเทพฯ และระยะที่ 3 รัศมี 500 กม. จากกรุงเทพฯ
"เส้นทางสายสีแดงสู่มหาชัยจะขอศึกษารายละเอียดให้ชัดเจนก่อน แม้ว่าจะมีเอกชนในพื้นที่แสดงความสนใจลงทุนก็ตาม เบื้องต้น ช่วงผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาสู่วงเวียนใหญ่ยังหารูปแบบที่เหมาะสมและสอดคล้องกับอีไอเอระหว่างอุโมงค์ทางลอดกับสะพานข้าม ดังนั้น จะได้เห็นภาพการพัฒนาเส้นทางแต่ละพื้นที่ชัดเจนขึ้น อาทิ รังสิต ที่จะเชื่อมระหว่างรถดีเซลกับรถไฟฟ้า ตลอดจนพื้นที่นครสวรรค์และพิษณุโลกในจุดเชื่อมแต่ละรัศมี"