ค้าปลีกริมแม่น้ำเจ้าพระยาคึกคัก กลุ่มทุนเร่งสปีดพัฒนาศูนย์รับกำลังซื้อนักท่องเที่ยวไทย/เทศยอดพุ่ง “ยอดพิมานฯ” เผยยิ่งร่วมมือกัน ยิ่งบูม เหตุมีจุดขายไม่ซ้ำกัน เอื้อให้โดดเด่น ล่าสุดเตรียมจัดระเบียบจัดโซนนิ่ง แยกตลาดผัก ผลไม้กับดอกไม้ออกจากกัน ขณะที่ “เจ้าพระยา ดีเวล็อปเมนต์ฯ” ชี้ค้าปลีกในเมืองกระจุกตัว ส่งผลผู้ประกอบการหันหาทำเลใหม่ ก่อนพลิกโฉม “ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก” ฉีกแนวสไตล์คลาสสิก ด้าน “ไอคอนสยาม” ลั่นพร้อมหนุนให้เกิดคลัสเตอร์ ยกระดับเป็นโกลบัล เดสติเนชัน
นางรจเรธ ปรีกราน รองประธาน กลุ่มบริษัท ตลาดยอดพิมาน จำกัด ผู้บริหารศูนย์การค้าริมแม่น้ำเจ้าพระยา “ยอดพิมาน ริเวอร์วอล์ค” ปากคลองตลาด และตลาดยอดพิมาน เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ธุรกิจค้าปลีกริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีการเติบโตอย่างมาก ส่วนสำคัญมาจากการที่แต่ละศูนย์ต่างพัฒนาพื้นที่ภายใน เพื่อให้ตอบสนองกับความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ขณะเดียวกันก็ร่วมมือกันพัฒนา และยกระดับเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า เพราะแต่ละศูนย์จะมีลูกค้าเป้าหมายที่แตกต่างกัน ทำให้ค้าปลีกริมแม่น้ำเจ้าพระยายังมีโอกาสอีกมากสำหรับผู้ประกอบการที่จะเข้ามา
“แต่ละศูนย์การค้าจะมีจุดขายของตัวเองที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นเอเชียทีคฯ ไอคอนสยาม ฯลฯ ส่วนยอดพิมานฯ ก็เป็นศูนย์รวมของร้านค้าดอกไม้ ผัก ผลไม้ 24 ชั่วโมง และที่นี่ถือเป็นศูนย์การค้าริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีวิวสวยที่สุด ในบริเวณรอบเกาะรัตนโกสินทร์ ทำให้ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ ดังนั้นการจะยกระดับให้ริมแม่น้ำเจ้าพระยาของเมืองไทยเป็นจุดหมายปลายทางของนักเดินทาง ทุกฝ่ายจำเป็นจะต้องร่วมมือกันพัฒนา ส่งเสริม และสนับสนุน”
ซึ่งทางบริษัทได้ร่วมจัดงานเทศกาลสงกรานต์ Water Festival 2016 เทศกาลวิถีน้ำ...วิถีไทย ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ผู้ประกอบการริมแม่น้ำเจ้าพระยาร่วมกันจัดขึ้น และคาดว่าจะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ส่งผลให้มีการเติบโตมากกว่าเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งบริษัทตั้งเป้าที่จะมีการเติบโต 40-50%
อย่างไรก็ดี ล่าสุดได้จัดโซนนิ่งร้านค้าภายในใหม่ เพื่อให้มีความชัดเจนโดยตลาดปากคลองตลาด จะเป็นตลาดสำหรับผักและผลไม้เป็นหลัก ขณะที่ตลาดยอดพิมานจะเป็นตลาดดอกไม้ นอกจากนี้ยังจัดทำวอล์ก เลน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้สัญจรผ่านไปมา สามารถใช้บริการ เลือกซื้อสินค้า และใช้บริการท่าเรือได้ทันที ขณะที่บริเวณชั้น 2 จะจัดทำเป็นศูนย์อาหารเพื่อให้บริการพ่อค้า แม่ค้าในตลาดรวมทั้งบุคคลภายนอกที่ต้องการมาใช้บริการ ส่วนชั้นบนจะจัดสรรเป็นเซอร์วิส อพาร์ตเมนต์ จำนวน 66 หน่วย เปิดให้พ่อค้า แม่ค้าและบุคคลทั่วไปเช่าอยู่ในราคา 5 พัน – 6 พันบาทต่อเดือนจากเดิมที่วางแผนจะจัดทำเป็นศูนย์ติวเตอร์ โดยทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในกลางปีนี้
ด้านนายวรพงศ์ สุขธีรอนันตชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจ้าพระยา ดีเวล็อปเมนต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในเครือบริษัทอิตัลไทยกรุ๊ป ผู้บริหารศูนย์การค้าริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก (RCB) ผู้บุกเบิกศูนย์การค้าริมแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อ 30 ปีที่แล้ว กล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจค้าปลีกริมแม่น้ำเจ้าพระยามีการแข่งขันที่สูงมาก
โดยในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมาศูนย์การค้าริมแม่น้ำทยอยเปิดให้บริการเพิ่มมากขึ้น เพราะเป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้บริโภค หลังจากที่พบว่าศูนย์การค้าในเมืองกระจุกตัวเกินไป ขณะเดียวกันร้านค้าที่เปิดให้บริการก็มีรูปแบบที่คล้ายคลึงกัน ทำให้มีการแข่งขันที่รุนแรงเพื่อดึงดูดกำลังซื้อของลูกค้าทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ดังนั้นทางเลือกในการขยายธุรกิจศูนย์การค้า จึงขยับออกไปทางกรุงเทพฯรอบนอกมากขึ้น เพราะโอกาสในการหาที่ดินแปลงใหญ่มีความเป็นไปได้ง่ายกว่า และคู่แข่งขันก็น้อยกว่า ใครลงทุนก่อนก็มีความได้เปรียบสูง และการขยายธุรกิจมายังริมแม่น้ำเจ้าพระยา ก็เป็นทางเลือกที่มีจุดขายที่ดีที่สุด
“เชื่อว่าในอนาคตจะมีศูนย์การค้าริมแม่น้ำเจ้าพระยาทยอยเปิดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี หลังจากที่โครงการศูนย์การค้าริมน้ำขนาดใหญ่ที่มีการประกาศเปิดตัวไปแล้ว แต่จะเป็นโครงการที่มีขนาดไม่ใหญ่เนื่องจากข้อจำกัดในการหาแปลงที่ดินที่เหมาะสม และการจราจรเข้าถึงสะดวกเป็นไปได้ยาก”
ล่าสุดบริษัทใช้งบลงทุน 280 ล้านบาทในการตกแต่งและปรับปรุงศูนย์การค้าริเวอร์ ซิตี้ พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็น “ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก” เพื่อปรับลุคให้เป็นศูนย์การค้าร่วมสมัยสไตล์คลาสสิก พร้อมกับการเพิ่มเซ็กเมนต์ใหม่ ในกลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์และไดนิ่ง โดยชูจุดขายริมแม่น้ำเจ้าพระยา รองรับกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่ที่ชอบเสพงานศิลป์ สะสมงานอาร์ต และชื่นชอบไลฟ์สไตล์ฮิพ ช็อปปิ้ง ท่องเที่ยว พักผ่อน โดยหลังจากเปิดให้บริการครบเต็มรูปแบบในเดือนกรกฎาคม 2559 คาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้น 25%
ด้านนางชฎาทิพ จูตระกูล กรรมการ บริษัท ไอคอนสยาม จำกัด เจ้าของโครงการไอคอนสยาม กล่าวว่า ริมแม่น้ำเจ้าพระยาถือเป็นเส้นทางสายหลักของคนไทยตั้งแต่ยุคในอดีต ถือเป็นเส้นทางประวัติศาสตร์ ที่มีการเติบโต มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และจะเป็นโกลบัล เดสติเนชันในอนาคต การเข้ามาของผู้ประกอบการจะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับพื้นที่ และการเกิดแต่ละโครงการจะช่วยเติมเต็มให้กับชุมชนและสังคม ดังนั้นการจะก้าวหน้าจำเป็นจะต้องมีความร่วมมือกัน รวมกันเป็นคลัสเตอร์ เพราะการจะเกิดแบบสแตนด์อะโลน จะไม่ช่วยให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน
“เราไม่ได้มองเรื่องของการแข่งขัน แต่เราต้องการเป็นต้นแบบในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับริมแม่น้ำเจ้าพระยา เราต้องการพัฒนาให้ไอคอนสยาม เป็นต้นแบบของผู้ประกอบการที่จะมาร่วมมือกัน ช่วยกันพัฒนา สร้างแคมเปญนำเสนอเรื่องราวความเป็นไทยเพื่อใช้เป็นจุดขายในการดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ เพราะแต่ละศูนย์การค้าจะมีจุดขายที่แตกต่างกัน เช่น ไอคอนสยาม จะมีไอคอนลักซ์ (Luxury Wing) ศูนย์รวมสินค้าลักชัวรีจากทั่วโลก ไอคอนสยาม เฮอริเทจ มิวเซียมฯลฯ “นางชฎาทิพกล่าวและว่า
สำหรับภาพรวมของธุรกิจริมแม่น้ำเจ้าพระยาคึกคักขึ้น จากการลงทุนโครงการต่างๆ ทั้ง คอนโดมิเนียม โรงแรม ฯลฯ ที่เพิ่มขึ้นและนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติที่เข้ามาจำนวนมาก
อย่างไรก็ดี ศูนย์การค้าที่เปิดให้บริการริมแม่น้ำเจ้าพระยาเริ่มได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการประกาศใช้เงินลงทุนกว่า 5 หมื่นล้านบาทของกลุ่มสยามพิวรรธน์ ในการพัฒนาโปรเจ็กต์ “ไอคอนสยาม” ที่จะมาฉายแสงให้ค้าปลีกริมเจ้าพระยาเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก นอกจากนี้ยังมีเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ ของกลุ่มทีซีซี แลนด์ ที่เตรียมขยายการลงทุนเฟส 2 และเฟส 3 (ฝั่งตรงข้าม) คอมมูนิตี้ มอลล์ “ท่ามหาราช” ของกลุ่มสุภัทรา เรียลเอสเตท ที่ล่าสุดเพิ่งรีโนเวตพร้อมปรับโฉมเป็นริเวอร์ไซด์ วอล์ก ด้วย
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,149 วันที่ 17 - 20 เมษายน พ.ศ. 2559