ตามที่รัฐบาลได้กำหนดให้ “สังคมสูงอายุ” เป็นวาระแห่งชาติ และได้สานต่อแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ (พ.ศ. 2545 - 2565) เตรียมพร้อมสังคมไทยเข้าสู่ “สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์” ในปี 2564 ที่คาดการณ์ว่า จะมีประชากรไทย อายุ 60 ปีขึ้นไปเป็นสัดส่วนร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด และในปี 2574 สัดส่วนจะเพิ่มสูงถึงร้อยละ 28 เข้าสู่ “สังคมสูงอายุระดับสุดยอด”
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากการประเมินผลแผนปฏิบัติการฯ พบว่า การดำเนินงานยังมีบางด้านที่ต้องปรับปรุง เช่น การเตรียมความพร้อมของประชากรเพื่อวัยสูงอายุที่มีคุณภาพ การส่งเสริมและพัฒนาผู้สูงอายุ และการคุ้มครองทางสังคมสำหรับผู้สูงอายุ ดังนั้นเพื่อให้ประเทศมีสังคมสูงอายุที่มีคุณภาพ และผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีเป็นพลังของสังคม คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ที่มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จึงได้ปรับแผนปฏิบัติการฯ (พ.ศ. 2563 - 2565) ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันของหลายหน่วยงาน โดยให้ความสำคัญกับ ประเด็นหลัก คือ
1) การรณรงค์ให้สังคมตระหนักถึงความจำเป็นของการเตรียมการเข้าสู่การเป็นผู้สูงอายุ คนวัยทำงานมีความเข้าใจถึงการเตรียมตัวด้านต่าง ๆ เช่น รายได้ สุขภาพ ที่อยู่อาศัย
2) สังคมมีทัศนะเชิงบวกต่อผู้สูงอายุ ไม่มองว่าผู้สูงอายุเป็นภาระต่อสังคม โดยมุ่งเน้นการสร้างทัศนคติกับกลุ่มประชากรอายุ 18 - 59 ปี จำนวน 40 ล้านคน
3) การจ้างงานผู้สูงอายุเพื่อให้รู้สึกว่าตนมีคุณค่า มีศักดิ์ศรี มีรายได้ และสามารถทำประโยชน์ให้กับสังคม ตั้งเป้าไว้ปี2564 ผู้สูงอายุจำนวน 1.95 แสนคนมีงานทำ
4) กลุ่มผู้สูงอายุที่ครอบครัวยากจน จะเน้นให้ลูกหลานกลับมาอยู่กับครอบครัวมากขึ้นโดยท้องถิ่นเป็นผู้ขับเคลื่อนสำคัญและให้การดูแลช่วยเหลือผู้สูงอายุ ส่วนกลางต้องจัดงบประมาณเข้าไปเสริมการทำงานของท้องถิ่น
5) การปรับเปลี่ยนโรงเรียนขนาดเล็กให้เป็นสถานที่พัฒนาผู้สูงอายุในชุมชน เพราะทุกวันนี้จำนวนเด็กเกิดใหม่น้อยกว่าจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก
6) การส่งเสริมการออมทั้งแรงงานในระบบและนอกระบบ คนวัยทำงานต้องออมเงินเพื่อใช้ในวัยเกษียณ
7) การส่งเสริม และสนับสนุนให้มีการผลิตหรือฝึกอบรมบุคลากรด้านผู้สูงอายุในระดับวิชาชีพอย่างเพียงพอและมีมาตรฐาน
“รัฐบาลได้เตรียมการเพื่อรองรับสังคมสูงวัย รวมถึงเตรียมความพร้อมให้คนไทยมีความพร้อมก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุอย่างมีคุณภาพ มีการกำหนดแนวทางและเป้าหมายร่วมกันระหว่างกระทรวง และการขับเคลื่อน ซึ่งเรื่องนี้ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนและประชาชน เพราะสังคมสูงวัยไม่ใช่เพียงเรื่องของคนสูงวัย แต่เป็นเรื่องของคนทุกวัย”
นางสาวรัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเด็นเร่งด่วน คือต้องสร้างความตระหนักในกลุ่มคนวัยทำงานถึงความสำคัญของการออมเงิน และการเตรียมตัวเองสู่การเป็นผู้สูงอายุและอยู่ในสังคมสูงอายุ อีกทั้ง สร้างทัศนคติของคนในสังคมให้มองผู้สูงอายุเป็นทุนทางสังคม เป็นผู้มีศักยภาพหากได้รับการส่งเสริมโอกาส