จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19ประเทศไทยมีมาตรการสำคัญเพื่อแก้ปัญหาสถานการณ์ดังกล่าวที่นับเป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยประกาศใช้ข้อกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ทั้งด้านการห้ามเข้าพื้นที่เสี่ยง การปิดสถานที่เสี่ยงต่อการติดต่อโรค มาตรการป้องกันโรคด้วยการทำความสะอาดผิวสัมผัสของสถานที่ต่างๆ การสวมหน้ากากอนามัยการล้างมือการเว้นระยะห่างการควบคุมจำนวนผู้ร่วมกิจกรรมไม่ให้แออัด หรือควบคุมการออกนอกเคหะสถานในเวลาที่กำหนด เป็นต้น ทั้งนี้ สถานการณ์ดังกล่าวจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นได้ ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของประชาชนต่อการปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ ดังกล่าว
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จึงร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาวิจัย “เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมว่าด้วยเส้นทางชีวิตและกิจกรรมร่วมของครัวเรือนไทยภายใต้สถานการณ์โควิด-19” ในช่วงสำคัญของการควบคุมการระบาดโควิค-19 โดยทำการศึกษาวิจัย Behavioral Insights ของครัวเรือนไทยภายใต้สถานการณ์ฯ ในด้านความรู้ความเข้าใจ ความตระหนักและการปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขของประชาชน ลักษณะปัจเจกบุคคล ครัวเรือนและชุมชนที่มีผลต่อประเด็นต่างๆ ดังกล่าว ศึกษาถึงลักษณะวิถีชีวิตแบบใดที่จะเป็นอุปสรรคหรือทำให้ประชาชนจะสามารถปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขได้ ตลอดจนเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมที่จะนำมาออกแบบนโยบายที่เหมาะกับการสื่อสารและการนำนโยบายไปใช้ได้ประสบความสำเร็จ รวมทั้งได้ศึกษาเปรียบเทียบพฤติกรรมของประชาชนตามมาตรการต่างๆ ในช่วงล็อคดาวน์ (5-9 เม.ย.) และหลังล็อคดาวน์ 2 สัปดาห์ (18-19 เม.ย.) กับ 4 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ผู้อยู่อาศัยในเขตเมือง (คนในเขตเมือง) ผู้อยู่อาศัยในเขตเมืองแต่รายได้น้อย (คนจนเมือง) ผู้อยู่อาศัยนอกเขตเมืองในต่างจังหวัด (คนชนบท) และผู้อยู่อาศัยในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คนชายแดนใต้) ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่มีลักษณะน่าสนใจต่อความสำเร็จของการควบคุมการระบาด เช่น ลักษณะการอยู่ร่วมกันของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งพบว่าคนจนเมืองมีสมาชิกในบ้านโดยนอนรวมกันมากที่สุด, คนชายแดนใต้มีสมาชิกครัวเรือนสูงที่สุด เป็นต้น
ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ ผู้จัดการงานวิจัยอาวุโส สวรส. กล่าวว่า งานวิจัยดังกล่าว เป็นหนึ่งในงานวิจัยเชิงระบบของ สวรส. ที่เร่งดำเนินการเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์การระบาดโควิด-19 เพื่อนำข้อมูลสนับสนุนให้หน่วยงานหลักและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนามาตรการหรือปรับการดำเนินงาน โดยนำข้อมูลสะท้อนกลับให้แก่ผู้กำหนดนโยบายเพื่อการแก้ปัญหาในสถานการณ์นี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตลอดจนการออกแบบแนวคิดเพื่อพัฒนาการสื่อสารมาตรการต่างๆ ให้เหมาะสมกับสังคมไทยต่อไป
ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เครือข่ายวิจัยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข เปิดเผยผลสำรวจข้อมูลเจาะลึกพฤติกรรม ความรู้ความเข้าใจ ทัศนคติของประชาชนว่า ประชาชนและสถานประกอบการส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือตามมาตรการด้านสาธารณสุขเป็นอย่างดี ทั้งการใส่หน้ากากอนามัย การอยู่บ้าน ล้างมือ และมีความตื่นตัวในการเฝ้าระวังโรค การรับรู้ข่าวสารและเข้าใจมาตรการต่างๆ ของรัฐ พร้อมที่จะปฏิบัติตามข้อแนะนำของฝ่ายสาธารณสุข แต่มีข้อจำกัดจากลักษณะครัวเรือนและการใช้ชีวิตในแต่ละวัน ส่งผลให้บางมาตรการได้ผลน้อย รวมทั้งการศึกษายังทำการเปรียบเทียบผลการสำรวจบางประเด็นในช่วงเพิ่งล็อคดาวน์ กับหลังจากล็อคดาวน์แล้ว 2 สัปดาห์ ที่พบประเด็นที่น่าสนใจต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมการระบาดของรัฐ และประเด็นความสำเร็จจากความร่วมมือกับมาตรการต่างๆ ของประชาชน
งานวิจัยสำรวจข้อมูลกับกลุ่มเป้าหมายทั้ง 4 กลุ่ม โดยศึกษาพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันและการทำกิจกรรมร่วมกัน พบว่าคนไทยทั่วประเทศติดตาม รับรู้ข้อมูลข่าวสาร และมาตรการป้องกันจากหน่วยงานสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด มีทัศนคติต่อข้อมูลเหล่านั้นดี และยินดีปฏิบัติตามคำแนะนำของรัฐ โดยเฉพาะคนในเขตเมือง ไม่มีกิจกรรมร่วมกันหรือไม่สังสรรค์ร่วมกัน สูงถึง 94% ไม่สัมผัสผู้ป่วยที่มีอาการหวัด 96% ไม่เข้าไปยังพื้นที่แออัด 75% ล้างมือก่อนกินข้าวทุกครั้ง 85% เป็นต้น
ส่วนการใช้มือจับหน้าและการทำ social distancing ยังไม่ดีนักในกลุ่มคนจนเมือง เนื่องจากเป็นกลุ่มที่หลีกเลี่ยงการใช้ชีวิตในพื้นที่แออัดไม่ได้ เช่น ในชุมชน ตลาดสด และการใช้รถสาธารณะ พบข้อมูลยังสูงอยู่ โดยยังไปในพื้นที่แออัด 1 ครั้งคิดเป็น 35% มากกว่า 1 ครั้ง 22% และสัดส่วนของจำนวนคนต่อการใช้พื้นที่ของกลุ่มคนจนเมืองมีค่อนข้างหนาแน่น ซึ่งมักอยู่รวมกันในห้องเดียวหลายคนด้วยเพราะสภาพทางเศรษฐกิจ รวมถึงคนชายแดนใต้ยังต้องมีกิจกรรมทางศาสนาและคนชนบทยังไปมาหาสู่กันอยู่ ดังนั้นการเว้นระยะห่างระหว่างกันจึงได้รับความร่วมมือน้อยกว่าคนในเขตเมือง
