คำถามที่สำคัญคือ เราต้องปฏิรูปอะไร อย่างไร องค์กรจึงจะมั่นคงยั่งยืน
คำตอบนี้ ดร.จันทรชัย ถวิลพิพัฒน์กุล จากสถาบันอินทรานส์ Hipot เสนอแนวทางการปฏิรูปมนุษย์ “To Reach Sustainability: 9 Shifts From Change to Transformation” ที่ศึกษาไว้อย่างดี เพื่อผลักดันให้เกิดการเปลียนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ มั่นคงและยั่งยืน
1.From Human Development to Life Development เพราะองค์กรคือชีวิต บุคลากรมีความรู้สึกนึกคิด มีตัวตนที่ต้องการคุณค่าและความหมาย การปฏิรูปเพื่อความยั่งยืนจึงต้องเริ่มด้วยการปรับมุมมองจากการพัฒนาคนมาเป็นการพัฒนาชีวิต เพราะมันให้คุณค่าและความหมายที่สูงกว่า
2.From Partial Development to Integral Transformation เราไม่สามารถพัฒนาองค์กรไปสู่ความยั่งยืนได้ด้วยมุมมองการพัฒนาอย่างแยกส่วน แต่ต้องปรับมุมมองใหม่ให้เป็นองค์รวม ครอบคลุมทุกมิติชีวิต คือ จิตใจ ปัญญา อารมณ์ และพฤติกรรม โดย
-จิตใจ คือ มีความสามารถในการนำตนเองเชิงรุก สร้างแรงบันดาลใจได้ด้วยตนเอง
-ปัญญา คือ มีแนวคิดเชิงระบบ การมองภาพเชิงองค์รวม เพื่อการแก้ปัญหาเชิงซับซ้อน และสร้างสรรค์นวัตกรรมที่มีคุณค่าเชิงเศรษฐกิจ
-อารมณ์ คือ มีความมั่นคงทางอารมณ์ เชื่อมั่นในตนเอง มีภูมิต้านทาน ไม่หวั่นไหว เห็นคุณค่าตนเอง
-พฤติกรรม คือ มีภาวะผู้นำ สามารถดึงศักยภาพทีมงานออกมาได้อย่างเต็มที่ สร้างทีมงานให้เป็นหนึ่งเดียวบนฐานของศรัทธา
3.From Effectiveness to Sustainability เพราะองค์กรมีมิติของเวลา มีพัฒนาการ มีความต่อเนื่องเชื่อมโยง ดังนั้น การพัฒนาจึงต้องก้าวข้ามจากเพียงเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพ มาเป็นการพัฒนาเพื่อการเติบโตอย่างสมดุล เข้มแข็ง มั่นคง ยั่งยืน
4.From Behavioral Change to Paradigm Shift ความยั่งยืนขององค์กรไม่สามารถจะสร้างได้ด้วยเพียงการปรับแต่งพฤติกรรมของบุคลากร ซึ่งเป็นเรื่องผิวเผิน ฉาบฉวย แต่ต้องเป็นการปรับเปลี่ยนที่ฐานรากชีวิต นั่นคือ กรอบความคิด เพื่อยกระดับศักยภาพภายในและขับออกมาให้สามารถนำตนเองได้อย่างแท้จริง
5.From Hard Skills to Balance of Hard Skills and Soft Skills องค์กรส่วนใหญ่มักให้ความสำคัญต่อการพัฒนาความสามารถด้านการบริหารจัดการเพียงลำพัง เพราะมันให้ผลเร็ว แต่นั่นไม่เพียงพอต่อการนำองค์กรสู่ความยั่งยืน เราจึงต้องปรับมุมมองใหม่มาเป็นการพัฒนาอย่างสมดุล ของทั้งความสามารถด้านเทคนิคและความสามารถด้านทักษะชีวิต เพราะชีวิตมิได้มีแต่เฉพาะด้านกายภาพเท่านั้น แต่มีความรู้สึกนึกคิดด้วย
6.From Focusing on End Result to Learning Process องค์กรที่เข้มแข็งไม่สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยการลอกเลียนแบบหรือมุ่งเน้นแต่ผลลัพธ์สุดท้าย แต่ต้องมาจากการสร้างกระบวนการเรียนรู้ซึ่งเกิดจากมุมมองเชิงระบบที่ว่า ปัญญาและกระบวนการเรียนรู้ใดๆ เกิดจากการเชื่อมโยงที่หลากหลายขององค์ประกอบที่แตกต่าง
7.From linear Approach to Complex Systematic Approach เราต่างทราบดีว่าการทำงานคือ การแก้ปัญหา และเป้าหมายคือความยั่งยืน แต่การแก้ปัญหาเชิงยั่งยืนไม่สามารถจัดการได้ด้วยมุมมองเส้นตรงเชิงเดี่ยว แต่ต้องเป็นการเปิดมุมมองใหม่ว่า ความท้าทายใดๆ มันเป็นปัญหาเชิงซ้อน ปัญหาต่างๆ จึงทับซ้อนกันอย่างไม่อาจแยกออกจากกันได้ การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนจึงต้องเป็นการพิจารณาเชิงระบบซ้อนระบบ8.From Formal Education to Lifelong Learning เพราะชีวิตเป็นกระบวนการสืบเนื่องเชื่อมโยงในทุกขณะ เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ชีวิตจึงมิได้เกิดมาเพื่อเรียนรู้ แต่ชีวิตคือกระบวนการเรียนรู้โดยตัวของมันเอง การเรียนรู้ที่แท้จริงจึงเป็นกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต องค์กรที่ยั่งยืนจึงต้องเสริมสร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
9.From Change Others to Change at Self เพราะธรรมชาติไม่เคยหยุดนิ่ง อ่อนไหว ซับซ้อน และคลุมเครือ บุคลากรต้องปรับตามเพื่อความอยู่รอดและการเปลี่ยนแปลงใดๆ ต้องเริ่มที่ตนเองก่อนเสมอ ด้วยมุมมองดังกล่าว ทั้งองค์กรจึงจะถูกยกขึ้นทั้งระบบ .