หนึ่งในนักคิดนักต่อยอดรุ่นใหม่ ที่น่าสนใจอีกคนหนึ่ง ก็คือ “อิทธิกร เทพมณี” ที่ผันตัวเองจากพนักงานธนาคารมาสู่ผู้ประกอบการ ที่ไม่ได้จบการศึกษากีฏวิทยา หรือการศึกษาด้านแมลง แต่สามารถบ่มเพาะความรู้ด้วยการศึกษาเพิ่มเติม จนสามารถสร้างนวัตกรรมที่น่าทึ่ง และประกอบเป็นอาชีพได้
ผู้ชายคนนี้ เป็นเจ้าของแบรนด์ขนมขบเคี้ยว ที่ทำมาจากแป้งจิ้งหรีด ชื่อว่า GYMMIE Cricket Chips ด้วยความสนใจแหล่งโปรตีนใหม่จากแมลง “อิทธิกร” ได้ศึกษาถึงแหล่งโปรตีนจากแมลงอย่างจริงจัง โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และได้รับทุนในการทำวิจัยร่วมกัน เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์แป้งจิ้งหรีด
จากการวิจัยครั้งนั้น “อิทธิกร” ค้นพบถึงความน่าสนใจของโปรตีนที่มาจากแมลง นอกเหนือจากจิ้งหรีด ซึ่งที่มีปริมาณโปรตีนค่อนข้างสูง จนล่าสุด ได้มีการสร้างทีม Orgafeed ซึ่งเป็นโมเดลเพาะเลี้ยงหนอนแมลงวันลาย เพื่อลดขยะอินทรีย์ และค่าใช้จ่ายอาหารสัตว์ให้กับเกษตรกร
เขาค้นพบว่าหนอนแมลงวันลาย สามารถย่อยสลายขยะอินทรีย์ ซึ่งเป็นขยะหลักของชุมชน ขณะเดียวกันก็สามารถทำเป็นอาหารสัตว์ได้ ซึ่งในต่างประเทศมีการนำหนอนแมลงมาผลิตเป็นอาหารสัตว์นานแล้ว และยังสามารถนำมาต่อยอดผลิตเป็นเครื่องสำอางได้ด้วย โดยล่าสุด Orgafeed ได้พัฒนาหนอนแมลงวันลาย มาสู่ธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายอาหารสุนัขคุณภาพดี
“อิทธิกร” บอกว่า วิกฤติที่คนไทยกำลังเผชิญอยู่ขณะนี้ คือ วิกฤติทางด้านอาหาร โดย 1 ใน 3ของอาหารที่ผลิตขึ้นมา กลายเป็นของเสีย ขณะเดียวกัน ความต้องการอาหารของโลก ก็ยังมีปริมาณที่เพิ่มขึ้นตามจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น โดยมีการคาดคะเนว่า ความต้องการอาหารจะเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 70%ในช่วง 20 ปีข้างหน้า เพราะฉะนั้น เขาและทีมจึงนำทั้ง 2 ปัญหามาเชื่อมต่อกัน แล้วแก้ไขด้วยการนำเศษขยะอาหาร ซึ่งเป็นขยะอินทรีย์ มาเข้ากระบวนการ Upcycling หรือกระบวนการในการแปลงสภาพของวัสดุของเสีย หรือไม่ใช้ประโยชน์ให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีคุณภาพดีกว่าเดิม หรือมีคุณค่าด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมสูงมากขึ้น
การ Upcycling ของ Orgafeed คือ การนำขยะอินทรีย์เหล่านั้น มาผ่านกระบวนการฟาร์มแมลง จนได้ออกมาเป็นโปรตีนแมลงที่เขานำมาเป็นส่วนผสมอาหารสุนัขที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่ง “อิทธิกร” บอกว่า นี่คือ ผลิตภัณฑ์ที่ Orgafeed ผลิตได้เป็นเจ้าแรกของเอเชียเลยทีเดียว โดยในระยะเวลาเกือบ 1 ปี ที่เขาทำพัฒนาอาหารสุนัขตัวนี้ขึ้นมา มีลูกค้าแล้วกว่า 200 ราย และในกระบวนการผลิตสามารถลดทั้งขยะอินทรีย์ไปแล้วกว่า 1 ตัน และลดก๊าซเรือนกระจกลงได้ด้วย
นักคิดคนนี้บอกว่า ความท้าทายในการทำงานเรื่องนี้ คือ วิธีการเลี้ยงแมลง เพราะไม่ได้จบทางด้านกีฏวิทยา การหาความรู้ การเลี้ยงแมลง เป็นความท้าทายอย่างมาก เมื่ิอลงไปหน้างาน จะพบอะไรอีกมากมายที่ต้องเรียนรู้เพิ่มเติม
อีกหนึ่งความท้าทาย คือ เรื่องการเงิน เพราะทีมของเขาไม่ได้มีเงินเยอะ ไม่สามารถลองผิดลองถูกได้มาก แต่เมื่อมีหน่วยงานอย่าง บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ที่จัดทำ “โครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม” ซึ่งเป็นโครงการบ่มเพาะผู้ประกอบการกิจการเพื่อสังคม ให้มีความพร้อมในการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ก็ทำให้การคิด การค้นคว้าของเขามีสภาพคล่อง ทำให้สามารถต่อยอดการทำงานได้อีกมากมาย
“อิทธิกร” ยอมรับว่า หากต้องลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง จะเสียทั้งต้นทุนและเวลา แต่เมื่อเข้าร่วมโครงการ ซึ่งมีการแชร์ความรู้ และมีพี่เลี้ยงช่วยไกด์ ...บางครั้งแนวคิดเรา ถ้าเราไปลองเอง อาจเกิดความผิดพลาด ทำให้เสียเงินเสียเวลา แต่พี่ๆ ช่วยให้
ความรู้ ลดโอกาสในการที่เราจะทำผิด เสียเวลาลองผิดลองถูกได้เยอะเลยทีเดียว
เป้าหมายต่อไปของ Orgafeed คือ การพยายามบริหารจัดการ เพิ่มปริมาณการผลิตให้มากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา จากการลงพื้นที่ พบว่ามีปริมาณขยะอาหารจำนวนมาก ที่บริหารจัดการไม่ถูกวิธี ซึ่งเศษขยะอาหารเหล่านี้ ถือเป็นขยะที่มีอันตรายไม่น้อยไปกว่าพลาสติก หาก Orgafeed สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้มากขึ้น ก็คือ การลดปัญหาปริมาณขยะเหล่านี้ลงได้ส่วนหนึ่ง
นอกจากนี้ เขายังมีแผนที่จะผลักดันเรื่องโปรตีนจากแมลง ให้ขยายผลต่อไปอีก เพราะจากการศึกษาพบว่า นอกจากจะมีข้อดีด้านโปรตีนคุณภาพแล้ว แมลงยังสามารถนำมาต่อยอดทำอย่างอื่นได้อีกมากมาย ...เราจะพยายามทำให้เต็มที่มากขึ้น
หน้า 22-23 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,524 วันที่ 21 - 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562