ไชยบุรี เป็นแขวงหนึ่งของประเทศลาว ที่มีพื้นที่ติดกับประเทศไทยหลายจังหวัด หนึ่งในนั้นคือจังหวัดพิษณุโลก ไชยบุรีเคยเป็นส่วนหนึ่งของไทยก่อนเสียดินแดนเมื่อปี พ.ศ. 2447 ไปขึ้นกับอินโดจีนของฝรั่งเศส ไทยได้กลับคืนมาชั่วคราวในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และตั้งเป็นจังหวัดล้านช้าง แต่ต้องคืนกลับไปหลังสงครามยุติ ในพื้นที่มีชาวพื้นเมืองหลายเผ่าพันธุ์อาศัยอยู่ เช่น ไทดำ ไทลื้อ ขมุ ขฉิ่น กรี อาขา ม้ง และมลาบรี ประชากรเหล่านี้จะข้ามไปมาระหว่างลาวและไทยเพื่อทำกิน
ส่วนใหญ่ทำไร่เลื่อนลอยปลูกข้าว ต่อมาได้ปักหลักในพื้นที่ของประเทศไทย เพื่อความเรียบร้อยของพื้นที่ทางกองทัพภาคที่ 3 กองทัพไทยจึงได้จัดตั้งโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่ภูขัด ภูเมี่ยง ภูสอยดาว อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก ขึ้น
ต่อมาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ทรงทราบถึงปัญหาที่ทำกินไม่เหมาะสม ในการทำการเกษตรแบบยั่งยืน จึงพระราชทานพระราชดำริให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาที่ทำกินแห่งใหม่ให้ โดยให้มีการพัฒนาการเกษตรในลักษณะการอนุรักษ์ดิน น้ำ ไม่ทำลายป่าและทรงรับไว้เป็นโครงการตามพระราชดำริ เพื่อช่วยเหลือราษฎรโดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติและชนเผ่า
โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ ภูขัด ภูเมี่ยง ภูสอยดาว จึงเกิดขึ้น โดยใช้พื้นที่ที่ถูกแผ้วถางมาทําประโยชน์ให้เกิดผลผลิตสูงสุด เป็นตัวอย่างแก่ราษฎร เพื่อหยุดยั้งการบุกรุกป่า พร้อมฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมให้กลับคืนมาโดยให้ราษฎรมีส่วนร่วม และเรียนรู้การใช้ที่ดินที่มีจํากัดให้เกิดผลผลิตเพียงพอต่อการเลี้ยงตนเอง ในรูปแบบเกษตรปลอดสารเคมีและปลูกพืชตามที่ตลาดต้องการ
เมื่อวันพุธที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมด้วยนายปวัตร์ นวะมะรัตน รองเลขาธิการ กปร. และคณะอนุกรรมการฯ ฯ ได้เชิญถุงพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปมอบแก่ราษฎรและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในโครงการฯ พร้อมติดตามความคืบหน้าของโครงการฯ
การนี้ นายปรีชา ปัญญาสงค์ เจ้าหน้าที่งานในพระองค์ ปฏิบัติหน้าที่ในโครงการ ภูขัด ภูเมี่ยง ภูสอยดาว
อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.พิษณุโลก ได้รายงานความคืบหน้าในการดำเนินงานว่า ได้ขยายผลงานของสถานีสู่เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง โดยรายที่มีความพร้อมทั้งความรู้และพื้นที่จะมอบพันธุ์พืชให้ประมาณ 300 ต้นต่อราย พร้อมติดตามแนะนำวิธีการเพาะปลูก บำรุงรักษาและเก็บเกี่ยวผลผลิต
“มีพ่อค้าขึ้นมารับถึงแปลงปลูก ราษฎรมีรายได้ประมาณ 350,000 ต่อปี
พืชที่ปลูกประกอบด้วย มะละกอ เงาะ และพืชผัก โดยเงาะได้รับความนิยมมากเนื่องจากกรอบล่อน ส่วนผักจะมีโรงพยาบาลและโรงเรียนบริเวณใกล้เคียงเข้ามารับซื้อทั้งหมด ปัจจุบันไม่มีปัญหาเรื่องการตลาด” นายปรีชา ปัญญาสงค์ กล่าว
โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ ภูขัด ภูเมี่ยง ภูสอยดาว ได้ดำเนินงานสนองพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรควบคู่กับการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติตลอดมา การดำเนินงานของโครงการฯ
มีสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ให้การประสานงาน พิจารณางบประมาณ และติดตามการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง สามารถฟื้นฟูสภาพป่าที่เคยถูกทำลายจนเสื่อมโทรมให้กลับคืนสมบูรณ์ดังเดิม ส่งเสริมการอนุรักษ์ดินและระบบนิเวศน์ของป่าบนพื้นที่สูงควบคู่ไปกับการฟื้นฟูระบบนิเวศน์ต้นน้ำ โดยราษฎรมีส่วนร่วมเป็นอาสาสมัครพิทักษ์ป่า
รวมทั้งการฝึกอบรมการทำเกษตรปลอดสารเคมี นำความรู้ไปดำเนินการที่บ้านของตนเองทำให้มีผลผลิตที่ปลอดภัยไว้รับประทานในครัวเรือน และสามารถจำหน่ายเพื่อเป็นรายได้ ส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ราษฎรมีที่ทำกินชีวิตมีความสุขทุกคนมีโอกาสเท่าเทียม เข้าถึงโอกาสทั้งการประกอบอาชีพและสังคมอย่างเท่าเทียมแม้จะมาจากหลากหลายชนเผ่าก็ตาม