นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เผยว่า งาน “อัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่ 11” ซึ่งจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “เสน่ห์แห่งภูมิปัญญา” ระหว่างวันที่ 30 ม.ค.-2 ก.พ. 63 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค ทำให้มีโอกาสพบปะและพูดคุยกับบรรดาครูผู้สร้างสรรค์ผลงานหัตถศิลป์ระดับชั้นนำของประเทศ ที่ได้รับการเชิดชูจากศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT ทั้งได้เห็นพัฒนาการความเปลี่ยนแปลงของชิ้นงานหัตถศิลป์ไทยที่มีความสอดคล้องกับกลุ่มผู้ซื้อมากขึ้น ทั้งรูปลักษณ์และลักษณะการใช้งานในชีวิตประจำวัน แต่ยังคงไว้ซึ่งความประณีต และเสน่ห์แห่งภูมิปัญญาที่ยังคงไว้ไม่เสื่อมคลาย ทำให้มั่นใจได้ว่างานหัตถศิลป์ไทยจะเป็นที่นิยมในกลุ่มคนไทย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่มากขึ้น และเป็นสินค้า ที่มีโอกาสทางธุรกิจในการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศได้เป็นอย่างดี
สำหรับงานอัตลักษณ์แห่งสยามในปีนี้จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์สำคัญคือ เพื่อส่งเสริมและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และงานหัตถกรรมไทย ให้เป็นที่รู้จักและยอมรับทั้งชาวไทยและต่างประเทศ สร้างกระแสการรับรู้และเพิ่มช่องทางการตลาดแก่ผู้ผลิตงานศิลปหัตถกรรมไทย รวมถึงการเชิดชูเกียรติบุคคลผู้สร้างสรรค์งานหัตถศิลป์ไทยเป็น “ครูศิลป์ของแผ่นดิน” “ครูช่างศิลปหัตถกรรม” และ “ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม” ประจำปี 2563 ในหลากหลายสาขางานหัตถกรรม รวมกว่า 29 ราย
กิจกรรมภายในงานครั้งนี้ SACICT ได้คัดสรรกิจกรรมที่น่าสนใจไว้มากมายถึง 7 โซน ประกอบด้วย โซนที่ 1 ชื่นชมนานา ศิลปาชีพไทย ส่วนจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และส่วนสาธิตการทำงานโดยสมาชิกมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และสาธิตการทำงานหัตถกรรมจากสมาชิก อาทิ จักสานไม้ไผ่ลายขิด งานปักซอย งานดอกไม้ประดิษฐ์พระนาม เป็นต้น
โซนที่ 2 เชิดชูครู-ทายาท หัตถศิลป์ นิทรรศการและจัดแสดงผลิตภัณฑ์ครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ประจำปี 2563
โซนที่ 3 ภูมิปัญญา จารึก แผ่นดิน นิทรรศการจัดแสดงผลงานชิ้นพิเศษ ระดับมาสเตอร์พีช ครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรมกว่า 30 ผลงาน อาทิ งานเทียนพรรษา งานแทงหยวก งานตอกกระดาษ งานผ้าบาติก เป็นต้น
โซนที่ 4 รังสรรค์หัตถศิลป์ ร่วมเวิร์คช็อป ลงมือสร้างสรรค์ผลงานหัตถศิลป์ชิ้นพิเศษด้วยตัวท่านเอง ทุกวัน 4 กิจกรรม ต่อวัน วันละ 2 รอบ
โซนที่ 5 เอกลักษณ์แห่งท้องถิ่น นิทรรศการหัตถกรรมที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์(GI Projects) ที่เกี่ยวกับงานหัตถกรรม อาทิ งานผ้าไหม งานเซรามิค งานจักสานท้องถิ่น
โซนที่ 6 การออกร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์อันทรงคุณค่าจากฝีมือครูชั้นนำระหว่างประเทศ กว่า 200 ร้าน โดยมีการแบ่งกลุ่มโซนงานหัตถกรรมออกเป็น 4 โซน ดังนี้
-วิจิตรมายา เหมาะสำหรับนักสะสมงานกลุ่มศิลปชั้นสูงที่สร้างสรรค์ขึ้นอย่างวิจิตรตระการตา เสมือนนำมายาแห่งศิลป์งานประติมากรรมและจิตรกรรมเข้าไว้ด้วยกัน อาทิ งานหัวโขน หนังใหญ่ หนังตะลุง
-ถักทอ สายใย ชมและมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของผลงานจากผู้ถักทอเส้นใย งานหัตถกรรมผ้าไทยทรงคุณค่าที่สร้างชื่อเสียงขจรไกลไปทั่วโลก
-ล้ำค่า ภูมิปัญญา ชิ้นงานที่หลากหลายจากมรดกทางภูมิปัญญาอันล้ำค่าผสานแนวคิดสมัยใหม่ เหมาะสำหรับผู้มองหาเครื่องประดับและของตบแต่งที่มีอัตลักษณ์ อาทิ งานโลหะ เครื่องเงิน เครื่องถม เครื่องทอง
-เจนจัดทัศนศิลป์ สรรหา สร้างแรงบันดาลใจ ได้จากผู้สร้างที่เฉพาะทางด้วยความเจนจัด และมากประสบการณ์ งานฝีมือท้องถิ่น อาทิ งานปูนปั้น งานแกะสลักไม้ แทงหยวก จัดสานทองเหลือง ตัดกระดาษ ขันลงหิน
โซนที่ 7 SACICT Shop ร้านค้าจำหน่ายผลิตภัณฑ์หัตถศิลป์ไทยจากกลุ่มสมาชิก SACICT
นายวีรศักดิ์ฯ กล่าวต่ออีกว่า ในแต่ละปีงานอัตลักษณ์แห่งสยามถือได้ว่ามีการพัฒนาและขยายพื้นที่การจัดงานเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในปีนี้ SACICT ได้จัดงานที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ซึ่งมีขนาดใหญ่ 5,400 ตร.ม. ที่ได้รับเสียงตอบรับจากกลุ่มผู้ซื้อ แฟนคลับ ชาวต่างชาติ และผู้สนใจเป็นอย่างดี คาดว่าจะมีผู้เข้าชมงานกว่า 20,000 คน และมียอดจำหน่ายสินค้าภายในงานกว่า 50 ล้านบาท