นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการบริหาร มูลนิธิเพื่อสถาบันการศึกษาวิชาการจัดการแห่งประเทศไทย (IMET) กล่าวว่า มูลนิธิเพื่อสถาบันการศึกษาวิชาการจัดการแห่งประเทศไทย (IMET) ได้ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2526 บนความร่วมมือของทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา โดยมีเงินทุนเริ่มแรกจากองค์การให้ความช่วยเหลือระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (United States Agency for International Development) หรือ USAID มีผู้ร่วมก่อตั้ง คือ ฯพณฯ ดร. เชาวน์ณ ศีลวันต์ และมีคุณพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา (2536 – 2547) คุณชุมพล พรประภา (2554 - ปัจจุบัน) เป็นประธานมูลนิธิฯ ที่ร่วมกันพัฒนามูลนิธิฯ ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ที่ดำเนินการยกระดับศักยภาพ ความสามารถในการบริหารจัดการ และการบริหารความเปลี่ยนแปลงของผู้นำทุกระดับทั้งในระดับสูง กลาง และล่าง ในส่วนกลางและท้องถิ่น ควบคู่กับการส่งเสริมให้ผู้นำเหล่านั้นมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศและรับผิดชอบต่อสังคม นับเป็นจำนวนกว่า18,000 คนใน 76 จังหวัดทั่วประเทศ ตลอดช่วง 37 ปีที่ผ่านมา
มูลนิธิ IMET เล็งเห็นว่าการพัฒนาประเทศให้สำเร็จอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องสร้างผู้นำที่ทั้งดีและเก่ง จึงมีนโยบายในการมุ่งสร้าง และพัฒนาผู้นำระดับสูงรุ่นใหม่ ให้มีความพร้อมทั้งในด้านความสามารถและจิตสำนึกเพื่อเป็นรากฐานที่เข้มแข็งของสังคม โดยมูลนิธิ IMET ได้ริเริ่มโครงการ “IMET MAX” อย่างต่อเนื่องมาแล้ว 2 ปี โดยเปิดเป็นโครงการพัฒนาผู้นำระดับสูงรุ่นใหม่ ให้เข้ามาเป็นเมนที (Mentee) และได้มีโอกาสรับการพัฒนาด้วยกระบวนการเมนเทอริ่ง (Mentoring Process) ซึ่งประกอบด้วยการให้ข้อคิดและชี้แนะแนวทาง ทั้งในด้านการทำงานและการใช้ชีวิตอย่างครบถ้วนรอบด้าน พร้อมเสริมสร้างจิตสำนึกในคุณค่าเพื่อสังคม ตลอดจนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จากผู้บริหารชั้นแนวหน้าของประเทศที่ได้รับการยอมรับนับถือของสังคมอย่างสูงจำนวน 12 ท่าน
มูลนิธิฯ ได้เชื้อเชิญและรับเกียรติจากเมนเทอร์ (Mentor) ผู้ทรงคุณวุฒิในพันธกิจสร้าง “อุทยานผู้นำ” ให้กับประเทศอาทิ 1) คุณบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) 2) คุณสมประสงค์ บุญยะชัย รองประธานกรรมการ บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) 3) ศ.(พิเศษ) กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการบริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด 4) คุณประภาส ชลศรานนท์ รองประธาน บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเม้นท์จำกัด (มหาชน) 5) คุณขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เป็นต้น
ทั้งนี้เมนเทอร์ (Mentor) ทุกท่านที่เข้าร่วมโครงการต่างเป็นอาสาสมัคร และเสียสละพร้อมทุ่มเททำหน้าที่โดยไม่มีค่าตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น เป็นตัวอย่างของบุคลากรคุณภาพของชาติในการทำงานเพื่อสังคมอย่างแท้จริง โดยมูลนิธิ IMET เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการดำเนินโครงการทั้งสิ้น และผู้เข้าร่วมโครงการทุกท่านไม่ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการเข้าร่วมโครงการ IMET MAX เพียงมุ่งหวังให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ
ด้านนายธนพล ศิริธนชัย ประธานโครงการ IMET MAX (Mentorship Academy for Excellent Leaders) กล่าวว่า “เราเชื่อว่ารูปแบบการเรียนรู้ ไม่ได้เกิดจากการอ่านหนังสือ หรือการเล่าเรียนเพียงอย่างเดียว แต่สิ่งที่สำคัญเกิดจากการที่เราสามารถสะท้อนมุมมอง แนวคิด รวมทั้งการเรียนรู้จากประสบการณ์จากเมนเทอร์ ผู้นำองค์กรผู้มากประสบการณ์ได้ โดยรูปแบบของโครงการ IMET MAX เป็นรูปแบบที่เมนเทอร์จับคู่เมนทีในลักษณะใกล้ชิดในสัดส่วน 1:3 เพื่อให้ได้ใช้เวลาตลอดของโครงการกว่า 8 เดือน ในการพูดคุย และแลกเปลี่ยนมุมมองกัน ในสิ่งที่เมนเทอร์ใช้จัดการกับปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ซึ่งเชื่อว่าประสบการณ์ของเมนเทอร์จะกระตุ้นให้เมนทีได้คิด
ขณะเดียวกันรูปแบบของกระบวนการ Mentoring จะมุ่งเน้นในเรื่องสติปัญญาที่สมบูรณ์พร้อม Wisdom for Life and Social Values ซึ่งเราเชื่อว่าเป็นการปลูกฝังแนวคิดในการทำเพื่อสังคมให้กับเมนทีได้ตระหนัก คิดถึง และเอื้อเฟื้อต่อสังคม เป็นการ Pay it forward เมื่อเขาเหล่านั้นได้รับก็จะส่งต่อสิ่งดีๆ เหล่านี้ให้กับสังคม ซึ่งจะเป็นการปลูกฝังให้ผู้นำใหม่ๆ ที่เป็นทั้ง “คนดี” และ “คนเก่ง” เพื่อสร้างอุทยานผู้นำรุ่นใหม่ รับมือยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงที่ต้องก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว และรับผิดชอบต่อสังคม
โครงการ IMET MAX ประสบผลสำเร็จอย่างต่อเนื่องมาแล้ว 2 ปี ภายในปีนี้จะเดินหน้าโครงการเป็นปีที่ 3 ต่อไป โดยในปีนี้ โครงการ IMET MAX กำหนดคุณสมบัติที่สำคัญของเมนทีไว้ 3 ประการ คือ เป็นนักบริหารที่มีศักยภาพระดับสูงหรือมีความมุ่งมั่นในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมหรือประเทศชาติ เป็นผู้ที่ไม่มีประวัติด่างพร้อย และเป็นผู้ที่มีความต้องการและเชื่อมั่นในการพัฒนาตนเองผ่านกระบวนการเมนเทอริ่ง” นายธนพลกล่าว
ไฮไลท์ของปีนี้ คือเป็นการคัดสรรและและเชิญผู้ประสบความสำเร็จอย่างสูงระดับชาติมาเป็นเมนเทอร์ และเปิดกว้างให้ผู้นำรุ่นใหม่ได้สมัครเข้าร่วมโครงการ พร้อมทั้งสนับสนุนให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้นำ “คุณค่าเพื่อสังคม” ไปสร้างให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กรหรือสังคมในโอกาสแรกด้วย