มติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2563 ได้อนุมัติโครงการชดเชยรายได้แก่ลูกจ้างของสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ซึ่งยังไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาฯ ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ให้กับผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่อยู่ในระบบประกันสังคมไม่ถึง 6 เดือน (ส่งเงินสมทบไม่ครบ 6 เดือนภายใน 15 เดือน) หรือเพิ่งตกงานในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยให้ผู้ประกันตนเดือนละ 5,000 บาทเป็นเวลา 3 เดือน (มีนาคม – พฤษภาคม 2563) รวม 15,000 บาทโดยจ่ายครั้งเดียว
ข้อมูล ณ วันที่ 15 พฤษภาคม 2563 จำนวนลูกจ้าง"ผู้ประกันตนมาตรา 33"ที่ยังไม่ได้รับเงินเยียวยามีจำนวนทั้งสิ้น 59,776 ราย ใช้วงเงินในการจ่ายรวม 896,640,000 บาท
โอนเข้าบัญชีโดยตรง
นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึง การจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาในวงเงิน 15,000 บาทให้กับผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมไม่ครบ 6 เดือนภายในระยะเวลา 15เดือนว่า หลังจากที่สำนักงานประกันสังคมได้รับเงินจากกระทรวงการคลังแล้วจะโอนเข้าบัญชีผู้ประกันตน เดือนละ 5,000 บาทเป็นเวลา 3 เดือน ( มีนาคม – พฤษภาคม 2563) รวม 15,000 บาท โดยจ่ายเพียงครั้งเดียว
สอดคล้องกับนางพิศมัย นิธิไพบูลย์ รองเลขาธิการ สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกสำนักงานประกันสังคม เผยถึงความคืบหน้าของการจ่ายเงินชดเชยให้กับผู้ประกันสังคมมาตรา 33 โดยย้ำว่าลูกจ้างที่มีสิทธิ์รับเงินชดเชยรายได้ 15,000 บาทจำนวน 59,776 ราย ไม่ต้องลงทะเบียนใหม่ เนื่องจากสำนักงานประกันสังคมได้คัดแยกรายชื่อออกมาแล้ว โดยคัดกรองจากกิจการที่มาขึ้นทะเบียนรับรองขอเงินชดเชยให้ลูกจ้างก่อนนี้ แต่มีผู้ประกันตนบางส่วนซึ่งเป็นส่วนน้อย ที่มีข้อมูลไม่ครบถ้วน ซึ่งทางสำนักงานประกันสังคมจะติดต่อขอข้อมูลต่อไป
คาดเข้าบัญชีสิงหาคมนี้
"สำนักงานประกันมีข้อมูลและจำนวนผู้ได้รับสิทธิ์ที่แน่ชัดแล้ว ไม่ต้องลงทะเบียนเพิ่ม" นางพิศมัยกล่าวย้ำ พร้อมทั้งคาดว่าผู้ประกันตนจะได้รับเงินเยียวยา 15,000 บาท โอนเข้าบัญชีได้ไม่เกินกลางเดือนสิงหาคม 2563"
ก่อนหน้านี้นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)โฆษกกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ ประเมินว่ากระทรวงการคลังจะสามารถจ่ายเงินให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่มีสิทธิเกือบ 6 หมื่นรายได้ประมาณกลางเดือนสิงหาคม 2563
"ตามขั้้นตอน เมื่อครม.เห็นชอบแล้ว กระทรวงแรงงานต้องเสนอเรื่องไปยังสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ดำเนินการกู้เงิน จากนั้นจะเสนอเรื่องให้สำนักงบประมาณพิจารณาอนุมัติกรอบวงเงิน และให้กรมบัญชีกลางดูแลเรื่องการโอนเงินให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 ต่อไป"
ข่าวเกี่ยวข้อง
"ประกันสังคม"เตรียมจ่ายเงิน 15,000 บาท ผู้ประกันตนมาตรา 33
"ประกันสังคมมาตรา33" รับเงินเยียวยา 15,000 บาท เช็กล่าสุด!
ประกันตน "กรณีว่างงาน" ยอดพุ่งขึ้นกว่าเท่าตัว เซ่นพิษโควิด
ผู้ประกันตนมาตรา 33 เฮ ครม.อนุมัติจ่ายเงินเยียวยาครั้งเดียว 15,000 บาท
แหล่งเงินจากแพกเกจเยียวยา 5.5 แสนลบ.
