ย้อนประวัติ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

13 เม.ย. 2562 | 03:25 น.
อัปเดตล่าสุด :13 เม.ย. 2562 | 10:21 น.

อีกเพียงไม่กี่วันก็จะถึงวันที่ยิ่งใหญ่และทรงคุณค่าอีกวันหนึ่งของปวงชนชาวไทย นั่นก็คือ วันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ซึ่งถือเป็นพระราชพิธีครั้งที่ 12 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ตรงกับวันที่ 4-6 พฤษภาคม 2562

หากศึกษาย้อนประวัติพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ไทย พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นโบราณราชประเพณีที่ต้องทำเพื่อความเป็นพระมหากษัตริย์อย่างสมบูรณ์ 

ดังความใน “จดหมายเหตุพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว” ว่า “...ตามราชประเพณีในสยามประเทศนี้ ถือเป็นตำราแต่โบราณว่าพระมหากระษัตริย์ซึ่งเสด็จผ่านพิภพ

ต้องทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกก่อน จึงจะเป็นพระราชาธิบดีโดยสมบูรณ์ ถ้ายังมิได้ทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอยู่ตราบใด ถึงจะได้ทรงรับรัชทายาทเมื่อเสด็จเข้าไปประทับอยู่ในพระราชวังหลวง ก็เสด็จอยู่เพียง ณ ที่พักแห่งหนึ่ง

พระนามที่ขานก็คงใช้พระนามเดิม เพียงเพิ่มคำว่า “ซึ่งทรงสำเร็จราชการแผ่นดิน” เข้าข้างท้ายพระนาม คำรับสั่งก็ยังไม่ใช้พระราชโองการ จนกว่าจะได้สรงมุรธาภิเษก ทรงรับพระสุพรรณบัฏจารึกพระบรมราชนามาภิไธยกับทั้งเครื่องราชกกุธภัณฑ์จากพระมหาราชครูพราหมณ์ผู้ทำพิธีราชาภิเษกแล้ว จึงเสด็จขึ้นเฉลิมพระราชมณเฑียร ครอบครองสิริราชสมบัติสมบูรณ์ด้วยพระเกียรติยศ แห่งพระราชามหากระษัตริย์แต่นั้นไป...”

การเรียกขานแตกต่างกันในแต่ละยุคสมัย ในสมัยอยุธยา และรัตนโกสินทร์ตอนต้นเรียกว่า “พระราชพิธีราชาภิเษก” หรือ “พิธีราชาภิเษก” ส่วนในปัจจุบันเรียกว่า “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก”

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นพระราชพิธีที่สืบสานมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา ในยุคนั้นเรียกว่า“พระราชพิธีราชาภิเษก” หรือ “พิธีราชาภิเษก” จนในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรวจสอบตำราว่าด้วยการราชาภิเษกสมัยอยุธยา และรวบรวมเรียบเรียงขึ้นเป็นตำรา เรียกว่า “ตำราราชาภิเษกครั้งกรุงศรีอยุธยาสำหรับหอหลวง” แบบแผนการราชาภิเษกดังกล่าวได้ยึดถือเป็นแบบอย่างสืบมาจนปัจจุบัน

ในรัชสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ มีพระมหากษัตริย์ขึ้นปกครองมาจนถึงปัจจุบัน 10 พระองค์ บางรัชกาลทรงโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพิธี 2 ครั้ง จึงทำให้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตั้งแต่รัชกาลที่ 1-9 รวม 11 ครั้ง ดังนี้

ย้อนประวัติ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

รัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก 

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ มีการจัดพระราชพิธี 2 ครั้ง โดยครั้งแรก วันที่ 10 มิถุนายน 2325 ประกอบพระราชพิธีปราบดาภิเษกโดยสังเขป เป็นเพราะยังคงติดขัดเรื่องการสงคราม และครั้งที่ 2 วันที่ 17 มิถุนายน 2328 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอีกครั้ง อย่างครบถ้วนตามโบราณราชประเพณี 

ช่วงปี พ.ศ. 2326 ยังโปรดให้ข้าราชการผู้รู้ครั้งกรุงเก่า คือ เจ้าพระยาเพชรพิชัย เป็นประธาน ประชุมปรึกษาหารือกับสมเด็จพระสังฆราชและพระราชาคณะผู้ใหญ่ ทำการสอบสวนร่วมกัน ตรวจสอบตำราว่าด้วยการราชาภิเษกในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร หรือขุนหลวงวัดประดู่ แล้วแต่งเรียบเรียงขึ้นไว้เป็นตำรา เรียกว่า “ตำราราชาภิเษกครั้งกรุงศรีอยุธยาสำหรับหอหลวง” เป็นตำราเกี่ยวกับการราชาภิเษกที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่พบหลักฐานในประเทศไทย และแบบแผนการราชาภิเษกดังกล่าวได้ยึดถือปฏิบัติเป็นแบบอย่างสืบมา เพื่อความเป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์

ย้อนประวัติ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

รัชกาลที่ 2 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย 

ทรงประกอบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2352

ย้อนประวัติ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

รัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว 

ทรงประกอบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2367

ย้อนประวัติ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

รัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 

ทรงประกอบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2394 และทรงโปรดเกล้าฯ ให้ชาวต่างประเทศเข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคลในพระราชพิธีได้เป็นครั้งแรก

ย้อนประวัติ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

รัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 

ทรงประกอบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2 ครั้ง ครั้งแรกวันที่ 12 พฤศจิกายน 2411 ขณะมีพระชนมพรรษา 15 พรรษา โดยมีสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์ และครั้งที่ 2 วันที่ 16 พฤศจิกายน 2416 เมื่อทรงบรรลุนิติภาวะทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 20 พรรษา

ย้อนประวัติ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

รัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว 

ทรงประกอบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2 ครั้ง ครั้งแรกวันที่ 11 พฤศจิกายน 2453 ทรงประกอบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เฉพาะพิธีการสำคัญตามโบราณราชประเพณี เนื่องจากอยู่ระหว่างงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว งดการรื่นเริงต่างๆ จึงโปรดให้งดการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร

ครั้งที่ 2 วันที่ 28 พฤศจิกายน 2454 ทรงประกอบการพระราชพิธีอย่างครบถ้วนตามโบราณราชประเพณี และมีการเชิญพระราชอาคันตุกะจากนานาประเทศเข้าร่วมพระราชพิธี ในหมายกำหนดการเรียกพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งนี้ว่า “พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช”

ย้อนประวัติ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

รัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว 

ทรงประกอบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2468 และโปรดเกล้าฯ สถาปนาหม่อมเจ้ารำไพพรรณี สวัสดิวัตน์ เป็นสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี และมีการบันทึกภาพยนตร์ข่าวพระราชพิธีบรมราชาภิเษกไว้เป็นหลักฐานครั้งแรกของประเทศสยาม 

ย้อนประวัติ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

รัชกาลที่ 8 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร 

เสด็จสวรรคตก่อนจะมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ย้อนประวัติ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

รัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร 

ทรงประกอบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก วันที่ 5 พฤษภาคม 2493 และโปรดเกล้าฯ สถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร เป็นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี

ย้อนประวัติ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

รัชกาลที่ 10 พระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร 

จะจัดขึ้นในวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 ถือเป็นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 12 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

 

หน้า 21 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,460 วันที่ 11 - 13  เมษายน พ.ศ. 2562