เฟสบุ๊ค กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) รายงานว่า พะยูนน้อยมาเรียมเสียชีวิตแล้ว เมื่อช่วงเที่ยงคืนวันที่ 16 สิงหาคม 2562 ระบุข้อความ "หลับให้สบายนะ น้องมาเรียม เจ้านางฟ้าตัวน้อย” วันที่ 17 สิงหาคม 2562 กรม ทช. ขอแจ้งข่าวร้ายว่า น้องมาเรียม ได้จากพวกเราไปแล้ว ทีมแพทย์พบว่าน้องมาเรียม หยุดหายใจ และไม่เจอชีพจร จึงรีบนำขึ้นจากน้ำรอบแรก กระตุ้นหายใจ พบมีการตอบสนอง ตายังตอบสนอง จึงเอาลงบ่อ จากนั้นตรวจชีพจรซ้ำ แต่ไม่เจอชีพจรอีก จึงฉีดยาช่วยชีวิต และเอาขึ้นจากบ่อรอบที่ 2 จนกระทั่งเวลา 00.09 น. น้องได้จากพวกเราไปอย่างสงบแล้วครับ
ต่อมาในเวลา 07.08 น. ได้รายงานผลการชันสูตร ผ่าพิสูจน์สาเหตุการเสียชีวิตของน้องมาเรียมระบุ “ไม่อยากเชื่อ น้องมาเรียม จากไปเพราะขยะพลาสติก”
วันที่ 17 สิงหาคม 2562 เวลา 05.52 น. ทีมสัตวแพทย์ 10 คนจากกรม ทช. จุฬาฯ กองทัพเรือ และ มทร.ศรีวิชัย ตรัง ร่วมรายงานผลการชันสูตร ผ่าพิสูจน์สาเหตุการเสียชีวิตของน้องมาเรียม สาเหตุมาจากการช้อค นอกจากนี้ยังพบเศษพลาสติกเล็กๆ หลายชิ้นขวางลำไส้ จนมีอาการอุดตันบางส่วนและอักเสบ ทำให้มีแก๊สสะสมอยู่เต็มทางเดินอาหาร มีการติดเชื้อในกระแสเลือด ปอดเป็นหนอง ตามมา
ช่วงแรกของการรักษา สามารถลดการติดเชื้อในระบบหายใจลงได้บางส่วน แต่ในทางเดินอาหารที่มีขยะพลาสติกนั้น ไม่สามารถรักษาได้ จึงลุกลามไปจนช้อค และทำให้เสียชีวิตในที่สุด
รอยโรคอีกส่วนหนึ่งที่พบคือ มีรอยช้ำเลือดในกล้ามเนื้อและผนังช่องท้องด้านใน ซึ่งอาจเกิดจากการกระแทกกับของแข็ง เช่น ถูกพะยูนตัวใหญ่พุ่งชน หรือชนหินขณะที่เกยตื้น
ทุกคนเศร้าเสียใจกับการสูญเสียครั้งนี้ แต่สิ่งที่ตอกย้ำให้ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน ถ้าจะอนุรักษ์ให้สัตว์ทะเลหายากยังคงอยู่กับเราต่อไป ทุกภาคส่วน ทุกคน ต้องช่วยกันเรื่องขยะทะเล
ข้อมูลจากที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนสมัยพิเศษ ด้านขยะทะเล "Special ASEAN Ministerial Meeting on Marine Debris"ระบุประเทศในภูมิภาคอาเซียนหลายประเทศถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุดในโลก โดยปัจจุบันมีปริมาณมากกว่า 25 ล้านตัน และไทยเป็นประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากเป็นอันดับ 6 คือ ประมาณ 10,000 ล้านตันต่อปี
"กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้" เคยเปิดเผยรายงานการตรวจสอบแบรนด์สินค้าจากขยะพลาสติก (Brand Audit) ที่เก็บได้จากบริเวณชายหาดวอนนภา จ.ชลบุรี เมื่อเดือนกันยายน 2561 พบว่า สินค้าขยะจากพลาสติกที่พบมากที่สุดสำหรับผู้ผลิตแบรนด์ข้ามชาติ 5 อันดับแรก คือ โคคา-โคลา, เป๊ปซี่โค, ยาคูลท์, ยูนิลีเวอร์ และเนสท์เล่
ก่อนหน้านี้สถานีวิจัยสมุทรศาสตร์ชายฝั่งและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สถาบันทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ศึกษาการปนเปื้อนของไมโครพลาสติก (เศษพลาสติกที่มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร) ในสัตว์นํ้าเศรษฐกิจที่จับได้บริเวณ อ.สทิงพระ จ.สงขลา พบว่า จากตัวอย่างปลาทะเลที่วางจำหน่ายทั้งสิ้น 165 ตัวอย่าง (24 ชนิด) พบว่ามี ไมโครพลาสติกอยู่ในกระเพาะและลำไส้ปลา ประมาณ 110 ตัว (67%) และตัวอย่างปลาหมึกกล้วยในบริเวณดังกล่าว 100 ตัวอย่าง ซึ่งประกอบด้วยปลาหมึกขนาดใหญ่ 50 ตัวอย่าง พบไมโครพลาสติก 32 ตัว (64%) และปลาหมึกขนาดกลาง 50 ตัวอย่าง พบ ไมโครพลาสติก 41 ตัว (82%)
ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งลงสู่อ่าวไทยนั้นได้ปนเปื้อนเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารของสัตว์นํ้าเศรษฐกิจปัญหานี้นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้น
ขยะพลาสติกจำนวนมากที่พบอยู่ในอ่าวไทยเมื่อถูกแสงแดด ออกซิเจน และคลื่นจากกระแสนํ้าทะเลจะผุพังและแตกหักเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย จนมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเท่ากับหรือเล็กกว่า 5 มม. ที่ถูกเรียกว่า ไมโครพลาสติก ดังนั้นถุงพลาสติกหรือแก้วพลาสติก 1 ชิ้น เมื่อถูกทิ้งลงสู่ทะเลเมื่อเวลาผ่านไปจะผุพัง แตกหัก สลายตัวกลายเป็นไมโครพลาสติกจำนวนหลายพันชิ้น และสามารถล่องลอยไปทั่วโลก ตั้งแต่ผิวนํ้าจนถึงใต้ท้องทะเล และเนื่องจากมันมีขนาดเล็ก และมีสีสันใกล้เคียงกับ แพลงก์ตอนพืชและสัตว์ จึงทำให้สิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ ในทะเลกินมันเข้าไป และสะสมอยู่ในตัวและปนเปื้อนอยู่ในห่วงโซ่อาหารในที่สุด
ผลจากการวิจัยพบว่า เมื่อมนุษย์บริโภคสัตว์นํ้าที่ปนเปื้อน ไมโครพลาสติกเหล่านี้เข้าไป อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพและอนามัย หรือเป็นสารก่อมะเร็งของมนุษย์
จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าขยะพลาสติกเหล่านี้กำลังส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ทำให้ระเบบนิเวศน์เกิดความเสียหาย โดยเฉพาะระบบนิเวศบริเวณชายฝั่งทะเล ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อห่วงโซ่อาหาร