ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่หลายคนบอกว่าชะลอตัว ค้าขายฝืดไปนิดนึง และแนวโน้มหลายกระแสคาดการณ์ว่าคนต้องตกงานอีกเพียบ!! ฟังแล้วก็ต๊กกะใจ๋..อีกแล้วหรอ...แต่สิ่งหนึ่งที่จะต้องเกิดขึ้นแน่ “นวัตกรรมหุ่นยนต์” เชื่อหรือไม่ร้านค้าจะมีเพียงหุ่นยนต์และพนักงานในร้านเพียงหนึ่งคน สนใจไหมเล่า?
“ร้านกาแฟแฟรนไชส์” ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมหุ่นยนต์ ที่นำระบบการจัดการมาช่วยให้การเปิดร้านกาแฟเป็นเรื่องง่าย ลูกค้าได้สัมผัสประสบการณ์ที่เป็นเอกลักษณ์ ไม่ใช่แค่แวะร้านกาแฟ เพราะถ้าแค่นั้นจิบที่ไหนก็ได้ แต่ที่นี่ได้ดื่มด่ำนวัตกรรมไปกับกาแฟทุกถ้วย รับคำสั่งด้วยเสียง ตอบโต้ได้หลายภาษา สามารถจดจำเสียงและใบหน้าของลูกค้า เป็นพนักงานต้อนรับ รับออร์เดอร์ แคชเชียร์ ลูกค้าสัมพันธ์ และเป็นรปภ.ในเวลาร้านปิด แถมวิเคราะห์ข้อมูล สรุปยอดขาย ช่วยวางแผนการตลาด นำเสนอสินค้า
เรื่องนี้ไปชมภาพจริงที่สโมสร หมู่บ้านแลนด์แอนด์เฮ้าส์ มัณฑนา เชียงใหม่-หางดง ที่ถูกสรรค์สร้างให้เป็น “Robot Cafe&Education” ร้านที่เป็นมากกว่าร้านอาหารและร้านกาแฟ “นางสาวปรางพิสุทธิ์ แดงเดช” ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ตุ๊กตุ๊กพาส จำกัด ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้ง โรบอท คาเฟ่ เรสเตอรองส์ เล่าให้ฟังว่า หลังจากที่ได้ร่วมมือกับบริษัท ยูบีเทค โรโบติกส์ฯ ผู้ผลิตหุ่นยนต์ขนาดเล็ก เพื่อการบริการ และหุ่นยนต์เพื่อการเรียนรู้รายใหญ่จากประเทศจีน หวังจะขยายศูนย์การเรียนรู้โรบอทเอดูเคชันประเทศไทยนั้น
เบื้องต้นทำโมเดลทดสอบขึ้นมา เป็นโรบอท คาเฟ่ เรสเตอรองส์ โดยมีคำสั่งซื้อหุ่นยนต์เพื่อการเรียนรู้ จากยูบีเทค เข้ามา 20,000 ตัว ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดส่งเข้าเป็นล็อตๆ ตามการขยายสาขา โดยขณะนี้มีสาขานำร่องที่ลงทุนแล้ว 2 แห่ง คือที่ สโมสรหมู่บ้านแลนด์แอนด์เฮ้าส์ มัณฑนา เชียงใหม่-หางดง และสีลม คาดว่าสิ้นปีนี้จะมีสาขาเพิ่มเป็น 20 แห่ง โดยเริ่มมีผู้สนใจซื้อสิทธิ์แฟรนไชส์เข้ามาจำนวนมาก
สำหรับโมเดลแฟรนไชส์ก็จะเป็นรูปแบบใหม่ใน 1,000 สาขาแรก ลงทุนสาขาละ 2.5 ล้านบาท บริษัทร่วมลงทุนให้ 1.3 ล้านบาท ผู้ซื้อแฟรนไชส์สามารถขอวงเงินสินเชื่อจากธนาคารส่วนหนึ่ง ลงทุนเองราว 2.5 แสนบาท เท่ากับไม่ต้องลงทุนหนักจนเกินไป ไม่ต้องเสียค่าลิขสิทธิ์ ค่าแรกเข้าแฟรนไชส์ ก็เปิดสาขาได้แล้ว โดยเป้าหมายที่อยากได้คือ สโมสร คลับเฮาส์ในหมู่บ้านจัดสรร เพราะต้องการให้เป็นศูนย์เรียนรู้ที่เข้าถึงชุมชนอย่างแท้จริง