วันนี้ (2 ส.ค. 63 ) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโควิด-19 ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว “Yong Poovorawan” โดยได้ออกมาให้ความรู้เกี่ยวกับการวิวัฒนาการของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยได้ระบุข้อความว่า
“วิวัฒนาการของเชื้อไวรัสโควิด 19 อยากทำความเข้าใจ และช่วยเผยแพร่ให้ถูกต้อง การแยกสายพันธุ์ของไวรัส เกิดจากวิวัฒนาการของเชื้อ ตามรูปที่เขียนให้ดู ไวรัสเริ่มต้นจากจีน จะมี 2 สายพันธุ์ คือสายพันธุ์เอส S (Serine) และสายพันธุ์ L (Leucine) สายพันธุ์ L แพร่กระจายมีลูกหลานได้มากกว่าสายพันธุ์ S โดยเฉพาะเมื่อออกนอกจีน
ไปถึงยุโรปสายพันธุ์ L แพร่กระจายได้ดี
ออกลูกหลานเป็นสายพันธุ์ G (Glycine) และสายพันธุ์ V (Valine) สายพันธุ์ G แพร่กระจายได้ง่าย ตามหลักวิวัฒนาการ จึงกระจายไปทั่วโลกอย่างกว้างขวาง มีลูกหลานของสายพันธุ์ G มาเป็นสายพันธุ์ GR (Arginine) และ GH (Histidine) นักวิทยาศาสตร์ ศึกษาพบว่าสายพันธุ์ G ระบาด ได้ง่ายแพร่กระจายได้เร็ว แต่ไม่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงของโรค และระบบภูมิต้านทาน ไม่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาวัคซีน
ขณะนี้อัตราการครอบคลุมสายพันธุ์ G เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนมาเป็นเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ สายพันธุ์ที่ระบาดอยู่นี้ทั่วโลก จึงเป็นสายพันธุ์ G ย้อนกลับมาระบาดในประเทศไทย เมื่อระลอกแรก ถึงแม้จะพบได้ทุกสายพันธุ์ เพราะมีการเดินทาง
แต่สายพันธุ์หลักที่ระบาดในประเทศไทยในระลอกแรกเป็นสายพันธุ์ S ขณะนี้ การตรวจไวรัสในผู้ที่อยู่ ในที่กักกันของรัฐ หรือที่เรียกว่า State quarantine โดยศูนย์เชี่ยวชาญด้านไวรัสของจุฬาฯ พบว่าเป็นสายพันธุ์ G เกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะมาจากตะวันออกกลาง ยุโรป และอเมริกา สายพันธุ์นี้ไม่เกี่ยวข้อง ที่จะทำให้โรครุนแรงขึ้น ไม่เกี่ยวกับระบบภูมิต้านทาน เพียงแต่การกระจายง่ายๆจึงทำให้อัตราการพบส่วนใหญ่ของทั่วโลกเป็นสายพันธุ์ G อยู่ในขณะนี้”