ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมด้วย นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และดร.แดเนียล เคอร์เทซ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย แถลงข่าวการพัฒนารูปแบบระบบบริการทางการแพทย์วิถีใหม่ (New Normal Medical Service)ในสถานพยาบาลแต่ละระดับในจังหวัดปัตตานี
ดร.สาธิต กล่าวว่า จากสถานการณ์โควิด-19 สธ.ได้พัฒนารูปแบบการให้บริการการแพทย์วิถีใหม่เพื่อให้เกิดความปลอดภัยทั้งผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์อย่างยั่งยืน นำร่องที่จังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป้าหมาย คือ
1.ให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ (2P Safety) เช่น การผ่าตัดวิถีใหม่ การแพทย์ฉุกเฉินวิถีใหม่ การทำทันตกรรมปลอดภัย
2.การลดความแออัด เน้น 2 กลวิธี คือ จัดระบบการบริการใหม่ เริ่มนำร่องในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง แยกผู้ป่วยเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มควบคุมได้ดี พบแพทย์ครั้งเว้นครั้ง โดยเลือกว่ามาที่โรงพยาบาลหรือผ่านระบบการรักษาทางไกล (Telemedicine) กลุ่มควบคุมได้ปานกลาง ที่มีปัญหาแต่ไม่รุนแรง มาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลครั้งเว้นครั้ง และมี อสม. ไปเยี่ยมบ้าน ทั้งกลุ่มควบคุมได้ดีและปานกลางสามารถรับยาผ่านช่องทางด่วนในรอบที่ไม่ต้องพบแพทย์ได้ และกลุ่มที่ควบคุมได้ไม่ดี ยังมีปัญหารุนแรง ต้องมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทุกครั้ง และมีอสม. เยี่ยมบ้าน และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยบริหารจัดการ คัดกรองและลดผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องมาโรงพยาบาล และ 3.เพิ่มการเข้าถึงบริการ ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมโดยจะขยายการดำเนินงานไปยังระดับภูมิภาคทั่วประเทศต่อไป
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
AIS ผนึก สธ. ชูโซลูชันหนุน อสม. คัดกรอง โควิด-19
ด้านนพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า โครงการพัฒนารูปแบบระบบบริการทางการแพทย์วิถีใหม่ จังหวัดปัตตานี มุ่งให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและสามารถปรับตัวให้เข้ากับฐานวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ในช่วงที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์โรคโควิด 19 รวมทั้งพัฒนาการให้บริการของโรงพยาบาลด้วยการนำระบบบริหารจัดการการให้บริการทางการแพทย์ (Model Implementation) ตั้งแต่การคัดกรอง จัดคิวผู้มารับบริการเพื่อลดความแออัด รวมถึงการให้บริการห้องผ่าตัด ห้องฉุกเฉิน ด้วยการนำระบบเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนการทำงาน ช่วยให้เกิดประสิทธิภาพอย่างสูงสุด
ขณะที่นพ.ธเรศ กล่าวว่า อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงข้อมูลอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะการติดตามดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังวิถีใหม่ ที่สามารถเคาะประตูบ้านเก็บข้อมูลผู้ป่วยเพื่อส่งเข้าสู่ระบบการติดตาม ทั้งยังช่วยเป็นส่วนหนึ่งในการให้ความรู้และสร้างความตระหนักในการประเมินตัวเองของผู้ป่วยผ่านระบบไอที โปรแกรม/ แอปพลิเคชัน ที่สามารถเชื่อมโยงเข้ากับระบบคัดกรอง นัดหมาย และจัดคิวรักษาอย่างเป็นระบบได้ต่อไป ถือว่าเป็นแนวการทำงานภายใต้ระบบการแพทย์วิถีใหม่อย่างเป็นระบบร่วมกัน
ขณะที่ ดร.แดเนียล เคอเทสซ์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ขอชื่นชมบุคลากรทางการแพทย์ของประเทศไทยทุกคนที่ทุ่มเทการทำงานท่ามกลางการระบาดของโควิด 19 โดยสามารถปรับเปลี่ยนการให้บริการด้วยการแพทย์วิถีใหม่ สะท้อนถึงระบบรากฐานทางสาธารณสุขที่เข้มแข็งของประเทศไทย ทั้งนี้ ทางองค์การอนามัยโลกจะผลักดันแนวทางการแพทย์วิถีใหม่ของประเทศไทยให้เป็นแบบอย่าง และพร้อมสนับสนุนงบประมาณให้กับประเทศไทยในการต่อสู้กับโควิด 19 อย่างเข้มแข็งต่อไป