ตลาดแรงงานสุดฮอต ขานรับเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว

26 เม.ย. 2562 | 04:28 น.
อัปเดตล่าสุด :26 เม.ย. 2562 | 12:38 น.

จ๊อบไทย สรุปภาพรวมความต้องการแรงงานทั่วประเทศไทยในช่วงไตรมาส 1 ประจำปี 2562 พบ 5 กลุ่มธุรกิจที่มีความต้องการแรงงานมากที่สุด ได้แก่ 1.ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม จำนวนเฉลี่ยต่อเดือน 13,014 อัตรา 2.ธุรกิจยานพาหนะ/ชิ้นส่วนยานยนต์ จำนวนเฉลี่ยต่อเดือน 10,020 อัตรา 3.ธุรกิจบริการ จำนวนเฉลี่ยต่อเดือน 9,671 อัตรา 4.ธุรกิจค้าปลีก จำนวนเฉลี่ยต่อเดือน 8,594 อัตรา       5.ธุรกิจก่อสร้าง จำนวนเฉลี่ยต่อเดือน 8,463 อัตรา

ตลาดแรงงานสุดฮอต ขานรับเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว

นอกจากนี้ ยังเผย 3 ประเภทงานที่มีความต้องการแรงงานเติบโตมากที่สุด คือ โยธา/ก่อสร้าง เติบโตเฉลี่ยคิดเป็น 11.69% ตามมาด้วย ช่างเทคนิค 4.09% และคอมพิวเตอร์/ไอที 3.21% ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าปัจจัยที่ทำให้งานโยธา/ก่อสร้างมีอัตราความต้องการแรงงานเติบโตมากที่สุดเป็นผลมาจากแผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ รวมถึงการผลักดันโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ตลอดจนการขยายตัวของโครงการก่อสร้างภาคเอกชนอย่างอาคารพาณิชย์ ที่พักอาศัย ซึ่งการขยายตัวดังกล่าวก็ส่งผลให้ผู้ประกอบการภาคการผลิตมีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการผลิตที่ขยายตัว ทำให้แรงงานด้านช่างเทคนิคมีความต้องการที่สูงขึ้นด้วยเช่นกัน ในขณะเดียวกันก็มีการนำเครื่องจักรและระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้ จึงทำให้เกิดความต้องการแรงงานที่มีทักษะด้านเทคโนโลยี-คอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้น รวมถึงในภาคเอกชนก็มีความต้องการแรงงานที่มีทักษะด้านเทคโนโลยี-คอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับโลกการทำงานที่ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล

นางสาวแสงเดือน ตั้งธรรมสถิตย์ ผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้าผู้บริหารด้านปฏิบัติการจ๊อบไทย (JobThai) กล่าวว่า จ๊อบไทยได้ทำการรวบรวมและวิเคราะห์ฐานข้อมูลงานของจ๊อบไทย เพื่อรายงานสถานการณ์ความต้องการแรงงานทั่วประเทศในช่วงไตรมาส 1 ประจำปี 2562 พบว่า 5 กลุ่มธุรกิจที่มีความต้องการแรงงานมากที่สุด ได้แก่

·ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม จำนวนเฉลี่ยต่อเดือน 13,014 อัตรา และ ธุรกิจบริการ จำนวนเฉลี่ยต่อเดือน 9,671 อัตรา ทั้งสองธุรกิจนี้เป็นผลมาจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว จากการที่ภาครัฐเร่งยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยว รวมถึงมีการใช้มาตรการกระตุ้นต่าง ๆ ทำให้สามารถกลับมาฟื้นตัวได้ในช่วงปลายปีที่แล้วและส่งผลดีมาถึงช่วงต้นปีนี้ ประกอบกับนักท่องเที่ยวจากหลากหลายชาติมีเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากนักท่องเที่ยวชาวจีน รวมทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยก็ขยายตัวทั้งในจังหวัดหลักและจังหวัดรอง

