9 สิงหาคม 2563 “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,123 คน (สำรวจทางออนไลน์) ระหว่างวันที่ 3-7 สิงหาคม 2563 ในหัวข้อ “การดูแลสุขภาพของประชาชนหลังมีโควิด-19 ระบาด” เพื่อสะท้อนความคิดเห็นกรณีสถานการณ์โควิด-19 ณ วันนี้ ยังคงเป็นเรื่องที่ทุกคนให้ความสำคัญและคอยติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด เนื่องจากการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสอย่างรวดเร็ว สร้างความวิตกกังวลให้กับประชาชนอย่างมาก ทำให้หลายคนตระหนักและหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพมากขึ้น โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ๆ เพื่อป้องกันตัวเองให้ห่างไกลจากโรคนี้ สรุปผลได้ ดังนี้
l การระมัดระวังดูแลสุขภาพของประชาชนเมื่อเปรียบเทียบ “ก่อน และ หลังมีโควิด-19 ระบาด” เป็นอย่างไร?
อันดับ ประเด็น เปรียบเทียบ “ก่อน และ หลังมีโควิด-19 ระบาด”
มากขึ้น เท่าเดิม ลดลง
1 การเอาใจใส่คนรอบข้าง เช่น พ่อแม่ พี่น้อง เพื่อน 80.59% 18.52% 0.89%
2 การซื้ออุปกรณ์ป้องกันโควิด-19 เช่น แมส เจลล้างมือ ฯลฯ 75.78% 18.25% 5.97%
3 การดูแลรักษาความสะอาดเสื้อผ้า ของใช้ประจำตัว 69.01% 30.45% 0.54%
4 การเลือกอาหารการกิน 67.85% 30.28% 1.87%
5 การค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บ 61.18% 32.59% 6.23%
6 การทำความสะอาดบ้าน ที่อยู่อาศัย 59.39% 39.45% 1.16%
7 การตรวจเช็คสุขภาพตนเอง เช่น วัดไข้ วัดความดัน ฯลฯ 54.14% 36.33% 9.53%
8 การนอนหลับพักผ่อน 49.07% 48.09% 2.84%
9 การออกกำลังกาย 40.34% 45.59% 14.07%
10 การทำงานอดิเรก เช่น เล่มเกมส์ อ่านหนังสือ ปลูกต้นไม้ 34.64% 56.01% 9.35%
11 การซื้อประกันชีวิต/ประกันสุขภาพ 22.89% 55.92% 21.19%
12 การใช้บริการรถสาธารณะ เช่น รถเมล์ รถไฟฟ้า รถตู้ ฯลฯ 13.18% 21.64% 65.18%
13 การเข้าร่วมกิจกรรมสถานบันเทิง สถานที่แออัด 12.47% 10.95% 76.58%
ด้านนางสาวพรพรรณ บัวทอง นักวิจัย สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวว่า ผลการสำรวจดังกล่าว พบว่า พฤติกรรมด้านสุขภาพที่ประชาชนปฏิบัติมากขึ้น ได้แก่ การเอาใจใส่คนรอบข้าง เช่น พ่อแม่ พี่น้อง ร้อยละ 80.59 รองลงมาคือ ซื้ออุปกรณ์ป้องกันโควิด -19 ร้อยละ 75.78 ส่วนพฤติกรรมที่ปฏิบัติเท่าเดิม คือ การทำงานอดิเรกต่าง ๆ ร้อยละ 56.01 และพฤติกรรมที่ปฏิบัติลดลงมากที่สุด คือ การไปสถานบันเทิง สถานที่แออัด ร้อยละ 76.58 ตามด้วยการใช้บริการรถสาธารณะ เช่น รถเมล์ รถไฟฟ้า รถตู้ ฯลฯ ร้อยละ 65.18%
จากผลการสำรวจสะท้อนให้เห็นว่าหลังจากมีการระบาดของโควิด-19 คนไทยมีพฤติกรรมดูแลสุขภาพเปลี่ยนแปลงไป โดยพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปในทิศทาง “มากขึ้น” ล้วนเป็นพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับปัจจัย 4 ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค โดยเฉพาะปัจจัยด้านยารักษาโรคที่พบว่าคนไทยมีการตระเตรียมซื้ออุปกรณ์ป้องกันโควิด-19 เพิ่มขึ้น และนอกจากจะซื้อเพื่อตนเองแล้ว ยังดูแลเผื่อแผ่ไปยังคนรอบข้างมากขึ้นอีกด้วย พฤติกรรมป้องกันโควิด-19 ด้วยตนเองอย่างเคร่งครัดของคนไทยเช่นนี้ จึงเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ประเทศไทยไม่พบผู้ติดเชื้อในประเทศมากว่า 2 เดือน ส่งผลให้ไทยเป็นประเทศที่ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วจากสถานการณ์โควิด-19 อีกด้วย
ขณะที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศรีสุดา วงศ์วิเศษกุล คณบดี คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวว่า คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมไทยค่อนข้างหวั่นไหวกับโอกาสการระบาดระลอกสองที่นักวิชาการด้านสุขภาพและนักระบาดวิทยาต่างออกมาเตือนคนไทยให้กำกับพฤติกรรมตนตามวิถีใหม่ (New Normal) ให้เหนียวแน่น ผลโพลของ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สะท้อนให้เห็นอิทธิพลของการระบาดนี้ต่อพฤติกรรมการดูแลสุขภาพอย่างชัดเจน กล่าวคือพฤติกรรมเชิงป้องกันตนเองเพิ่มสูงขึ้น และพฤติกรรมที่สุ่มเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อโรคลดต่ำลง รวมทั้งการค้นหาข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพ การตรวจสุขภาพ อันเป็นพฤติกรรมที่บุคลากรสุขภาพคาดหวังให้ประชาชนประพฤติปฏิบัตินั้นเพิ่มสูงขึ้นด้วย
“อาจกล่าวได้ว่าวิกฤติการณ์โควิด-19 เป็นปัจจัยกระตุ้นภูมิคุ้มกันด้านสุขภาพ (Health Protection) ที่มีประสิทธิภาพยิ่ง ประเด็นที่น่าสนใจคือ การเอาใจใส่คนรอบข้าง เช่น พ่อแม่ พี่น้อง เพื่อน เพิ่มสูงขึ้นเป็นอันดับแรก จึงขอเสนอ “การ์ดอย่าตกเพื่อปกป้องตัวคุณ คนที่รักและครอบครัว” เป็นสโลแกนป้องกันการระบาดรอบใหม่ไว้ ณ ที่นี้” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศรีสุดา กล่าว