4 กุมภาพันธ์ 2563 ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากกรณีที่กระทรวงยุติธรรมมีนโยบายพัฒนาและส่งเสริมอาชีพของผู้พ้นโทษ ผู้ถูกคุมประพฤติ เด็กและเยาวชนให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานเพื่อสร้างความเป็นธรรมและลดความเลื่อมล้ำให้บุคคลเหล่านี้สามารถประกอบอาชีพสุจริตเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวหลังพ้นโทษได้ โดยไม่กลับมากระทำความผิดซ้ำ แต่หลังจากพ้นโทษแล้วบุคคลเหล่านี้ถือเป็นบุคคลที่มีประวัติทางอาชญากรรม ส่งผลให้นายจ้างหรือผู้ประกอบการปฏิเสธรับเข้าทำงาน ดังนั้น รัฐจึงมีมาตรการส่งเสริมให้นายจ้างหรือผู้ประกอบการจ้างงานผู้พ้นโทษที่ได้รับการปล่อยตัว
วันนี้ ครม.จึงอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจ้างงานผู้พ้นโทษเข้าทำงาน) โดยมีสาระสำคัญ คือ
1.กำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีโดยยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งรับผู้พ้นโทษที่ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำเป็นระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี นับแต่วันที่ปล่อยตัวเข้าทำงาน สำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละ 50 ของรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างงานผู้พ้นโทษเฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 15,000 บาทต่อคนต่อเดือน ในรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563
2. กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นี้ ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 59 แห่งประมวลรัษฎากร ผ่านระบบอินเตอร์เน็ตภายในกำหนดตามกฎหมาย ตั้งแต่เดือนที่รับผู้พ้นโทษเข้าทำงานจนถึงเดือนสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้
3. กำหนดนิยาม “ผู้พ้นโทษ” หมายถึง นักโทษเด็ดขาด มีสัญชาติไทยที่ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ เนื่องจากครบกำหนดโทษตามหมายศาล ลดวันต้องโทษจำคุก หรือพักการลงโทษ
ทั้งนี้ มาตรการทางภาษีดังกล่าวจะทำให้รัฐจัดเก็บภาษีลดลงประมาณ 6,732 ล้านบาท แต่มีประโยชน์ในการสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมสนับสนุนการจ้างงานผู้พ้นโทษให้มีอาชีพสุจริตก่อให้เกิดรายได้ที่พึ่งพาตนเองอย่างมีศักดิ์ศรี และสร้างโอกาสให้ผู้พ้นโทษกลับคืนสู่สังคมได้อย่างมั่นคงและลดการกลับมากระทำความผิดซ้ำ รวมถึงเสริมสร้างตลาดแรงงานในระบบเศรษฐกิจของไทยที่ขาดแคลนโดยไม่ต้องพึ่งพาแรงงานประเทศเพื่อนบ้าน