ปักหมุดเช็กอินฉบับนี้กลับสู่สามัญ เพราะพอไปเยือนแล้วต้องมาบอกต่ออยากให้คนไทยได้ออกไปเที่ยว ไปปักหมุดเช็กอินเมืองไทยกันเยอะๆ ไปเรียนรู้วิถีชาวไทยพวนที่รักษาเอกลักษณ์และสืบสานวัฒนธรรมกันมาอย่างยาวนาน งานนี้ขอเกาะติด “คุณณฐภัทร สุขิตานนท์” หัวหน้างานสินค้าท่องเที่ยวศิลปวัฒนธรรม การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ “คุณทัศชล เทพกำปนาท” ที่ปรึกษากรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม
ที่พาไปเยือน “ชุมชนบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี” เมืองนี้มีอะไรดีมากมาย..
การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมแบบนี้ เป็นการเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวโดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน จะได้เรียนรู้และสัมผัสประสบการณ์ท้องถิ่นตอบโจทย์การสัมผัสประสบการณ์แบบจริงแท้ Authentic เลือกพัก เลือกซื้อและใช้ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ซึ่งวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่งดงามของที่นี่ยังคงรักษาเอกลักษณ์เดิมๆ ไว้ เป็นความภาคภูมิใจของชุมชนผู้เป็นเจ้าของทุนทางวัฒนธรรมนั้นๆ ก่อให้เกิดความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะอนุรักษ์สืบสานต่อไปอย่างยั่งยืน ผู้คนในชุมชนนี้ร่วมแรงร่วมใจกันตั้งแต่รุ่นคุณยายส่งต่อให้รุ่นลูกจนมาถึงรุ่นหลาน ปลูกฝังให้เรียนรู้ความเป็นมาเป็นไปของชุมชนที่นี่จะมีมัคคุเทศน์น้อยพาชมด้วยนอกเหนือไปจากคนหนุ่มสาว กิจกรรมแรกที่แนะนำต้องเข้าชมพิพิธภัณฑสถานบ้านเชียง แหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ที่เผยเรื่องราวความเป็นมาของชาวไทยพวน ผ่านงานจัดแสดงหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ค่อยๆเดินชมซึมซับประวัติศาสตร์และโบราณสถานที่มีอายุมากกว่า 500 ปี ชมแหล่งขุดค้นวัตถุโบราณ พวกเครื่องปั้นดินเผา ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ของคนในอดีต ณ ที่แห่งนี้เป็น มรดกโลกของไทยได้รับการขึ้นทะเบียนจาก UNESCOแล้ว
กิจกรรมต่อมา Workshop ปั้นหม้อ เขียนไหสอนโดย ปราชญ์ ด้านปั้นหม้อเขียนไห นายชาตรี ตะโจปะรัง มาเรียนรู้และทดลองนั่งปั้นหม้อ ปั้นไหขนาดเล็กและลองเขียนไห วาดตามจินตนาการหรือจะเลียนแบบภาพเอกลักษณ์ของบ้านเชียงก็ได้ แล้วเอามาประกวดกันว่าใครสวยกว่ากัน ใครจะเชื่อว่าแค่การเขียนไหรูปทรงวนๆๆ แบบนั้นต้องมีเทคนิคมิใช่เขียนได้ง่ายๆ นะจะบอกให้...ต้องไปลอง
