13 มกราคม 2563 นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่น้ำประปาฝั่งตะวันออก หรือฝั่งพระนครของกรุงเทพมหานครมีรสเค็มนั้น เหตุผลเดียวคือน้ำทะเลรุกแม่น้ำเจ้าพระยาถึงสถานีสูบน้ำดิบของการประปานครหลวง (กปน.) ที่ ต.สำแล อ.เมือง จ.ปทุมธานี
ส่วนน้ำประปาฝั่งตะวันตกหรือฝั่งธนบุรียังเป็นปกติดีอยู่ เพราะโรงผลิตน้ำประปา รับน้ำจากคลองประปามหาสวัสดิ์ไม่ถูกอิทธิพลน้ำทะเลกระทบ โดยอาศัยน้ำดิบจากเขื่อนแม่กลอง จ.กาญจนบุรี ผันข้ามแม่น้ำท่าจีนเข้ามา เหตุที่น้ำทะเลหนุนทะลักขึ้นถึงสำแลก็เป็นเหตุธรรมดาของฤดูแล้งที่น้ำจืดมีน้อย แต่สำแลเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ต้องเฝ้าระวังป้องกันไม่ให้กระทบ
“เราวางแผนระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาที่รับน้ำจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์วันละ 16 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่มาถึงเขื่อนเจ้าพระยาแค่ครึ่งเดียว อีกครึ่งหนึ่งถูกสูบระหว่างทาง ทั้งเพื่ออุปโภคบริโภคและเพื่อการเกษตร จึงเหลือน้ำไม่พอที่จะผลักดันน้ำเค็มได้ตามแผน” เลขาธิการ สทนช.กล่าว และว่า
ปกติการระบายน้ำผลักดันน้ำเค็ม จะอาศัยเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เป็นตัวช่วยหลัก เพราะระยะทางใกล้ การสูญเสียน้ำระหว่างทางไม่มากเท่าการโรยน้ำจากเขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์ที่อยู่ไกล แต่ปีนี้ปริมาณน้ำในเขื่อนป่าสักฯ เองก็ร่อยหรอมากอย่างไม่เคยมีมาก่อน จากฝนที่ตกน้อยมาก สทนช. วางแผนร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง ผันน้ำจากเขื่อนแม่กลองมาช่วย 500 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่าปริมาณปกติของฤดูแล้งทุกปีซึ่งใช้ไปแล้วตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2562 จำนวน 200 ล้านลูกบาศก์เมตร และเพื่อรับศึกภัยแล้ง จึงสำรองเพิ่มอีก 500 ล้าน ลบ.ม. โดยที่ไม่กระทบต่อการใช้น้ำของพื้นที่ของเขื่อนแม่กลอง ทั้งในฤดูแล้ง 2562/2563 และต้นฤดูฝน 2563 ที่หากจะมีฝนทิ้งช่วง
นายสมเกียรติ กล่าวเพิ่มเติมว่า เส้นทางที่ผันน้ำกลองมานั้น นอกจากเพื่อผลิตน้ำประปาคลองมหาสวัสดิ์ ของ กปน. แล้ว ยังจะนำมาช่วยผลักดันน้ำเค็มช่วยแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่ให้กระทบการผลิตน้ำประปาที่สำแลของ กปน. อีกด้วย โดยมี 3 เส้นทาง ประกอบด้วย
เส้นทางที่ 1 ผันน้ำผ่านคลองจระเข้สามพันผ่านประตูระบายน้ำ (ปตร.)สองพี่น้อง แล้วผันไปออกสถานีสูบน้ำพระยาบรรลือ ลงคลองพระยาบรรลือ ก่อนสูบลงแม่น้ำเจ้าพระยา
เส้นทางที่ 2 ผันลงที่คลองประปาเข้าโรงงานผลิตน้ำประปามหาสวัสดิ์ บางส่วนผันลงคลองบางกอกน้อย
เส้นทางที่ 3 ผันเข้าคลองมหาสวัสดิ์ ผ่าน ปตร.มหาสวัสดิ์ หรือ ปตร.ที่อยู่ด้านเหนือ หากแม่น้ำท่าจีนบริเวณ ปตร.มหาสวัสดิ์ มีความเค็มสูง ออก ปตร.ฉิมพลี แล้วลงคลองบางกอกน้อยเช่นกัน
นอกเหนือจากการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา และเขื่อนพระรามหกที่รับน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์แล้ว ทั้ง3เส้นทางจะเป็นการเสริมปริมาณน้ำส่วนที่อยู่ด้านล่างของเขื่อนเจ้าพระยาลงมา เรากำลังมองความเป็นไปได้ที่จะผันน้ำแม่กลองเส้นที่สี่ ผ่านคลองพระพิมลซึ่งอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา อาคารชลประทานต่างๆ ลงแม่น้ำเจ้าพระยาเช่นกัน
ข้างต้นเป็นแผนของ สทนช. และหน่วยงานเกี่ยวข้องในการมองหาทางหนีทีไล่เพราะปัจจุบันแม่กลองมีน้ำใช้การมากที่สุดตลอดฤดูแล้งถึง 5,618 ล้าน ลบ.ม. ในขณะ 4 เขื่อนที่จะระบายลงแม่น้ำเจ้าพระยามีเพียง 3,679 ล้าน ลบ.ม. เท่านั้น ซึ่งการวางแผนบริหารจัดการดังกล่าวจะต้องไม่เกิดผลกระทบกับการใช้น้ำของลุ่มน้ำแม่กลองและการควบคุมความเค็มในแม่น้ำท่าจีนด้วย
การผันน้ำจากแม่น้ำแม่กลองช่วยผลักดันน้ำเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา เคยดำเนินการมาแล้วเมื่อปี 2557 ที่เป็นฤดูแล้งที่ขาดแคลนน้ำมากที่สุดเช่นกัน โดยได้รับการสนับสนุนเครื่องผลักดันน้ำของกองทัพเรือ ช่วยผลักดันน้ำที่ผันจากลุ่มน้ำแม่กลองลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ ในส่วนของ กปน. เองจะลำเลียงน้ำจากโรงผลิตน้ำประปามหาสวัสดิ์มาช่วยเหลือพื้นที่การประปาฝั่งตะวันออกโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใน 18 สำนักงานประปาสาขา ซึ่งประชาชนสามารถนำภาชนะบรรจุไปขอรับได้ สำหรับผู้ป่วย ผู้สูงอายุ เด็กเล็กที่อาจมีปัญหาความเค็มกระทบต่อสุขภาพ
ขณะเดียวกัน กปน. กำลังดำเนินการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลขนาดใหญ่ 4 จุด ใน กทม. และสมุทรปราการ ได้แก่ สถานีสูบน้ำบางเขน สถานีสูบน้ำมีนบุรี สถานีสูบน้ำลาดกระบัง และสถานีสูบน้ำสำโรง สูบน้ำได้ประมาณ 11,000 ลบ.ม./วัน สนับสนุนการแก้ไขผลกระทบการผลิตน้ำประปาของ กปน. อีกทางหนึ่ง นอกจากนั้น ยังต้องใช้การบริหารจัดการน้ำประตูน้ำคลองลัดโพธิ์ เปิด-ปิดตามจังหวะน้ำขึ้น-ลงของน้ำทะเล เพื่อลดลิ่มความเค็มที่จะรุกขึ้นไปด้วย
อย่างไรก็ตาม สทนช. ยังเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบมาตรการประหยัดการใช้น้ำและประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้สู่ภาคประชาชนโดยในด้านอุปโภคบริโภค ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัด ลดการสูญเสียให้มากที่สุด โดยให้ส่วนราชการเป็นหน่วยงานนำร่อง และเรียกร้องไม่ให้ทิ้งขยะมูลฝอยลงในแหล่งน้ำ จัดเก็บวัชพืชในลำน้ำสม่ำเสมอ
ส่วนด้านเกษตร เน้นรณรงค์ให้เกษตรกรใช้น้ำอย่างประหยัด และหมุนเวียนใช้น้ำให้สูญเสียน้อยที่สุด รวมถึงใช้น้ำไม่เกินจากที่จัดสรร เพื่อให้มีน้ำเพียงพอในฤดูแล้ง สำหรับด้านอุตสาหกรรม รณรงค์การใช้น้ำตามหลักจัดการน้ำเสีย 3R คือ ลดการใช้ (Reduce) การใช้ซ้ำ (Reuse) และการแปรรูปกลับมาใช้ใหม่ (Recycle)