วันนี้ (30 ก.ค.63 ) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจการติดตั้งศาลาที่พักผู้โดยสารรถประจำทางอัจฉริยะ (Smart Bus Shelter) เช็ค ชาร์จ แชร์ ฟรี และมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน โดยมี นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยผู้บริหารสำนักการจราจรและขนส่ง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่ ณ บริเวณด้านหน้าเซ็นทรัลพลาซา แกรนด์ พระราม 9 เขตห้วยขวาง
กรุงเทพมหานคร โดย สำนักการจราจรและขนส่ง ร่วมกับ บริษัท แพลน บี มีเดีย จํากัด (มหาชน) พัฒนาและปรับปรุงศาลาที่พักผู้โดยสารรถประจำทางรูปแบบเดิม ให้เป็นศาลาที่พักผู้โดยสารรถประจำทางอัจฉริยะรูปแบบใหม่ (Smart Bus Shelter) ที่สามารถนำร่องให้ประชาชนได้ใช้เป็นแห่งแรก บริเวณแยกพระราม 9 ฝั่งเซ็นทรัลพลาซา แกรนด์ พระราม 9 และกำหนดปรับปรุงศาลาที่พักผู้โดยสารให้เป็นรูปแบบใหม่ในระยะแรกจำนวน 350 หลัง ภายในปี 2564 เพื่อให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่ มีความทันสมัย อีกทั้งสอดคล้องกับรูปแบบการใช้ชีวิตของประชาชน เพื่อให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะมากขึ้น ลดมลพิษทางอากาศ มีความปลอดภัยในการดำเนินชีวิตประจำวัน ตลอดจนสามารถบริหารจัดการเวลาในการวางแผนการเดินทาง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป
สำหรับศาลาที่พักผู้โดยสารรถประจำทางอัจฉริยะ (Smart Bus Shelter) รูปแบบใหม่ที่กทม.จะดำเนินการนั้น มี 2 รูปแบบ คือ แบบ Full Function จำนวน 100 หลัง และแบบ Light Function จำนวน 250 หลัง โดยแบบ Full Function จะมีระบบบอกสายรถโดยสารประจำทางและเวลาการมาถึงของรถโดยสารประจำทางบนจอ LFD ขนาด 32 นิ้ว เพื่อให้ประชาชนที่ใช้บริการสามารถวางแผนการเดินทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีระบบรักษาความปลอดภัยด้วยการติดตั้งระบบกล้อง CCTV และระบบไฟฟ้าส่องสว่าง พร้อมทั้งระบบการแสดงข้อมูลข่าวสารประชาสัมพันธ์ของกทม. บนจอแสดงผลขนาด 55 นิ้ว เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลข่าวสารของ กทม. นอกจากนี้ยังมีระบบชาร์จแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือ และ Free Wi-Fi ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนผู้โดยสารรถประจำทางในปัจจุบัน สอดรับกับนโยบาย Smart Bus Shelter ตามแนวคิดการพัฒนากรุงเทพมหานครให้เป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ซึ่งในส่วนของ Light Function จะไม่มีจอแสดงผลขนาด 55 นิ้ว และระบบ Wi-Fi Router
นอกจากนี้ กทม.ยังได้พัฒนาระบบบอกเวลาการมาถึงของรถโดยสารประจำทางที่พัฒนาสำหรับแสดงผลบนโทรศัพท์มือถือผ่านแอพพลิเคชัน Via Bus เพื่อให้บริการค้นหาป้ายและสายรถโดยสารประจำทาง เส้นทางการเดินรถของแต่ละสาย การค้นหาวิธีการเดินทางแต่ละจุด การแสดงป้ายรถประจำทางที่อยู่ใกล้ที่สุด การแสดงตำแหน่งและระยะเวลาที่จะมาถึงของรถโดยสารประจำทางที่จะผ่านแต่ละป้ายทั้งในรูปแบบของข้อความหรือแผนที่ รวมทั้งการแสดงข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับการจราจรและการเดินทางอื่น ๆ โดยปัจจุบันสามารถให้บริการข้อมูลตำแหน่งและระยะเวลารถที่จะมาถึงป้ายเฉพาะรถโดยสารของขสมก.ที่ติด GPS เท่านั้น และอยู่ระหว่างการพัฒนาข้อมูลให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า วันนี้เป็นวันแรกที่กรุงเทพฯจะมีป้ายรถประจำทางแบบอัจฉริยะ ซึ่งปัจจุบันในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีป้ายรถประจำทางอยู่แล้วกว่า 5,000 หลัง และสามารถใช้การประมาณ 3,000 หลัง กรุงเทพมหานครจึงพยายามที่จะปรับปรุงให้ดีขึ้น โดยร่วมมือกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (ขสมก.) ซึ่งให้บริการรถโดยสารประจำทางรวมจำนวนกว่า 3,000 คัน และรถร่วมบริการอีกประมาณ 3,000 คัน พัฒนาป้ายรถประจำทางอัจฉริยะนำร่องจุดแรกเพื่อศึกษาถึงข้อบกพร่องต่างๆ แล้วนำมาปรับปรุงแก้ไขให้ดีและทันสมัยขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกสบายให้ประชาชนชาวกรุงเทพมหานครหรือผู้ที่จะต้องอาศัยรถประจำทางในการเดินทาง โดยป้ายรถประจำทางอัจฉริยะนี้พร้อมให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ แก่ผู้ที่รอรถโดยสาร อาทิ ที่ชาร์จสำหรับโทรศัพท์ ระบบ WiFi กล้อง CCTV เชื่อมต่อระบบไปยังศูนย์บริหารจัดการกล้องโทรทัศน์วงจรปิดCCTVของกทม.และของสถานีตำรวจ นอกจากนี้จะดำเนินการปรับปรุงเพิ่มเติมในส่วนของกันสาดและส่วนของด้านหลังป้ายเพื่อกันฝนให้ผู้โดยสารขณะรอรถ โดยภายใน 1 ปี จะติดตั้งป้ายรถแบบ Full Function ให้ได้ 100 หลัง และแบบ Light Function อีก 250 หลัง ภายในปี 63 คาดแล้วเสร็จ 200 หลัง และภายในเดือน เม.ย.64 จะสามารถติดตั้งครบทั้ง 350 หลัง โดยจะดำเนินการติดตั้งป้ายรถประจำทางแบบอัจฉริยะในจุดที่มีประชาชนใช้บริการรถประจำทางเป็นจำนวนมาก และขยายโครงข่ายให้ทั่วกรุงเทพฯ ต่อไป