สำหรับวงเงินที่ใช้มาจาก "พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท" ตามมาตรการโครงการช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้กับภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 " วงเงิน 5.55 แสนล้านบาท โดยหลังจากที่ภาครัฐใช้งบจ่ายเยียวยาไปแล้วเป็นวงเงิน 3.59 แสนล้านบาท กล่าวคือ
1.จ่ายให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดจำนวน 16 ล้านคน ( 5,000 บาทเป็นเวลา 3 เดือน)
2.ให้กับเกษตรกร 10 ล้านคน ( 5,000 บาทเป็นเวลา 3 เดือน)
3.กลุ่มเปราะบางจำนวน 13 ล้านคน เช่น เด็กและผู้สูงวัย ( 3,000 บาท)
ปัจจุบันยังมีเงินเหลือจากมาตรการนี้อีกประมาณ 1.96 แสนล้านบาท ซึ่งจะถูกนำมาใช้เพื่อเยียวยาผู้ประกันตนมาตรา 33 ในกลุ่มที่ยังอยู่ในระบบประกันสังคมไม่ถึง 6 เดือน ใช้วงเงินเยียวยา 897 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 1.95 แสนล้านบาท คาดว่าจะนำไปใช้กระตุ้นการจ้างงานเพื่อช่วยเหลือผู้ว่างงานที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากวิกฤติโควิดและผลกระทบจากการล็อกดาวน์ประเทศ
สิทธิประโยชน์ 7 ด้าน
รายงานจากสำนักงานประกันสังคม ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 มีจำนวนผู้ประกันตนทั้งระบบ (มาตรา 33 ภาคบังคับ , ภาคสมัครใจได้แก่มาตรา 39 และมาตรา 40 ) รวมทั้งสิ้น 16,407,409 คน จำนวนนี้เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 อยู่ที่ 11,295,514 คน คิดเป็น 68.84% ของผู้ประกันตนทั้งระบบ โดยลดลง 390,879 คน หรือ -3.34%จากสิ้นปี 2562 ที่มีผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 11,686,393 คน
สำหรับสิทธิประโยชน์ในส่วนของผู้ประกันตนมาตรา 33 จะได้รับจากสำนักงานประกันสังคม 7 ด้านด้วยกัน ได้แก่ 1.เจ็บป่วย 2.เสียชีวิต 3.ว่างงาน 4.คลอดบุตร 5.ทุพพลภาพ 6.ชราภาพ และ 7สงเคราะห์บุตร
โดยในด้านสิทธิประโยชน์"กรณีว่างงาน" ในสถานการณ์ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ปัจจุบัน ถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 ทั่วไปที่ส่งเงินสมทบมากกว่า 6 เดือน สามารถรับเงินทดแทนกรณีว่างงานได้ตามปกติ
ล่าสุดรัฐบาลได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ทดแทนระหว่างว่างงานแก่ประกันสังคมมาตรา 33 ในกรณีที่ถูกเลิกจ้าง ลาออก หรือสิ้นสุดระยะเวลาการจ้างเป็นระยะเวลา 2 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 เพื่อรองรับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น
1.กรณีผู้ประกันตนถูกเลิกจ้าง
ผู้ประกันตนจะได้รับเงินว่างงานในอัตรา 70% ของค่าจ้างรายวัน โดยได้รับไม่เกิน 200 วัน ภายในระยะเวลา 1 ปีปฏิทิน จากเดิมจะได้รับเงินทดแทนระหว่างว่างงาน กรณีถูกเลิกจ้างในอัตรา 50% ของค่าจ้างเฉลี่ยปีละไม่เกิน 180 วัน
2.กรณีผู้ประกันตนลาออก หรือสิ้นสุดระยะเวลาการจ้าง
ผู้ประกันตนจะได้รับเงินว่างงานในอัตรา 45% ของค่าจ้างรายวัน โดยได้รับไม่เกิน 90 วัน ภายในระยะเวลา1 ปีปฏิทิน จากเดิมจะได้รับเงินทดแทนระหว่างว่างงานกรณีลาออกหรือสิ้นสุดสัญญา 30% ของค่าจ้างเฉลี่ย ปีละไม่เกิน 90 วัน
สำหรับกรณีที่ผู้ประกันตนมาตรา 33 ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเพราะเหตุตามข้อ 1 หรือเหตุตามข้อ 1และ 2 เกินหนึ่งครั้งภายในระยะเวลา 1 ปีปฏิทิน ให้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานทุกครั้งรวมกันไม่เกิน 200 วัน
ในกรณีขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเหตุตามข้อ 2 เกินหนึ่งครั้งภาย ในระยะเวลา 1 ปีปฏิทิน ให้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานทุกครั้งรวมกันไม่เกิน 90 วัน