·ธุรกิจยานพาหนะ/ชิ้นส่วนยานยนต์ จำนวนเฉลี่ยต่อเดือน 10,020 อัตรา สืบเนื่องจากประเทศไทยถือเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ขนาดใหญ่ นอกจากนี้ยังได้รับอานิสงส์มาจากการย้ายฐานการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในยานยนต์จากจีนกลับมาที่ไทย เนื่องจากเหตุผลด้านต้นทุนที่สูงและปัญหาด้านคุณภาพสินค้าที่ผลิตในจีน

·ธุรกิจค้าปลีก จำนวนเฉลี่ยต่อเดือน 8,594 อัตรา ได้แรงหนุนมาจากการลงทุนจากภาคเอกชน เช่น การขยายสาขาของกลุ่มค้าปลีกขนาดใหญ่ ประกอบกับการเติบโตสูงของร้านค้าปลีกออนไลน์และนโยบายสนับสนุนของภาครัฐที่ช่วยผลักดันการใช้จ่ายภาคครัวเรือนให้มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

·ธุรกิจก่อสร้าง จำนวนเฉลี่ยต่อเดือน 8,463 อัตรา โดยภาพรวมเติบโตต่อเนื่องจากการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ เช่น รถไฟฟ้าสายสีส้มและสีชมพู รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เช่น รถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) และการก่อสร้างโครงการภาคเอกชนขนาดใหญ่

ตลาดแรงงานสุดฮอต ขานรับเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว

นอกจากนี้ จ๊อบไทยยังสรุปตัวเลขของประเภทงานที่เปิดรับสมัครมากที่สุด 5 อันดับแรกในไตรมาส 1 ประจำปี 2562 ซึ่งสอดคล้องกับกลุ่มธุรกิจที่มีความต้องการแรงงานมากที่สุดข้างต้น โดยประเภทงานที่มีการเปิดรับสมัครมากที่สุดจากทั่วประเทศ ได้แก่ 1.ขาย จำนวนเฉลี่ยต่อเดือน 36,600 อัตรา 2.ช่างเทคนิค จำนวนเฉลี่ยต่อเดือน 20,200 อัตรา3.ผลิต/ควบคุมคุณภาพ จำนวนเฉลี่ยต่อเดือน 15,377 อัตรา 4.ธุรการ/จัดซื้อ จำนวนเฉลี่ยต่อเดือน 15,231 อัตรา และ 5.บัญชี จำนวนเฉลี่ยต่อเดือน 12,765 อัตรา ตามลำดับ ซึ่งจะเห็นได้ว่างานที่มีความต้องการแรงงานมากที่สุดก็ยังเป็นงานขาย ซึ่งเป็นตำแหน่งสำคัญของทุกองค์กร รองลงมาคือช่างเทคนิคและผลิต/ควบคุมคุณภาพที่สอดรับการกับขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ

จากการวิเคราะห์ยังเผยให้เห็นข้อมูลของ 3 ประเภทงานที่มีความต้องการแรงงานเติบโตมากที่สุดในช่วง

ไตรมาส 1 ประจำปี 2562 คือ โยธา/ก่อสร้าง เติบโตเฉลี่ยคิดเป็น 11.69%  ตามมาด้วย ช่างเทคนิค คิดเป็น 4.09%  และ คอมพิวเตอร์/ไอที คิดเป็น 3.21% ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าปัจจัยที่ทำให้งานโยธา/ก่อสร้างมีอัตราความต้องการแรงงานเติบโตมากที่สุดเป็นผลมาจากการลงทุนในโครงการที่อยู่ในพื้นที่อีอีซี โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม และการก่อสร้างอาคารต่าง ๆ การลงทุนดังกล่าวนั้นยังส่งผลให้ผู้ประกอบการภาคการผลิตมีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการผลิตที่ขยายตัว ทำให้แรงงานด้านช่างเทคนิคมีความต้องการสูงขึ้นตามไปด้วย ในขณะเดียวกันก็มีการนำเครื่องจักรและระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้ จึงทำให้เกิดความต้องการแรงงานที่มีทักษะด้านเทคโนโลยี-คอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้น รวมถึงในภาคเอกชนก็มีความต้องการแรงงานที่มีทักษะด้านเทคโนโลยี-คอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับโลกการทำงานที่ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล นางสาวแสงเดือน กล่าว

ตลาดแรงงานสุดฮอต ขานรับเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว