เสียงถึงทีมเศรษฐกิจใหม่ 2บิ๊กธุรกิจตรังจี้"เติมสภาพคล่อง"

08 ส.ค. 2563 | 07:08 น.

    2 บิ๊กธุรกิจเมืองตรังจี้ทีมเศรษฐกิจใหม่รัฐบาล เร่งแก้ปัญหาทุนหมุนเวียนให้ผู้ประกอบการ  "บุญชู-ตรังผลิตภัณฑ์อาหารทะเล"ให้ขยายพักหนี้ยาว2ปี ประธานหอการค้าเรียกร้อง3ข้อ


    
  เสียงก้องถึงทีมเศรษฐกิจใหม่รัฐบาล 2 บิ๊กธุรกิจเมืองตรังจี้รัฐ เร่งแก้ปัญหาทุนหมุนเวียนให้ผู้ประกอบการ "บุญชู-ตรังผลิตภัณฑ์อาหารทะเล"ให้ขยายพักหนี้ยาว2ปี เพื่อเป็นทุนให้ธุรกิจไปขับเคลื่อนต่อ คนไม่ตกงาน ประธานหอการค้าเรียกร้อง3ข้อ เร่งอัดฉีดงบ รื้อระเบียบล้าสมัย และเติมสภาพคล่อง 
    
 นายบุญชู    ศัยศักดิ์พงษ์  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ตรังผลิตภัณฑ์อาหารทะเล จำกัด และผู้บริหารร้านทอง ตุ้นเฮงหลี 4 สาขา เปิดเผย ฐานเศรษฐกิจว่า  ทีมเศรษฐกิจใหม่รัฐบาลได้รัฐมนตรีคลังจากสายแบงก์พาณิชย์  เชื่อว่าวิธีคิดคงไม่มีอะไรต่างไป จึงยังมองไม่ออกว่านโยบายด้านเศรษฐกิจเพื่อแก้ปัญหาจะมีอะไรใหม่  เช่นเดียวกับทีมเดิมชุดนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ก็ไม่มีอะไรใหม่มากระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรมและจับต้องได้ 
เสียงถึงทีมเศรษฐกิจใหม่ 2บิ๊กธุรกิจตรังจี้\"เติมสภาพคล่อง\"     

"เชื่อว่าภาคเอกชนไม่ได้คาดหวังอะไรจากรัฐบาล เพราะรัฐบาลไม่เคยช่วยเหลือภาคธุรกิจ  ภาคธุรกิจช่วยเหลือตัวเองมาตลอด  สิ่งที่รัฐบาลทำได้ตอนนี้  คือ รัฐบาลต้องออกนโยบายทางการเงินให้ แบงก์ชาติสั่งการแบงก์พาณิชย์ พักชำระหนี้ผู้ประสบปัญหา 2 ปี และให้แบงก์พาณิชย์ไม่ตัดลดวงเงินของลูกค้าเดิม  เมื่อธุรกิจเดินได้ ก็กลับมาชำระหนี้แบงก์  การพักชำระหนี้ 2 ปี ก็เหมือนกับธนาคารปล่อยกู้ใหม่ให้ลูกหนี้รายเดิม ให้ได้ใช้เป็นเงินหมุนเวียนแทนที่จะเอาเงินไปชำระหนี้ให้ เมื่อธุรกิจผู้ประกอบการเดินได้  ก็เกิดการจ้างงาน ลดปัญหาการตกงานของประชาชน โดยที่รัฐบาลไม่ต้องใช้งบประมาณอะไรเลย" 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง   

 ไหวมั้ย “ทีมเศรษฐกิจใหม่” รัฐบาลลุงตู่

“หมอวรงค์”แนะทีมเศรษฐกิจต้องรุกข้อมูล แบบหมอทวีศิลป์

คนเก่งเศรษฐกิจ โดดหนี “ลุงตู่”

เสียงถึงทีมเศรษฐกิจใหม่ 2บิ๊กธุรกิจตรังจี้\"เติมสภาพคล่อง\"

ด้านนายพิชัย  มะนะสุทธิ์  ประธานหอการค้าตรัง และประธานกรรมการบริหาร บริษัท โตโยต้าเมืองตรัง จำกัด ผู้แทนจำหน่ายรถยนต์โตโยต้า กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีคงมีเหตุผลในการเปลี่ยน 5 รัฐมนตรี สิ่งที่ตัวนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลต้องเร่งทำคือ แก้ปัญหาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีทั้งประชาชนทั่วไป ผู้ประกอบการ กลุ่มท่องเที่ยว ขนส่ง โรงแรมรีสอร์ทห้องพัก ร้านอาหาร ที่กำลังเดือดร้อน ภาคท่องเที่ยวไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เคยมีปีละ 30-40 ล้านคน ทำให้คนตกงานหลายล้านคน อันนี้รัฐบาลต้องแก้ทันที ภาคเอกชนที่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน ต้องทำให้มีทุนหมุนเวียนมาต่ออายุธุรกิจ แบงก์พาณิชย์อย่าบีบลูกหนี้ หรือตัดลดวงเงินเด็ดขาด เพราะจะทำให้ธุรกิจล้มและขยายวงกว้างทันที
    

ประการต่อมารัฐบาลโดยเฉพาะตัวนายกฯ ได้บริหารประเทศมา 5-6 ปีแล้ว  มีประสบการณ์ รู้จุดอ่อนจุดแข็งประเทศไทย  ต้องคิดนโยบายเพื่อแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ พัฒนาประเทศเพื่อให้เศรษฐกิจมั่นคงให้ตรงจุด นโยบายเงินกู้ฟื้นเศรษฐกิจ 4 แสนล้านที่ออกมา ยังไม่ตรงจุดที่จะลงไปช่วยภาคเอกชน ไปสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจฐานรากขึ้นมาได้  เพราะไปเน้นแผนงานการก่อสร้างต่าง ๆ ที่หน่วยราชการเอาโครงการที่พักไปกลับมาทำใหม่ อยากให้รัฐบบาลโดยตัวนายกฯเอาเงินงบประมาณลงไปที่ประชาชนจริง ๆ
    

ส่วนภาคการท่องเที่ยวและบริการ อาหาร ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด 19 เพราะปิดประเทศไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศ คนตกงานหลายล้านคน รัฐบบาลต้องดูทิศทางในการ กำหนดนโยบายเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวหรือไม่ต้องชัดเจน หากไม่มั่นใจ เอาความปลอดภัยก่อนไม่ให้มีการระบาดของโรค ก็ปิดรับนักท่องเที่ยว      

รัฐบาลต้องส่งเสริมอาชีพเกษตร ทุกตัวพัฒนาสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพ ขายให้ได้ราคาเพื่อแข่งขันกับต่างประเทศ อันนี้ต้องทำเอาแรงงานภาคบริการท่องเที่ยวเข้ามาทำงานในภาคเกษตรเพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อน
 

ในฐานะประธานหอการค้า มีข้อเสนอให้รัฐบาล อันดับแรก คือ กระจายเงินงบประมาณลงไปที่กลุ่มผู้เดือดร้อนจากการระบาดของโรคโควิด เพื่อให้กลุ่มนี้ลุกขึ้นมาทำงาน ดำเนินธุรกิจไปได้    อันดับที่สอง ให้รัฐบาล และสภาผู้แทนราษฎร แก้ปัญหาเรื่อง กฎหมาย ระเบียบของราชการ ให้สอดรับทันสมัยกับ สถานการณ์ในปัจจุบัน หากรัฐบาลบังคับใช้กฎหมายเข้มงวดเกินสถานการณ์จะทำให้ การขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจไปไม่ได้ อันนี้รัฐบาลต้องคิดให้มาก เมืองไทยใช้กฎหมายที่ไม่มีการแก้ไขให้ทันสมัยมากว่า 50-60 ปี   อันดับสาม รัฐบาลออกนโยบายทางการเงิน เพิ่มสภาพคล่อง ให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ ให้ภาคเอกชนมีทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจไปได้