วันนี้ (23 เมษายน 2563) นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เปิดเผยข้อมูลสถิติคดีความผิดตามพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ที่เข้าสู่การพิจารณาของศาลชั้นต้นทั่วประเทศ ซึ่งศูนย์ข้อมูลคดี สำนักแผนงานและงบประมาณสำนักงานศาลยุติธรรม ได้รวบรวมสถิติคดีดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ภายหลังรัฐบาลประกาศเคอร์ฟิว ห้ามบุคคลใดออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 22.00 น. ถึงเวลา 04.00 น. โดยไม่มีความจำเป็น และได้มีการผ่อนปรนข้อยกเว้นการห้ามออกนอกเคหสถานในช่วงเคอร์ฟิวสำหรับบางอาชีพเพิ่มเติมตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ ๓) ซึ่งมีผลคับใช้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา
โดยภาพรวมสถิติคดีสะสมตั้งแต่วันที่ 3 – 23 เมษายน 2563 (รวม 20 วัน) มีจำนวนคดีที่เข้าสู่การพิจารณาของศาล ดังนี้
กลุ่มศาลอาญา ศาลจังหวัด และศาลแขวง
1. จำนวนคดีที่ขึ้นสู่การพิจารณา ทั้งหมด 15,961 คดี
2. จำนวนคดีที่พิพากษาแล้วเสร็จ ทั้งหมด 14,984 คดี (คิดเป็นร้อยละ 93.88)
3. ข้อหาที่มีการกระทำความผิด
3.1) พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 จำนวน 18,203 คน (สัญชาติไทย 17,135 คน / สัญชาติอื่น 1,068 คน)
3.2) พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 จำนวน 258 คน (สัญชาติไทย 241 คน / สัญชาติอื่น 17 คน)
3.3) พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 จำนวน 13 คน (สัญชาติไทย 13 คน / สัญชาติอื่น - คน)
4. จังหวัดที่มีผู้กระทำความผิด สูงสุด 3 อันดับ ในแต่ละข้อหา
4.1) พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
อันดับ 1 จังหวัด กรุงเทพมหานคร จำนวน 1,261 คน
อันดับ 2 จังหวัด ปทุมธานี จำนวน 873 คน
อันดับ 3 จังหวัด ชลบุรี จำนวน 766 คน
4.2) พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 อันดับ 1 จังหวัด ชลบุรี จำนวน 92 คน
อันดับ 2 จังหวัด สมุทรสาคร จำนวน 41 คน
อันดับ 3 จังหวัด ยะลา จำนวน 21 คน
4.3) พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542
อันดับ 1 จังหวัด เชียงราย จำนวน 6 คน
อันดับ 2 จังหวัด นนทบุรี จำนวน 2 คน
อันดับ 3 จังหวัดตาก,กรุงเทพมหานคร,นราธิวาส,สุรินทร์,น่น จำนวน 1 คน
กลุ่มศาลเยาวชนและครอบครัว
1. จำนวนคำร้องที่ขอตรวจสอบการจับ รวมทั้งสิ้น 981 คำร้อง
2. ข้อหาที่เข้าสู่การตรวจสอบจับกุม
2.1) พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 จำนวน 1,043 คน (สัญชาติไทย 1,021 คน / สัญชาติอื่น 22 คน)
2.2) พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 จำนวน 6 คน (สัญชาติไทย 6 คน / สัญชาติอื่น - คน)
2.3) พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ยังไม่พบผู้กระทำความผิด
3. ผลการตรวจสอบการจับ จำนวน 1,053 คน
3.1) ชอบด้วยกฎหมาย จำนวน 1,049 คน
3.2) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำนวน 4 คน
ด้านนายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวว่าภายหลังจากที่มีการบังคับใช้กฎหมายพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เมื่อพิจารณาปริมาณคดีที่เข้าสู่ศาล (ช่วงแรก) ตั้งแต่วันที่ 3 - 13 เมษายน 63 มีจำนวนเฉลี่ย 818 คดี/วัน ในขณะที่ปริมาณคดีที่เข้าสู่ศาล (ช่วงหลัง) ตั้งแต่วันที่ 14-22 เมษายน 63 พบมีปริมาณคดีที่ขึ้นสู่ชั้นศาลลดลง เฉลี่ยจำนวน 772 คดี/ต่อวัน (ลดลงประมาณ 5.6%)
ทั้งนี้ อาจเนื่องจากเจ้าหน้าที่ได้บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดทั่วประเทศทำให้ผู้กระทำผิดไม่กล้าฝ่าฝืนกฎหมาย ส่วนจังหวัดที่ยังพบว่ามีการกระทำผิด ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สูงสุดกรุงเทพมหานครยังครองแชมป์ ถัดมา ปทุมธานี และชลบุรี ตามลำดับ
ส่วนกรณีมีหนุ่มไลฟ์สดเต้นวิบวับ ท้าเคอร์ฟิว โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 เมษายน ที่ผ่านมา บริเวณตลาดแห่งหนึ่งในเขตเทศบาลเมืองสระบุรี ซึ่งทางศาลแขวงสระบุรี มีคำพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินพ.ศ.2548 มาตรา 9(1), 18 ปรับ 5,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 2,500 บาท หักวันควบคุม 1 วันคงเหลือ 2,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการแสดงออกไม่เหมาะสม ทั้งนี้ ยอมรับว่ายังมีประชาชนบางส่วนที่มีความเครียดและวิตกกังวลกับสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัส แต่อยากขอให้อดทน และให้ความร่วมมือให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และแสดงออกทางด้านอื่นอย่างเหมาะสมโดยไม่ฝ่าฝืนกฎหมาย