4 พฤษภาคม 2563 นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีที่มีการมาตรการผ่อนปรนให้ 6 ประเภทกิจการสามารถเปิดให้บริการลูกค้าได้ตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา ต่อมาปรากฏภาพที่เผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์มีคนจำนวนมากเบียดเสียดกันแย่งซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ภายหลังที่รัฐบาลมีการผ่อนปรนมาตรการและอนุญาตให้ร้านค้าสามารถจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แบบซื้อกลับ โดยห้าม บริโภคในร้าน ตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป แสดงให้เห็นว่าประชาชนเริ่มหย่อนมาตรการไม่คำนึงถึงการ เว้นระยะห่าง (Social Distancing) ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด 19 หากในช่วงเวลานั้นมีผู้ป่วยเพียง 1 คน อาจทำให้มีผู้ติดเชื้อจากการสัมผัสใกล้ชิดตามมาเป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ดี มีคำเตือนจากผู้เชี่ยวชาญของ องค์การอนามัยโลก ( WHO) และไทยว่า ไม่ควรจะประมาทโควิดว่าจะกลับมาระบาดระลอก 2 หรือไม่ ซึ่งหลายประเทศที่มีการะบาดระลอก 2 นั้น จะพบว่า จะมียอดผู้ติดเชื้อมากว่ารอบแรก และหลายประเทศก็ยังมีการระบาดระลอก 3 ซึ่งก็หวังว่า การผ่อนปรนมาตรการของรัฐครั้งนี้จะไม่นำมาสู่การระบาดระลอก 2 ของไทย และถ้าหากจะมีผู้ป่วยใหม่รายใหม่เพิ่มก็หวังว่าจะเป็นผู้ป่วยจำนวนน้อย ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการรับมือโดยผู้ประกอบการจะต้องลดจำนวนผู้ใช้บริการในแต่ละช่วงเวลา พร้อมทั้งคัดกรองผู้ที่มีไข้ไม่ให้เข้ามาใช้บริการ รวมถึงตั้งจุดเจลแอลกอฮอล์ไวให้ด้วย
ส่วนกรณีที่มีผลการตรวจผู้ติดเชื้อโควิดจากการตรวจเชิงรุกในจังหวัดยะลา 40 คนคลาดเคลื่อนนั้น นพ.โสภณ ระบุว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็นการค้นหาผู้ป่วยในพื้นที่ๆพบผู้ป่วยมาก่อนหน้านี้ซึ่งข้อมูลที่ได้รับแจ้งล่าสุดยังต้องรอการยืนยันผลตรวจจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ส่วนกลางเสียก่อน หลังจากที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์สงขลา ระบุว่า ผลตรวจไม่ตรงกับสถานบริการในพื้นที่ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า ได้มีการนำคนทั้ง 40 รายดังกล่าวมาอยู่ในการเฝ้าดูแลอาการของโรงพยาบาลอย่างใกล้ชิดแล้ว ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีใครที่มีอาการ และผู้ที่ไม่แสดงอาการจะพบโอกาสในการติดเชื้อโควิดน้อย
ส่วนการตั้งข้อสังเกตถึงปัจจัยการพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในภาคใต้ที่ยังมีตัวเลขที่สูงเมื่อเทียบกับภาพรวมของทั้งประเทศที่มีแนวโน้มตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงว่า ถ้าดูจากตัวเลขของกทม. และปริมณฑล จังหวัดท่องเที่ยว และจังหวัดชายแดน ก็จะพบว่ามีผู้ติดเชื้อจำนวนมากซึ่งมีปัจจัยร่วมสำคัญประการหนึ่งคือ การเดินทาง การเคลื่อนย้ายของคนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา พบตัวเลขผู้ติดเชื้อจำนวนมากเนื่องจากการเคลื่อนย้ายคน ซึ่งทางภาคใต้นั้นมีคนเดินทางกับจากการประกอบศาสนกิจจำนวนมาก แต่มองอีกมุมก็ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ได้นำมารักษา ซึ่งมีประวัติเดินทางไปมาหาสู่ และมีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยก่อนหน้านั้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและคนไทยที่ให้บริการ และแรงงานผิดกฎหมาย
ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลไทยจะมีการระบาดระลอก 2 หรือไม่นั้น ยืนยันว่า กระทรวงสาธารณสุขได้มีมาตรการเฝ้าระวังจากกลุ่มที่มีอาการโรคทางเดินหายใจ อาทิ ไข้หวัดใหญ่ ซึ่งสัปดาห์หน้าจะเฝ้าติดตามประเมินดูเปอร์เซ็นต์ว่าจะมีความสัมพันธ์กับผู้ป่วยโควิดหรือไม่ รวมถึงการเฝ้าระวังพฤติกรรมของประชาชนในการเข้มงวดในการปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันทางสุขอนามัยส่วนบุคคล หากพบผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นในสัปดาห์หน้าก็จะต้องมีการค้นหาจุดอ่อนเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งให้มากขึ้นโดยจะได้มีการประเมินผลระยะยาวอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ยืนยันว่า สธ.มีมาตรการเตรียมความพร้อม วางแผนรับมือโดยมีการจัดยาต้านไวรัสชุด PPE และอุปกรณ์การตรวจหาเชื้อต่างให้เพียงพอกับจำนวนผู้ป่วยระลอก 2 ที่อาจจะเกิดขึ้นได้