กิจกรรมต่อมางานนี้ผู้เขียนชอบมาก ทำผ้าฝ้ายย้อมครามและ ทอผ้าฝ้าย ที่นี่ใช้โคลนครามธรรมชาติหมักทำให้ผ้ามีสีเป็นเอกลักษณ์ การทำลายมักจะใช้จินตนาการพอสมควรจุดไหนอยากให้เป็นสีขาวก็ใช้เชือกมัดไว้ หรือคิดไม่ออกก็จะมีแบบให้มัด มัดๆ ตามก็จะได้ตามแบบออกมาสวยงาม เก็บไว้ใช้งานเป็นชิ้นงานหนึ่งเดียวโดยฝีมือเราเองไว้ให้ภูมิใจ
เสร็จภารกิจแล้วเราหย่อนใจด้วยการนั่งรถรางไปชมวัดสันติวนาราม อุโบสถรูปดอกบัวตั้งอยู่กลางน้ำหนึ่งเดียวของไทย บางมุมสามารถถ่ายภาพออกมามีสายรุ้งสวยงามมาก ตั้งอยู่ห่างจากชุมชนบ้านเชียงไปตามถนนสายบ้านเชียง อ.ทุ่งฝน ประมาณ 3 กม. ภายในวัดกว้างขวาง สะอาด สงบ ร่มรื่นสวยงาม ภายในอุโบสถ บรรยากาศสงบร่มเย็น วิจิตรตระการตาด้วยภาพวาดฝาผนังที่บอกเล่าเรื่องราวพุทธประวัติ มีองค์พระประธานสีขาวโดดเด่น รอบพระอุโบสถมีทางเดินโดยรอบกว้างขวาง มองเห็นบึงน้ำและธรรมชาติรอบวัด ชาวบ้านเรียก หนองน้ำอีสานเขียว มีปลาจำนวนมาก สามารถทำทานให้อาหารปลาได้อีกด้วย
อิ่มบุญอิ่มใจกันแล้วเวลาก็บ่ายคล้อยเย็นแล้วกลับเข้าสู่หมู่บ้าน ที่นี่ขี่จักรยานหรือเดินชิลชมหมู่บ้านและจุดที่ค้นพบของโบราณก็มีอีกหลายจุด และพลาดไม่ได้กับการรับประทานอาหารค่ำที่ชุมชน เมนูขึ้นชื่อน่ะหรือ.. “ข้าวผัดข่าแจ่วหอมหวาน บ้านเชียง”
เป็นเมนูที่หารับประทานได้ที่ชุมชนบ้านเชียงที่เดียวเท่านั้น ทานน้ำข่าที่มีประโยชน์และยังมีอาหารพื้นบ้านแซ่บหลาย...อย่างส้มตำและอื่นๆ ที่เป็นอาหารพื้นบ้าน จากฝีมือเชฟชุมชน แม่เป้-ฉันทน ศิริชุมแสง อร่อยมากจนต้องขอเบิ้ลทีเดียว จบกิจกรรมสามารถพักที่โฮมสเตย์ที่นี่หรือจะกลับไปพักในเมืองก็ได้
คุณทัศชลเล่าส่งท้ายให้ฟังว่ากรมส่งเสริมวัฒนธรรม สนับสนุน Thailand Village Academy เพื่อพัฒนาแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมในชุมชน ยกระดับสร้างมูลค่าเพิ่มให้เป็นแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมไทยสร้างสรรค์สำหรับเยาวชนทั่วโลก ซึ่งเป็นการนำทุนทางวัฒนธรรมของชุมชนมาใช้เพิ่มคุณค่า และมูลค่าทางสังคมและเศรษฐกิจ เชิงสร้างสรรค์ให้ชุมชนด้วยการสร้างจุดขายใหม่ของการท่องเที่ยว ด้วยมิติทางวัฒนธรรม ต่อยอดจากต้นทุนอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่มีอยู่เดิมของชุมชน มาสร้างคุณค่าใหม่ที่เหมาะสมกับบริบทของชุมชน และเกิดการอนุรักษ์สืบสาน ต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมของชุมชนเพื่อสร้างมูลค่า สร้างรายได้เพิ่มให้กับสินค้า และบริการของชุมชนให้ยั่งยืนต่อไปได้
...บอกได้เลยว่าแต่ละจุดต้องยกสมาร์ทโฟนขึ้นมาถ่ายภาพไว้ เซลฟี่ กันไม่หยุดและที่สำคัญต้องแชร์ต่อไปให้โลกได้รู้...
หน้า 24 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,507 วันที่ 22 - 25 กันยายน พ.ศ. 2562