จากปัญหาพลาสติกที่ถูกมองเป็นผู้ร้าย หากแต่ความจริง พลาสติกคือผู้ช่วยอำนวยความสะดวกมากมาย ส่วนผู้ร้ายตัวจริงนั้นคือ มนุษย์ ที่ไม่รู้จักบริหารจัดการ “การใช้และการกำจัดขยะพลาสติก” อย่างถูกวิธี จึงจุดประกายไอเดียให้ “ไพบูลย์ จุลศักดิ์ศรีสกุล” รองประธานกรรมการผู้จัดการ บริษัท คิงส์ คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด และผู้ก่อตั้ง บริษัท คิงส์ เอ็นเนอร์จี แอนด์ เวซท์ โซลูชั่นส์ จำกัด ลุกขึ้นสร้างโรงงานคิงส์ เอ็นเนอร์จี แอนด์ เวซท์ โซลูชั่นส์ ที่จังหวัดชลบุรี ซึ่งถือเป็นโรงงานแห่งแรกที่ใช้นวัตกรรมรีไซเคิล นำพลาสติกเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรม และพลาสติกครัวเรือนที่อยู่ในบ่อขยะ มาหมุนเวียนใช้ (Landfill Recycling Innovation) จนได้เป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพ สามารถนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือที่เรียกว่า Up Cycling
“ไพบูลย์” บอกว่า ไทยสร้างขยะกว่า 30 ล้านตันต่อปี โดย 25% หรือประมาณ 7 ล้านตันของขยะเหล่านั้น เป็นขยะพลาสติก ซึ่งการจัดการมีต้นทุนที่สูงขึ้น เนื่องจากปัญหาพื้นที่บ่อขยะที่ไม่เพียงพอที่จะจัดการขยะ คิงส์กรุ๊ป จึงนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)มาเป็นเครื่องมือการพัฒนาถุงพลาสติกรีไซเคิลจากขยะพลาสติกเหล่านั้น ภายใต้แบรนด์ ฮีโร่ เพื่อช่วยลดปริมาณขยะ และยังสร้างให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน
เป้าหมายสูงสุดของการทำธุรกิจตรงนี้ คือ ต้องการให้คนแยกขยะ เราจะทำให้ดูว่า มันทำได้ แยกขยะทุกอย่างที่ผลิตสามารถรีไซเคิลได้ และอยากสอนให้คนใช้ของรีไซเคิลให้เป็น โดยส่วนที่โรงงานคิงส์ เอ็นเนอร์จี แอนด์ เวซท์ โซลูชั่นส์ กำลังทำ นอกจากการนำขยะมาผลิตเป็นถุงรีไซเคิลออกจำหน่ายทั้งในไทยและต่างประเทศแล้วตัวโรงงานแห่งนี้ ยังพยายามทำทุกอย่างให้คลีน ไร้ขยะ
ในแง่ของกำลังการผลิต โรงงานคิงส์ เอ็นเนอร์จี แอนด์ เวซท์ โซลูชั่นส์ มีกำลังผลิตเม็ดพลาสติกได้กว่า 1,600 ตันต่อเดือน หรือเกือบ 2 หมื่นตันต่อปี และมีเป้าหมายที่จะขยายเพิ่มเป็น 5 หมื่นตันต่อปี
กระบวนการผลิต เริ่มจากการคัดแยกชนิดพลาสติกกลุ่ม PE หรือ Polyethylene จากเศษพลาสติกที่นำมาจากบ่อขยะ มาคัดแยกและล้างทำความสะอาดด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง หลังจากนั้น จึงนำไปหลอมให้กลายเป็นเม็ดพลาสติก ที่นำมาผลิตเป็นถุงพลาสติกรีไซเคิล คือ ถุงขยะฮีโร่อีโค่ที่ขายทั้งในประเทศและส่งออกไปขายยังต่างประเทศ
คิงส์กรุ๊ป ยังได้ต่อยอดการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเม็ดพลาสติกรีไซเคิล ด้วยการเริ่มต้น Pyrolysis และการแก้ปัญหาขยะอินทรีย์ โดยการนำขยะออร์แกนิกมาผลิตเป็นปุ๋ย รวมถึงจะตั้งเป็นโรงงานไฟฟ้า หากสามารถขอใบอนุญาตได้ นอกจากนี้ ยังเตรียมติดตั้งโซลาร์ รูฟ ทั้งหมด ภายใน 3 เดือนต่อจากนี้ พร้อมทั้งตั้งเป้าเป็นโรงงาน 100% Zero waste
หน้า 22-23 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,526 วันที่ 28 - 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562