นอกจากนี้ งานวิจัยยังพบอีกว่า 89% ของกิจกรรมร่วมกันหรือการสังสรรค์กันเกิดขึ้นภายในบ้านตนเองหรือบ้านเพื่อนและญาติ ดังนั้นนอกจากการปิดสถานที่ต่างๆ แล้ว ควรประชาสัมพันธ์ให้หลีกเลี่ยงหรือระมัดระวังการแพร่เชื้อจากการเดินทางไปบ้านคนอื่นด้วย ด้านช่องทางสื่อที่มีประชาชนติดตามมากที่สุดคือ โทรทัศน์ รองลงมาเป็นสื่อออนไลน์ ส่วนคนชนบทช่องทางการสื่อสารผ่านตัวคน เช่น ครอบครัว เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ญาติ คนในชุมชน เสียงตามสาย ยังมีอิทธิพลต่อการรับรู้ข่าวสารต่างๆ ทั้งนี้จากผลการสำรวจข้อมูลดังกล่าว ทีมวิจัยมีข้อเสนอแนะต่อการสื่อสารเรื่องการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคคือ ควรมีคำแนะนำหรือข้อปฏิบัติบอกว่าต้องทำอย่างไร ถ้าต้องอยู่ร่วมกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น วิธีปฏิบัติตัวก่อน-หลังเข้าบ้าน วิธีใช้ห้องน้ำร่วมกัน ฯลฯ โดยรัฐควรมองขอบเขตการควบคุมจากระดับบุคคลให้เป็นระดับครัวเรือน รวมถึงควรมีมาตรการหลากหลายให้เหมาะสมกับพื้นที่และพฤติกรรมของครัวเรือน ตลอดจนการสื่อสารที่เน้นย้ำถึงการไม่แสดงอาการของโรค ลักษณะของการแพร่เชื้อที่เกิดขึ้นได้ง่าย ควบคู่กับการแสดงให้เห็นถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นจากการขยายระยะเวลาของมาตรการต่างๆ ที่ยาวนานออกไป เนื่องจากจะทำให้คนปฏิบัติตามแนวทางสาธารณสุขมากขึ้น” ผศ.ดร.ธานี กล่าว
ส่วนการเปรียบเทียบผลการสำรวจบางประเด็นใน 2 ช่วงเวลา คือ ช่วงเพิ่งล็อคดาวน์กับหลังจากล็อคดาวน์แล้ว 2 สัปดาห์ จากการตอบคำถามโดยคนเดิมพบว่า คนติดตามข่าวอย่างใกล้ชิดและลงในรายละเอียดน้อยกว่าช่วงที่มีการล็อคดาวน์ใหม่ๆ และมีความตั้งใจปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ ลดลงมาก และคนส่วนใหญ่คิดว่าตนเองมีโอกาสติดเชื้อโควิด-19 ลดลงอย่างชัดเจน โดยจากเดิมประมาณ 60% คิดว่าตนเองมีโอกาสติดค่อนข้างน้อยหรือน้อย เพิ่มเป็นเกือบ 80% ซึ่งอาจส่งผลให้การปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขลดลงด้วยเช่นกัน นอกจากนี้คนส่วนใหญ่เคร่งครัดต่อการปฏิบัติตามมาตรการลดลง โดยเฉพาะมาตรการ social distancing ดังจะเห็นได้จากข้อมูลการออกไปทำกิจกรรม/สังสรรค์ ช่วงเพิ่งล็อคดาวน์ 5.0% หลังจากล็อคดาวน์ 8.5% แต่การปฏิบัติตัวตามมาตรการของแต่ละสถานที่กำหนด เช่น ร้านสะดวกซื้อ ตลาด กลับพบว่าดีขึ้นอย่างชัดเจน ทั้งนี้ หากมีการล็อคดาวน์ต่อ ความตั้งใจในการปฏิบัติตามอาจไม่กลับสู่ค่าเดิมในช่วงแรกของการล็อคดาวน์ได้อีก เนื่องจากความล้าทางพฤติกรรมและความกดดันทางเศรษฐกิจ ดังนั้นจึงควรสื่อสารให้ชัดเจนว่าต้องปฏิบัติต่อไปแม้จะรู้สึกว่าสถานการณ์ดีขึ้นแล้ว และยังมีคนอื่นในสังคมที่ให้ความร่วมมืออย่างเคร่งครัดอีกเป็นจำนวนมาก หรือหากจะยกเลิกการล็อคดาวน์ ควรใช้มาตรการขอความร่วมมือให้สถานประกอบการหรือพื้นที่ต่างๆ ออกกฎบังคับหรือมีบทลงโทษกับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎของสถานที่ เนื่องจากพบว่าคนส่วนใหญ่ปฏิบัติตามกฎของสถานที่เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ ข้อมูลงานวิจัยดังกล่าวได้ถูกนำเสนอเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการพิจารณาจัดทำร่างข้อเสนอแนวทางการผ่อนปรนมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ของประเทศต่อไป