การทำงาน ต้องคิดถึงภาพรวมของบริษัท และต้องทุ่มเท ต้องทำตัวให้ทุกคนยอมรับในความสามารถ รวมถึงการเรียนรู้และพิสูจน์ตัวเอง ตลอดจนวางตัวจนทุกคนเชื่อมั่น อะไรที่เห็นว่าสามารถพัฒนาก็พร้อมเดินหน้าผลักดันจนเกิดผล ไม่ใช่สนใจเพียงงานวิชาการที่รับผิดชอบอยู่เท่านั้น
ในแวดวงวิชาการด้านอาหารสัตว์ ชื่อของ “คุณหน่อย - ภัทนีย์ เล็กศรีสมพงษ์” รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ด้านวิชาการอาหารสัตว์ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เป็นที่รู้จักในนามของผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และการคิดค้นสูตรอาหารสัตว์ ที่มากฝีมือคนหนึ่ง เธอก้าวเข้าสู่ธุรกิจอาหารสัตว์ ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ทันทีที่เรียนจบสาขาวิทยาศาสตร์เคมี จาก Eastern Kentucky University สหรัฐอเมริกา โดยหน้าที่แรกที่รับผิดชอบคือ เจ้าหน้าที่คำนวณสูตรอาหารสัตว์
เธอได้นำความรู้ความสามารถมาพัฒนาสูตรอาหารสัตว์บก ส่งผลให้ธุรกิจอาหารสัตว์ของเครือเจริญโภคภัณฑ์เติบโตเป็นที่ยอมรับ และยังเป็นจุดเริ่มต้นให้เครือเจริญโภคภัณฑ์ต่อยอดแตกแขนงธุรกิจในสายอาหารออกไปได้อีกมากมาย
“ภัทนีย์” ถือเป็นผู้คำนวณสูตรอาหารสัตว์ (Feed Formulator) คนแรกของเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่พัฒนางานภายใต้วิสัยทัศน์ของเครือฯ ที่เน้นการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ด้วยการลงทุนนำเข้าเครื่อง Analog computer เครื่องแรกของเอเชีย (ปี 1975) จากประเทศไอร์แลนด์ เพื่อคำนวณสูตรอาหาร และยังมีห้องปฎิบัติการทางเคมีที่ทันสมัย รวมทั้งการลงทุนสร้างศูนย์วิจัยอาหารสัตว์ (Research Center) จนปัจจุบันได้ขยายไปสู่ทุกสาขาในต่างประเทศที่เครือซีพีเข้าไปลงทุน โดยมีหัวใจสำคัญ คือ การควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วทุกประเทศ
การทำงาน “ภัทนีย์” บอกว่า ต้องเน้นคุณภาพและโภชนาการที่ตรงกับความต้องการของสัตว์ในแต่ละวัย รวมถึงความต้องการของตลาด ซีพีเลือกที่จะลงทุนเครื่องมือที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและทันสมัยในห้องปฏิบัติการทางเคมี เพื่อการตรวจสอบคุณภาพอาหารสัตว์ เช่น ตรวจหาสิ่งปนเปื้อนหรือสารอาหารตกค้าง รวมถึงการตรวจหาสารตกค้างในเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ยังลงทุนในศูนย์วิจัยและนวัตกรรมอาหารสัตว์บกอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบันการทำงานด้านอาหาร ได้ก้าวหน้าไปถึงการใช้เทคโนโลยีชีวภาพ (Bio Technology) ที่ศึกษาลึกถึงระดับหน่วยย่อยของชีวโมเลกุล ใช้เทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูง ศึกษาถึงในระดับพันธุกรรม รวมถึงมีการลงทุนขยายโรงเรือนอุปกรณ์และเครื่องมือที่ทันสมัย ในขณะเดียวกัน คนทำงาน ก็ต้องเปิดรับความรู้ใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะในระดับบริหาร
การทำงานของนักวิชาการอาหารสัตว์ส่วนใหญ่ มักใช้เวลาในสำนักงาน แต่ “ภัทนีย์” เน้นการลงพื้นที่ทั้งในและต่างประเทศที่ซีพีมีธุรกิจอาหารสัตว์ เพื่อตรวจเยี่ยมโรงงานและฟาร์ม รวมทั้งการพบปะเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ และตัวแทนจำหน่าย เพื่อรับทราบข้อมูลที่แท้จริงด้วยตัวเอง ในขณะเดียวกัน การทำงานร่วมกับทีม ก็ต้องรับฟัง เปิดกว้าง ทั้งบุคลากรในทีมและหน่วยงานอื่นๆ ควบคู่กับการเปิดกว้างเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ การเข้าร่วมสัมมนาวิชาการระดับโลก
นอกจากการเปิดกว้าง รับฟังเสียงของทีมงานแล้ว ผู้บริหารท่านนี้ ยังทำหน้าที่เป็นโค้ช ถ่ายทอดความรู้ที่มีประโยชน์ให้กับทีมงาน ที่มีอยู่กว่า 900 คนต่อเนื่อง เพื่อทำให้ทุกคนได้พัฒนาไปพร้อมๆ กัน พัฒนางานให้เดินหน้าไปในทิศทางเดียวกันอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ เธอยังให้นโยบายชัดเจน เกี่ยวกับการพัฒนาหัวหน้างาน ให้โอกาสเรียนรู้และทำงาน ส่งเสริมการเรียนเพิ่มเติม ทั้ง Training Program หรือ Short Course ตลอดปี รวมถึงให้โอกาสพร้อมอำนาจตัดสินใจในการลงสนามจริง
“การทำงาน ต้องคิดถึงภาพรวมของบริษัท และต้องทุ่มเท ต้องทำตัวให้ทุกคนยอมรับในความสามารถ รวมถึงการเรียนรู้และพิสูจน์ตัวเอง ตลอดจนวางตัวจนทุกคนเชื่อมั่น อะไรที่เห็นว่าสามารถพัฒนา ก็พร้อมเดินหน้าผลักดันจนเกิดผล ไม่ใช่สนใจเพียงงานวิชาการที่รับผิดชอบอยู่เท่านั้น” ภัทนีย์สะท้อนทัศนคติการทำงานของตัวเอง
ไม่เพียงการปฏิบัติตัวภายในบริษัท แต่ยังต่อยอดไปถึงวงการวิชาการอาหารสัตว์ของประเทศชาติผ่านการทำงานเพื่อส่วนรวมและสังคม ทั้งกับสมาคมและสถาบันการศึกษาต่างๆ กระทั่งสามารถทำให้ซีพีเป็นพี่ใหญ่ที่คนในวงการวิชาการอาหารสัตว์ รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยได้รับการยอมรับในด้านวิชาการอาหารสัตว์จากเวทีโลกด้วย
ความภูมิใจในชีวิตการทำงานของผู้หญิงคนนี้ คือ การได้มีส่วนทำให้ประเทศไทยมีอาหารเพื่อสุขภาพและถูกหลักอนามัย อย่างการพัฒนาอาหารไก่ไข่ที่เสริม “ไอโอดีน” ในระดับที่เพิ่มปริมาณสูงกว่าระดับไอโอดีนในไข่ปกติ ทำให้คนไทยเข้าถึงไข่ไก่ไอโอดีนซึ่งเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายได้มากขึ้น
นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 หน้าที่ 24 ฉบับที่ 3,584 วันที่ 18 - 20 มิถุนายน พ.ศ. 2563