ตลาดแรงงานโลจิสติกส์บูม โตแรงกว่า 30%

14 พ.ค. 2562 | 05:10 น.
อัปเดตล่าสุด :14 พ.ค. 2562 | 12:28 น.

อีคอมเมิร์ซบูม ดันตลาดแรงงานโลจิสติกส์เติบพุ่งกว่า 30% แมนพาวเวอร์กรุ๊ป พร้อมหนุนกำลังคน รับการขยายตัวของธุรกิจโลจิสติกส์ ระบุตลาดมีความต้องการอัตราแรงงานทั้ง แบบ Full time และ Part time 

แมนพาวเวอร์กรุ๊ป  ระบุถึงแนวโน้มทิศทางของตลาดแรงงานด้านโลจิสติกส์ในประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการเติบโตในปัจจุบันว่า  ตลาดแรงงานในธุรกิจ “โลจิสติกส์” มีการเติบโตมากกว่า 30% ในปีที่ผ่านมา (ปี 2561) ทั้งในส่วนของการให้บริการคลังสินค้า การขนส่ง บริการ และพนักงานส่วนประจำสำนักงาน  และในปี 2562 มีแนวโน้มจะเติบโตขึ้นอีก โดยมีปัจจัยจากพฤติกรรมการซื้อสินค้าของคนที่เปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคดิจิทัล  ส่งผลให้ธุรกิจ “อีคอมเมิร์ซ” ยิ่งเติบโตมากขึ้น 

จากผลการสำรวจของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ระบุว่าประเทศไทยมีอัตราการเติบโตของ B2C (Business to Consumer) สูงเป็นอันดับที่ 1 ของอาเซียน เมื่อเทียบมูลค่าระหว่างปี 2559 กับปี 2560 พบว่า มีมูลค่าเพิ่มถึงกว่า 1 แสน 6 หมื่นล้านบาท ส่วนหนึ่งมาจากความเชื่อมั่นในเทคโนโลยี ระบบ e-Payment ที่สะดวกมากขึ้น การขนส่งที่รวดเร็วทำให้ผู้บริโภคหันมาให้ความนิยมซื้อของออนไลน์อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการจัดแคมเปญส่งเสริมการตลาด โปรโมชั่นลดราคา  ส่วนแนวโน้มมูลค่าอีคอมเมิร์ซของประเทศไทยมีสูงถึง 3.2 ล้านล้านบาท (ปี 2561) โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลต่างๆ ที่ผู้ประกอบการ

อีคอมเมิร์ซต่างจัดโปรโมชั่นส่งเสริมทางการตลาด ในปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการบางรายมียอดขายสูงมากกว่าพันล้านปริมาณการสั่งซื้อสินค้ามีมากกว่าล้านชิ้นในระยะเวลาสั้นๆ โดยกลุ่มสินค้าที่เป็นที่นิยมอันดับต้น ๆ คือ สินค้าอุปโภคบริโภคของเด็ก เครื่องใช้ไฟฟ้า สมาร์ทโฟน เครื่องสำอาง สกินแคร์ 

การขยายตัวของธุรกิจ “อีคอมเมิร์ซ” ส่งผลให้ผู้ให้บริการ “ธุรกิจโลจิสติกส์” มีการปรับตัวโดยการพัฒนาระบบให้สามารถรองรับปริมาณการจัดส่งพัสดุที่เพิ่มมากขึ้นในแต่ละวัน และสร้างความหลากหลายของบริการการจัดส่ง เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ใช้บริการ ซึ่งหัวใจสำคัญของธุรกิจนี้ คือ ความเร็วในการจัดส่งพัสดุ, การส่งมอบสินค้าตรงเวลา, สินค้าอยู่ในสภาพสมบูรณ์, พนักงานให้บริการอย่างมืออาชีพ และสุภาพ จึงทำให้เกิดการจ้างงานและมีแรงงานจำนวนมากในธุรกิจนี้  

แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย ระบุว่า แรงงานในส่วนของโลจิสติกส์ มีหลากหลายสายงานที่เกี่ยวข้อง และเติบโตสอดคล้องกับทิศทางดังกล่าว อาทิ ผู้บริหารด้านโลจิสติกส์, วิศวกรโลจิสติกส์, เจ้าหน้าที่วางแผนขนส่งสินค้า, เจ้าหน้าที่จัดซื้อต่างประเทศ, พนักงานแพ็คสินค้า, พนักงานจัดส่งสินค้า, พนักงานยกของ, เจ้าหน้าที่ประจำสำนักงาน, เจ้าหน้าที่คลังสินค้า และเจ้าหน้าที่บริการลูกค้าทางโทรศัพท์  เป็นต้น โดยปัจจุบัน ประเทศไทยมีบริษัทด้านขนส่งสินค้ารวมถึงบริษัทนำเข้าและส่งออก มากกว่า 500 แห่ง ทั้งนี้ นายจ้างมีความต้องการแรงงานที่มีคุณสมบัติที่มีทักษะหลากหลาย (Multi Skill) รวมถึงความยืดหยุ่น และการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะพนักงานส่วนบริการที่ต้องมีทักษะด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษ และใจรักในการบริการ (Service Mind) ขณะเดียวกันต้องพร้อมต่อการสื่อสารเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าต่างๆและประสานงานทั้งภายในและนอกองค์กร

ในภาพรวมของธุรกิจ “โลจิสติกส์” แต่ละภูมิภาคของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น ภาคใต้ที่มีการขยายตัวอย่างมากโดยเฉพาะภูเก็ต และสุราษฎร์ธานี และภาคเหนือที่มีการเชื่อมโยงด้านโลจิสติกส์ระหว่างประเทศในกลุ่มประเทศ AEC ซึ่งทำให้เกิดคลังสินค้าจำนวนเพิ่มมากขึ้น  

สำหรับ การพัฒนาศักยภาพและรากฐานการศึกษาด้านโลจิสติกส์ในประเทศไทย ปัจจุบันมีสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนหลายแห่งและมีสาขาที่แตกแขนงให้น้องๆ นักศึกษาได้เลือกเรียน อาทิ สาขาการจัดการโลจิสติกส์ คณะวิทยาการจัดการ ม.เกษตรศาสตร์, สาขาการจัดการโลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทาน คณะบริหารธุรกิจ ม.ศรีปทุม, สาขาวิศวกรรมการจัดการและโลจิสติกส์  คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ม.ศิลปากร,  สาขาบริหารธุรกิจระหว่างประเทศโลจิสติกส์ขนส่ง คณะพาณิชยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สาขาวิศวกรรมโลจิสติกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.หอการค้าไทย เป็นต้น  

ตลาดแรงงานโลจิสติกส์บูม โตแรงกว่า 30%