นายสมศักดิ์ มาอุทธรณ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด เผยว่า ด้วยความห่วงใยในสถานการณ์ระบาดของไวรัส COVID -19 และเพื่อสนับสนุนนโยบายของ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ที่ประสงค์ให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการพัฒนา ผลิตเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นอย่างเร่งด่วน บริษัท จึงได้ร่วมกับ กลุ่มโตโยต้า และเอสซีจี ศึกษาวิเคราะห์สภาพปัญหาของอุปกรณ์การแพทย์ ทำให้พบว่า ปัจจุบันจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ในขั้นวิกฤติ มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยผู้ป่วยจะมีอาการปอดอักเสบรุนแรง และกระทบต่อระบบการหายใจ จนอาจถึงแก่ชีวิต จึงจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจประสิทธิภาพสูงเป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ดี จากการสำรวจจำนวนเครื่องช่วยหายใจในโรงพยาบาลทั่วประเทศ พบว่า เครื่องช่วยหายใจสำหรับผู้ป่วยขั้นต้น Bird Ventilator รุ่น Mark 7 ประมาณร้อยละ 10 หรือ 200 เครื่อง จากประมาณ 1,400 เครื่องที่มีอยู่ทั่วประเทศ ไม่สามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากเป็นรุ่นที่ผลิตสำหรับการใช้งานในโรงพยาบาลมาเป็นระยะเวลานานแล้ว ทำให้จำเป็นต้องนำเครื่องช่วยหายใจชนิดประสิทธิภาพสูงสำหรับผู้ป่วยวิกฤติมาใช้แทน จึงเกิดปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่จะส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยโควิด-19 ขั้นวิกฤติที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น รวมถึงผู้ป่วยขั้นวิกฤติอื่นๆ ด้วย
จากที่เล็งเห็นถึงความจำเป็นนี้ จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งศูนย์ซ่อมเครื่องช่วยหายใจ Bird Ventilator รุ่นดังกล่าวขึ้น ณ บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด นิคมอุตสาหกรรมนวนคร จังหวัดปทุมธานี เพื่อให้บริการซ่อมแซม การจัดหาอุปกรณ์ในการซ่อม และการจัดหาแหล่งชิ้นส่วนอะไหล่ที่จำเป็น ให้แก่โรงพยาบาลทั่วประเทศ โดยมีนายไพฑูรย์ อ่อนเอื้อน ผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องช่วยหายใจ ที่ได้รับการรับรองการฝึกอบรมจากบริษัทผู้ผลิตเครื่องช่วยหายใจ Bird Ventilator โดยตรง เป็นที่ปรึกษาตลอดโครงการ และควบคุมการทำงานอย่างใกล้ชิด ร่วมกับทีมช่างคูโบต้าเฉพาะกิจ ที่ผ่านการฝึกฝนจากผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งนี้ ขั้นตอนการทำงานของศูนย์ฯ ยังคงเน้นย้ำความปลอดภัยและสุขอนามัยในการปฏิบัติงาน โดยกำหนดให้พนักงานสวมใส่ชุด PPE และหน้ากากอนามัย พร้อมทั้งปฏิบัติตามนโยบาย Social Distancing ของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด
นอกจากนี้ ในส่วนของการซ่อมแซมฟังก์ชั่นการทำงานที่ช่วยควบคุมการผสมอ๊อกซิเจน และการตรวจสอบคุณภาพ ยังมีผู้ให้บริการด้านการแพทย์โดยตรง คือ บริษัท ไอโซเทค อินสตรูเมนท์ (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งมี อาจารย์ประเสริฐ เสริมสุข ผู้ทรงคุณวุฒิด้าน Biological และได้รับ ISO 17025 ด้านการสอบเทียบเครื่องมือทางการแพทย์ เป็นผู้รับรองคุณภาพ ทำให้มั่นใจได้ว่าเครื่องช่วยหายใจที่ได้รับการซ่อมแซมแล้วจะได้มาตรฐานที่พร้อมใช้งานกับผู้ป่วย ก่อนที่จะนำส่งคืนให้กับโรงพยาบาล
ในส่วนของกลุ่มบริษัทโตโยต้านั้น นายเกรียงศักดิ์ ปัญญา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามโตโยต้าอุตสาหกรรม จำกัด กล่าวว่า กลุ่มบริษัทโตโยต้า โดย บริษัท สยามโตโยต้า (STM) ให้การสนับสนุนเจ้าหน้าที่ในการติดต่อประสานงานโดยเร็วที่สุดกับทางโรงพยาบาลที่ประสบปัญหาเครื่องช่วยหายใจชำรุดและใช้การไม่ได้ รวมถึงประสานกับผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับใบประกาศนียบัตรรับรอง มาช่วยตรวจสอบทุกขั้นตอน พร้อมวิเคราะห์ และประเมินศักยภาพในการใช้งานของเครื่องช่วยหายใจให้ได้ตามมาตรฐานก่อนส่งกลับคืนยังโรงพยาบาล ซึ่งมีความยินดีและภาคภูมิใจที่ได้นำศักยภาพของบริษัทฯ มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือผู้ป่วยในครั้งนี้
นายอารีย์ ชวลิตชีวินกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซิเมนต์ไทยโฮลดิ้ง จำกัด กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า เอสซีจี จะสนับสนุนด้านการขนส่งโดย “เอสซีจี เอ็กซ์เพรส” ซึ่งมีความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์ในการจัดส่งอุปกรณ์ทางการแพทย์ หรืออุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อส่วนบุคคล จากองค์กรต่าง ๆ ไปยังโรงพยาบาลหรือเครือข่ายการแพทย์ทั่วประเทศ โดยมีมาตรการดูแลและป้องกันความสะอาดและปลอดภัยเป็นอย่างดี เพื่อให้การขนส่งนอกจากจะมีความรวดเร็วแล้ว ยังมีความปลอดภัยทั้งในส่วนของเครื่องช่วยหายใจ พนักงาน และผู้ใช้บริการเป็นสำคัญ
สำหรับโรงพยาบาลที่มีความประสงค์จะรับการซ่อมแซมเครื่องช่วยหายใจ สามารถติดต่อเพื่อรับการซ่อมแซมและเปลี่ยนอะไหล่ พร้อมรับ-ส่งฟรีถึงโรงพยาบาล ได้ที่คุณชุณห์ธน รัตนพรสมปอง โทรศัพท์ 089-834-4370
สยามคูโบต้ามุ่งมั่นที่พร้อมจะอยู่เคียงข้าง และร่วมมือกันกับองค์กรชั้นนำต่างๆ ในการช่วยเหลือให้พี่น้องชาวไทยผ่านพ้นวิกฤตการระบาดของไวรัส COVID-19 ไปด้วยกัน พร้อมทั้งขอชื่นชมและเป็นกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์ที่เสียสละทำงานหนักเพื่อรักษาผู้ป่วย และร่วมกันหยุดการระบาดของไวรัส COVID-19 ให้ผ่านไปโดยเร็ว