นายพินิจ บุญเลิศ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ได้ลงนามประกาศจังหวัดปทุมธานี เรื่อง "มาตรการป้องกันเฝ้าระวังการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด19" โดยมีเนื้อหาระบุว่า ตามที่จังหวัดปทุมธานี ได้มีประกาศมาตรการเกี่ยวกับการป้องกันและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 Coronavirus Disease 2019 (COVID-19) โดยให้มีผลบังคับถึงวันที่ 30 เมษายน2563 ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มีประกาศ เรื่อง การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 1)ลงวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2563 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2563 จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคมพ.ศ.2563 และข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 4) ลงวันที่ 29 เมษายน 2563 ให้บรรดาประกาศหรือคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัด เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ ซึ่งถือว่าเป็นประกาศหรือสั่งตามข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ 2548 ยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไปเช่นเดิม จนกว่าจะได้มีข้อกำหนดประกาศ หรือคำสั่งเป็นอย่างอื่นนั้น
โดยที่เป็นการสมควรที่จะปรับปรุงมาตรการป้องกันเฝ้าระวังเพื่อให้มีความเหมาะสมกับบริบทพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล และเป็นไปตามข้อเท็จจริงจากการประเมินสถานการณ์ในปัจจุบัน อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 35 (1) แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ประกอบกับข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 1) ลงวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2563 ข้อ 7 และข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ 2548 (ฉบับที่ 5)ลงวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2563 ข้อ 2(6) ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดปทุมธานี จึงให้ปิดสถานที่ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคในพื้นที่จังหวัดปทุมธานีเป็นการชั่วคราว ดังนี้
1.โรงมหรสพ โรงภาพยนตร์ โรงละคร
2.สถานบริการ ผับ บาร์ สถานบันเทิง และสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการ
3.สวนน้ำ สวนสนุก
4.สนามเด็กเล่น สถานที่ที่จัดให้มีเครื่องเล่นสำหรับเด็ก
5.สถานที่เล่นสก็ตหรือโรลเลอร์เบรด หรือการเล่นอื่นๆ ในลักษณะเดียวกัน
6.โต๊ะสนุกเกอร์ บิลเลียด
7.สถานที่เล่นโบว์ลิ่ง หรือตู้เกม
8.ร้านเกมและร้านอินเทอร์เน็ต
9.สระว่ายน้ำสาธารณะ
10.สถานที่ออกกำลังกายฟิตเนส รวมถึงพื้นที่สาธารณะที่มีการติดตั้งอุปกรณ์การบริหารร่างกาย หรือเครื่องออกกำลังกายหรืออุปกรณ์อื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
11.สถานที่จัดนิทรรศการ ศูนย์แสดงสินค้า และศูนย์ประชุม
12.พิพิธภัณฑ์
13.ห้องสมุดสาธารณะ
14.สถานรับเลี้ยงเด็ก
15.สถานดูแลผู้สูงอายุ
16.สนามชนไก่ และสถานที่ซ้อมชนไก่
17.สนามมวย โรงเรียนสอนศิลปะการต่อสู้ (ยิม) รวมถึงสถานที่ฝึกสอนกีฬาในอาคาร
18.สถานที่สักหรือเจาะผิวหนังหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย
19.สถาบันลีลาศหรือสอนลีลาศ
20.สถานประกอบกิจการอาบน้ำ อบไอน้ำ อบสมุนไพร
21.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ สถานประกอบการนวดแผนไทย นวดฝ่าเท้า เว้นแต่การให้บริการดังกล่าวในสถานพยาบาล ตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล
22.สถานประกอบกิจการอาบ อบ นวด
23.คลินิกเวชกรรมเสริมความงาม
24.ศูนย์พระเครื่อง พระบูชา และสนามพระเครื่อง พระบูชา
25.ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า เว้นแต่ ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายยา หรือสินค้าเบ็ดเตล็ดที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิต ร้านขายปลีกธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม ธนาคาร ร้านจำหน่ายหรือเช่าหนังสือ ที่ทำการหน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจ ส่วนแผนกร้านอาหารให้เปิดได้เฉพาะการจำหน่ายอาหารเพื่อนำกลับไปบริโภคที่อื่น
26.สถานที่จำหน่ายวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างขนาดใหญ่ บริเวณพื้นที่แสดงสินค้าในอาคาร (ไม่รวมถึงพื้นที่สำหรับการขนถ่ายสินค้า) โดยมิให้นำสินค้าหรือบริการที่จัดแสดงหรือจำหน่ายตามปกติภายในอาคารออกมาจำหน่ายหรือบริการภายนอกอาคาร