เข้าถึงเด็กๆ ได้ง่าย หากพ่อแม่ต้องทำงาน ช่วงเย็นหรือหัวค่ำพ่อแม่สามารถพาลูกๆ มาที่ศูนย์นี้ รับประทานอาหารร่วมกันแบบบุฟเฟ่ต์ตักรับประทานได้เอง ข้าวฟรี น้ำฟรี และเด็กได้เรียนรู้เกี่ยวกับหุ่นยนต์ เด็กๆ สามารถเล่นเองหรือจะเล่นกันเป็นกลุ่มก็ได้ จะเกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน แม้ว่าพ่อแม่บางท่านจะมีกำลังซื้อหุ่นยนต์ให้ลูกเล่นเป็นส่วนตัวได้ก็ตาม แต่หากเล่นเวอร์ชันเดียวเด็กๆ อาจจะเบื่อหน่ายได้ แต่ที่ศูนย์ฯเด็กจะมีทางเลือกมากขึ้น โดยเสียค่าเช่าชั่วโมงละ 200 บาท
ส่วนเป้าหมายนั้นวางไว้ว่าต้องการขยายสาขาเป็น 1,000 แห่ง ภายใน 3 ปี แนวคิด “โรบอท คาเฟ่ เรสเตอรองส์” ง่ายๆ คือเป็นที่พักผ่อนและเรียนรู้สำหรับครอบครัว 24 ชั่วโมง ส่วนแรกจะมีร้านกาแฟ-อาหาร ใช้คอนเซ็ปต์ตักอาหารเองตามต้องการ โดยจะมีหุ่นยนต์บริการครุยเซอร์ ของยูบีเทคให้การต้อนรับ ลดจำนวนคนในการปฏิบัติการลงไป หุ่นยนต์ครุยเซอร์ มีคุณสมบัติเต้นได้ พูดได้ 30 ภาษา โต้ตอบได้ ชำระเงินได้ มีคุณสมบัติตรวจจับใบหน้า ทำหน้าที่เก็บข้อมูล พฤติกรรมลูกค้า ซึ่งทำให้สามารถจัดเก็บข้อมูลบิ๊กดาต้า มาใช้วิเคราะห์และวางแผนจัดการอาหารและเครื่องดื่ม ให้ตรงตามพฤติกรรมของผู้บริโภคแต่ละสาขา
วันนี้เราต้องรีบปรับเปลี่ยนก่อนที่จะตกโลก เพราะการเรียนรู้ด้วยการเล่นกับหุ่นยนต์ ผู้ที่เหมาะสมมากที่สุดคือ “เด็กหรือเยาวชนไทย” เมื่อมีศูนย์เรียนรู้แบบนี้มากขึ้น เด็กไทยได้เรียนรู้มากขึ้น และปัจจุบันการศึกษาเป็นตลาดใหญ่ที่สุดตลาดหนึ่ง ทุกคนต่างยอมรับว่าศาสตร์แห่งหุ่นยนต์หรือโรโบติกส์ เป็นสิ่งที่จำเป็นและหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในอนาคตเมื่อเด็กเติบโตขึ้นมาไปสมัครงาน เด็กจะไม่ถูกถามว่า เรียนอะไรมาบ้าง แต่คงจะถูกถามว่าสามารถเรียนรู้และบังคับหุ่นยนต์ประเภทใดได้บ้าง
เพราะในโลกอนาคต คนจะไม่ได้เป็นคนทำงานด้วยตัวเอง แต่จะทำงานโดยบังคับ ควบคุม ให้หุ่นยนต์ทำงานแทนเรียนรู้จากการเล่น ของเล่นหลายร้อยหลายพันชิ้น ที่สร้างจินตนาการที่เหนือกว่าความรู้ Imagination beyond knowledge การสร้างแรงบันดาลใจ ที่จะทําให้เด็กเป็น Creator นักสร้างสรรค์ ไม่ใช่แค่ผู้ใช้งาน User จึงเป็นครั้งแรกที่จะได้สัมผัส เทคโนโลยีแบบปฏิบัติ ไม่ใช่แค่ทฤษฎี เรียนรู้และเข้าใจ ตั้งแต่แนวคิดการพัฒนา สร้างแนวคิดให้เยาวชน เป็น Creators นำตนเข้าสู่การเรียนรู้ Self-Directed Learning...
หน้า 21 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,525 วันที่ 24 - 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562