“ดร.มานะ”ชำแหละทำไมเจ้าหน้าที่รัฐจึงไม่ชอบการเปิดเผยข้อมูล

29 ส.ค. 2563 | 08:41 น.

“ดร.มานะ”ชำแหละทำไมเจ้าหน้าที่รัฐจึงไม่ชอบการเปิดเผยข้อมูล ชี้ต้องการปกปิดความผิดที่ตนเอง-พรรคพวกทำลงไปหรือกำลังจะทำ

 

ดร.มานะ นิมิตมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้โพสต์เฟซบุ๊ก หัวข้อเรื่อง “ทำไมเจ้าหน้าที่รัฐจึงไม่ชอบการเปิดเผยข้อมูล” ระบุว่า

 

‘ความรู้’ คือกุญแจสู่ความสำเร็จ ขณะที่ ‘ความลับ’ คือกุญแจที่ทำให้คนโกง โกงสำเร็จและไม่มีใครจับได้ เรื่องแปลกคือทุกวันนี้นักการเมืองและข้าราชการจำนวนมากชอบกล่าวอ้างว่า ตนเองนั้นซื่อสัตย์ ทำงานโปร่งใส แต่เอาเข้าจริงกลับไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลให้สาธารณชนรับรู้ว่าทำอะไร ใช้งบประมาณไปเท่าไหร่ รายละเอียดอย่างไร แบบนี้ควรเรียกว่าปิดลับหรือโปร่งใสกันแน่

ดร.มานะ นิมิตมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)

เหตุผลว่าทำไมเจ้าหน้าที่รัฐไม่ชอบเปิดเผยข้อมูล ตามที่รวบรวมได้มีดังนี้

 

‘คนไทยได้อะไร’ หากหน่วยราชการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส...

 

1. การเปิดเผยข้อมูลทำให้คนไทยมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น เสนอแนะ ตรวจสอบและกำกับดูแลการทำงานของรัฐ ข้อมูลที่เชื่อถือได้เหล่านั้นยังอาจถูกใช้ในการวางแผนที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและครอบครัว เช่นเรื่องเกี่ยวกับ การศึกษา การค้าขาย ซึ่งนำไปสู่ความเชื่อมั่นและความร่วมมือที่ดีจากประชาชน

 

2. การเปิดเผยทำให้หน่วยงานรัฐต้องพัฒนาการให้บริการประชาชน การปฏิบัติหน้าที่และการบริหารราชการ อย่างมีระเบียบ-วินัย ด้วยความโปร่งใสและรับผิดชอบ

 

3. ข้อมูลที่มีอยู่จำนวนมากในระบบ อาจถูกนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ การค้า - การลงทุน และเทคโนโลยี่ ได้โดยหน่วยงานอื่นของรัฐ ชุมชนและเอกชน  

 

4. ผลประโยชน์ส่วนรวมได้รับการป้องกันจากคอร์รัปชัน ความไม่เป็นธรรมและการเอารัดเอาเปรียบ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘ดร.มานะ’ชงสารพัด ข้อเสนอป้องกัน โกงงบ 4 แสนล้าน

รัฐบาลทำดีพอแล้วหรือยัง? ปกป้องสี่แสนล้านบาท...อย่าให้ใครโกง

‘มานะ’ชงแก้ระเบียบ 3 คดีใหญ่ ต้องใช้ที่ประชุมตุลาการ

“ดร.มานะ”ชำแหละทำไมเจ้าหน้าที่รัฐจึงไม่ชอบการเปิดเผยข้อมูล

ทำไมไม่ยอมเปิดเผย...

 

1. เจ้าหน้าที่ของรัฐจงใจปกปิดข้อมูล อาจเป็นเพราะ

 

ก. ต้องการปกปิดความผิดที่ตนและพรรคพวกได้ทำลงไปหรือกำลังจะทำ

 

ข. ไม่แน่ใจว่างานที่พวกตนรับผิดชอบมีข้อบกพร่องหรือไม่ จึงไม่อยากมีภาระต้องชี้แจงในวันข้างหน้า

 

ค. ทัศนคติหัวโบราณของเจ้าหน้าที่ เช่น ไม่เห็นความสำคัญ ไม่ใช่เรื่องจำเป็นที่ประชาชนต้องรู้ ความเคยชินที่เคยอะไรง่ายๆ มานาน ดังสะท้อนจากคำพูดที่ว่า “ให้แค่นั้นพอแล้ว”

 

2. บ่อยครั้งพบว่า เจ้าหน้าที่จำต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์หรือนโยบายของหน่วยงานและผู้บังคับบัญชา แม้จะรู้ว่ากฎหมายหรือนโยบายรัฐเปลี่ยนไปแล้ว

 

3. กฎหมายขัดหรือแย้งกัน เจ้าหน้าที่จึงเลือกทำสิ่งที่ง่ายหรือปลอดภัยกว่า เช่น ข้อมูลการจัดซื้อฯ ที่ต้องเปิดเผย พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างฯ จะเข้มงวดน้อยกว่า พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ

 

4. ไม่มีนโยบายที่เด็ดขาดชัดเจนของรัฐ ถึงแนวทางการเปิดเผยข้อมูล บทลงโทษผู้ฝ่าฝืนปกปิดข้อมูลและการปกป้องผู้เปิดเผยข้อมูล ทำให้เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่เลือกที่จะปกปิดข้อมูลไว้ก่อนเพื่อความปลอดภัยของตนเอง

 

5. ระบบงานหรือระบบสารสนเทศเป็นอุปสรรค เช่น ความไม่พร้อมของระบบจัดเก็บ ขั้นตอนปฏิบัติงาน ขาดการจำแนก สะสางและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเหมาะสมเป็นระยะ

 

6. เจ้าหน้าที่และหน่วยงานรัฐเชื่อว่า ข้อมูลเป็นของตน และเป็นปัจจัยให้ตนมีผลงานเหนือผู้อื่น

 

“เปิดเผยข้อมูลเป็นหลัก ปกปิดเป็นรอง” หลักการถูกต้อง..แต่ต้องตอบคำถามก่อนว่า...

 

1. มาตรฐานสากลทำกันอย่างไร ต้องเปิดแค่ไหน เช่น อะไรเปิดได้ ไม่ได้ รูปแบบ-วิธีการเปิด รูปแบบของข้อมูลหรือไฟล์ ข้อจำกัดและข้อยกเว้นที่มีได้

 

2. อะไรคือกติกาและเงื่อนไขที่ชัดเจนว่า ใครที่สามารถอ้างสิทธิพิเศษที่จะปกปิดข้อมูล โดยอ้างว่า เป็นความลับของทางราชการ เป็นเรื่องความมั่นคง การคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคล หรือมีระเบียบของหน่วยงานห้ามไว้ เป็นต้น

 

3. ใครต้องรับผิดชอบ หากการเปิดเผยนั้นทำให้หน่วยงานหรือบุคคลภายนอกเสียหาย

 

4. เครื่องมือที่เหมาะสมเพื่อให้ผู้อื่นเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย ไม่เป็นภาระเกินควรแก่หน่วยงานและผู้ใช้บริการ

แก้ไขอย่างไร?...

 

ลงมือทำหลายอย่างพร้อมกันหรือเริ่มทำเรื่องง่ายๆ ที่มีตัวอย่างให้เห็นแล้ว เช่น

 

1. รัฐบาลควรกำหนดนโยบายโดยยึดแนวทางที่สภาพัฒน์ฯ ใช้ในการเผยแพร่ข้อมูลงบโควิดสี่แสนล้านในเว็บไซต์ “ไทยมี” คือ ข้อมูลในความครอบครองของรัฐเป็นข้อมูลสาธารณะ ที่ใครจะเอาไปใช้ประโยชน์อย่างไรก็ได้ โดยไม่ต้องขออนุญาต และข้อมูลนั้นได้ถูกเปิดเผยอย่างสมบูรณ์ในรูปแบบที่นำไปประมวลผลบนคอมพิวเตอร์ได้ง่าย

 

2. เริ่มกับหน่วยงานที่ไม่ใหญ่โตแต่เกี่ยวข้องกับประชาชนจำนวนมาก เช่น กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งรวมทั้ง กทม. ต้องเปิดเผยงบประมาณประจำปีและเงินรายได้-รายจ่าย ลงในเว็บไซต์ของหน่วยงานเองและทุกองค์กรทั่วประเทศรวมไปเปิดเผยที่เว็บไซต์กระทรวงมหาดไทย

 

3. พัฒนาระบบรัฐบาลดิจิตอลอย่างจริงจัง

 

4. กรณีที่มักมีข้อโต้แย้งบ่อยๆ เช่น คำว่า “ความลับราชการ – ความมั่นคง” ต้องกำหนดให้ชัดว่าหน่วยงานใดบ้างที่อ้างได้ ภายใต้เงื่อนไขอย่างไร กรณีเอกชนที่จะเข้าทำสัญญาค้าขายกับรัฐแต่ขอให้รัฐปกปิดข้อมูลและเงื่อนไขโดยอ้างว่า เป็นความลับทางการค้าหรือข้อมูลส่วนบุคคล ทำได้หรือไม่ เพียงใด

 

5. เขียน พ.ร.บ. ข้อมูลสาธารณะฉบับใหม่ โดยยึดหลักตามรัฐธรรมนูญและแนวทางที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศได้เสนอไว้ แล้วลืมหลักปฏิบัติตามกฎหมายเก่าไปเลย

 

ความโปร่งใส คือ ต้องเปิดเผยให้คนทั่วไปรู้เห็นและพร้อมจะชี้แจงด้วยความรับผิดชอบ เพื่อให้ทุกฝ่ายสบายใจ ไม่ต้องกลัวการกล่าวหา ไม่ต้องกลัวใครคอร์รัปชัน ทั้งหมดล้วนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม