นิคมฯรับเบอร์ซิตี้เนื้อหอม กนอ.ชี้จ่อซื้อที่เพิ่ม 3 ราย 180 ไร่

20 พ.ค. 2562 | 03:34 น.
อัปเดตล่าสุด :20 พ.ค. 2562 | 10:52 น.

กนอ.เผยนิคมอุตสาหกรรมรับเบอร์ซิตี้ ในนิคมฯภาคใต้ จังหวัดสงขลาพื้นที่ 1,248 ไร่ พัฒนาพื้นที่และระบบโครงสร้างพื้นฐานเสร็จสมบูรณ์แล้ว 100% ล่าสุดนักลงทุนเพื่อนบ้าน 3 รายทั้งจีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย  ในกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ถุงมือยางเพื่อการแพทย์ อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมผลิตเฟอร์นิเจอร์ จากไม้ยางพารา เข้าคิวลงทุนเพิ่มอีก คาดใช้พื้นที่ 180 ไร่ จากก่อนหน้าลงนามซื้อขายที่ไปแล้วกับนักลงทุน          5 ราย 62 ไร่

จิณณ์ พิลึก

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า จากนโยบายของภาครัฐที่ต้องการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ กระทรวงอุตสาหกรรมและกนอ.จึงได้พัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรมยางพารา หรือ รับเบอร์ซิตี้ ในนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ จังหวัดสงขลา บนพื้นที่รวม 1,248 ไร่ขึ้น เพื่อเพิ่มอุปสงค์การใช้ยางในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งการพัฒนาพื้นที่นิคมฯและระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานทั้งหมดได้เสร็จสมบูรณ์ พร้อมรองรับการลงทุนเชิงคลัสเตอร์(Cluster) สำหรับอุตสาหกรรมยางตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงกลางน้ำและปลายน้ำ อาทิ อุตสาหกรรมนวัตกรรมยาง อุตสาหกรรมจากน้ำยางข้น อุตสาหกรรมยางคอมปาวด์ และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยล่าสุดมีนักลงทุนแสดงความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนเพิ่มเติมอีก 3 ราย คาดว่าจะใช้พื้นที่ ประมาณ 180 ไร่

 

“นักลงทุน 3 รายมาจากประเทศ มาเลเซีย จีน ญี่ปุ่น  อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ถุงมือยาง เพื่อการแพทย์ อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมผลิตเฟอร์นิเจอร์จากไม้ยางพารา เป็นต้น แสดงความสนใจที่จะเข้ามาใช้พื้นที่เป็นฐานการผลิตและส่งออก รวมพื้นที่ประมาณ 180 ไร่ จากปัจจุบันมีนักลงทุนจากประเทศ มาเลเซีย ไต้หวัน และไทย เข้ามาทำสัญญาซื้อขายที่ดินแล้ว จำนวน 5 ราย รวมพื้นที่ประมาณ 62 ไร่ และได้เริ่มพัฒนาพื้นที่แล้วคาดว่าจะก่อสร้างโรงงานและเดินเครื่องการผลิตได้ประมาณ มิถุนายน 2562” นางสาวสมจิณณ์กล่าว

 

นิคมฯรับเบอร์ซิตี้เนื้อหอม กนอ.ชี้จ่อซื้อที่เพิ่ม 3 ราย 180  ไร่

ทั้งนี้นิคมฯรับเบอร์ซิตี้ มีการแบ่งพื้นที่ออกเป็นพื้นที่พรีเมี่ยมโซน (Premium Zone) เน้นรองรับอุตสาหกรรมทั่วไปหรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมยางพาราโดยเป็นอุตสาหกรรมยางพาราสะอาดที่ไม่มีมลพิษ (Clean Industry) และพื้นที่เพื่อรองรับอุตสาหกรรมยางพาราขั้นกลางและขั้นปลาย ถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่สำคัญที่นักลงทุนอุตสาหกรรมคลัสเตอร์ยางพารา และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องทั้งไทยและต่างประเทศ ได้ให้ความสนใจทยอยเข้าดูพื้นที่จริงหลังจากที่มีความชัดเจนในเรื่องของพื้นที่ที่มีการพัฒนาแล้วเสร็จเป็นรูปธรรมและ อยู่ระหว่างการตัดสินใจอีกจำนวนหนึ่ง

 

สำหรับนิคมฯรับเบอร์ซิตี้ ยังถือเป็นทางเลือกใหม่ที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุน เนื่องจากนิคมฯดังกล่าว ตั้งอยู่ในจังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าขนาดใหญ่และการศึกษาสำคัญของภาคใต้ เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญทางเศรษฐกิจ พร้อมด้วยโครงสร้างพื้นฐานและระบบคมนาคมขนส่งที่มีประสิทธิภาพ เชื่อมโยงการขนส่งทั้งภายในและต่างประเทศที่ครบวงจร สะดวกและรวดเร็ว โดยนิคมฯมีจุดเด่นเรื่องของทำเลที่ตั้งที่ติดกับท่าเรือน้ำลึกสงขลาเพียงแค่ 47 กิโลเมตร สนามบิน 16 กิโลเมตร และห่างจากสถานีรถไฟหาดใหญ่ 13 กิโลเมตร ทั้งยังเป็นศูนย์กลางแหล่งผลิตยางพารา และตลาดการค้ายางที่สำคัญของประเทศ

นิคมฯรับเบอร์ซิตี้เนื้อหอม กนอ.ชี้จ่อซื้อที่เพิ่ม 3 ราย 180  ไร่

 กนอ.ตั้งเป้าหมายโรงงานที่จะเข้ามาลงทุนภายในนิคมฯยางพารา ทั้งสิ้น 70 โรงงานภายใน 5 ปี (2564) รวมมูลค่าเม็ดเงิน ประมาณ 8,000 ล้านบาท เกิดการจ้างแรงงาน 7,000 คน และคาดว่าหากมีการใช้พื้นที่เต็มทั้งหมดของโครงการจะมีความต้องการใช้ยางพาราเพิ่มขึ้นประมาณ 200,000 ตันต่อปี ซึ่งพื้นที่การลงทุนดังกล่าว เชื่อว่า จะเป็นส่วนส่งเสริมสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดสงขลา รวมทั้งเศรษฐกิจของภาคใต้ให้เกิดการขยายตัวดีขึ้นได้ในอนาคต