ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) โดย พล.ต.ท. เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานปราบปรามผลิตภัณฑ์และการบริการด้านสุขภาพที่ผิดกฎหมาย และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข โดยเภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกันแถลงผลการตรวจยึดถุงมือทางการแพทย์เถื่อนกว่า 900,000 คู่ ย่านหนองแขม กทม.
ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ได้รับเรื่องร้องเรียนขอให้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ถุงมือยางของบริษัท พันธ์ยศเฮลธ์ แพลนเนท จำกัด เนื่องจากพบว่า เป็นสินค้าไม่ได้มาตรฐาน และมีสภาพเป็นถุงมือที่ผ่านการใช้งานแล้วนำมาแบ่งบรรจุขายใหม่ จึงได้ประสาน ปคบ. ทำการสืบสวนข้อเท็จจริง และเข้าตรวจสอบสถานที่ดังกล่าว ขณะตรวจสอบพบสภาพการผลิตโดยนำถุงมือที่บรรจุอยู่ในถุง/กระสอบ มาแบ่งบรรจุใส่กล่องฉลากแสดงเป็นถุงมือทางการแพทย์ยี่ห้อต่างๆ ซึ่งถุงมือบางส่วนมีลักษณะคล้ายถุงมือที่ผ่านการใช้งานแล้ว
อย่างไรก็ดี พบว่า สถานที่ดังกล่าวได้รับอนุญาตเป็นสถานประกอบการนำเข้าเครื่องมือแพทย์ โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นสถานที่ผลิตเครื่องมือแพทย์แต่อย่างใด เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ยึดของกลางที่ผิดกฎหมาย มีรายการ ดังต่อไปนี้
1.PANYOS® GLOVES Nitrile Examination Gloves คละสี คละขนาด จำนวน 430 ลัง (430,000 คู่)
2.SKYMED® Protection Gloves Nitrile Powder Free Examination Gloves non-sterile คละขนาด จำนวน 20 ลัง (20,000 คู่)
3.PANYOS® PURE GLOVE US-FDA 510(k) คละขนาด จำนวน 476 ลัง (476,000 คู่)
4.กล่องบรรจุภัณฑ์ PANYOS® GLOVES Nitrile Examination Glove จำนวน 1,200 ชิ้น
5.กล่องบรรจุภัณฑ์ ยี่ห้อ PANYOS® PURE GLOVE US-FDA 510(k) จำนวน 1,200 ชิ้น
6.ถุงมือบรรจุในถุงกระสอบ จำนวน 10 กระสอบ
7.เอกสารแผนการทำงาน จำนวน 1 ฉบับ
รวมยึดของกลางทั้งหมด 7 รายการ จำนวน 900,000 คู่ คิดเป็นมูลค่ากว่า 11 ล้านบาท พร้อมตั้งประเด็นความผิดในเบื้องต้นตามพระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ. 2551 ดังนี้
1.ผลิตเครื่องมือแพทย์โดยไม่จดทะเบียนสถานประกอบการผลิตเครื่องมือแพทย์ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2.ผลิตเครื่องมือแพทย์ที่ไม่ปลอดภัยในการใช้ คือเป็นเครื่องมือแพทย์ที่ผลิตหรือเก็บรักษาโดยไม่ถูก สุขลักษณะ โดยนำถุงมือที่มีสภาพทั้งดีและเสียบรรจุกระสอบมาคัดแยก จากนั้นจึงนำมาบรรจุใส่กล่องผลิตภัณฑ์ขาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้เก็บตัวอย่างถุงมือทางการแพทย์ดังกล่าวส่งตรวจวิเคราะห์คุณภาพมาตรฐาน หากผลการตรวจวิเคราะห์พบว่าผลิตภัณฑ์ไม่ได้คุณภาพหรือไม่มีประสิทธิภาพตามที่กฎหมายกำหนดจะดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
DSI สนธิกำลัง สตช. กระทรวงพาณิชย์ อย. และสรรพสามิต
ทลายแหล่งขายสมุนไพร "ยาผีบอก" ใน 5 จังหวัด
ผงะ“เครื่องวัด-ชุดตรวจโควิด” ปลอมระบาดหนัก
"บิ๊กตู่" สั่งการ สตช.แก้ไขหนี้นอกระบบ
พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มอบหมายให้คณะทำงานปราบปรามผลิตภัณฑ์และการบริการด้านสุขภาพที่ผิดกฎหมายดำเนินการสืบสวน และดำเนินการทางกฎหมายกับผู้กระทำความผิดอย่างเร่งด่วน เนื่องจากเกี่ยวข้องกับสุขภาพและอนามัยของพี่น้องประชาชนโดยตรง
ด้านเภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า กรณีถุงมือทางการแพทย์มีวัตถุประสงค์สำหรับใช้สวมมือ เพื่อป้องกันการปนเปื้อนระหว่างผู้ป่วยและผู้ใช้ในการตรวจวินิจฉัยหรือรักษาโรค และรวมถึงการใช้สำหรับการจับหรือสัมผัสกับวัสดุทางการแพทย์ที่อาจปนเปื้อนด้วย โดยสถานที่ผลิตจะต้องมีการควบคุมคุณภาพและการเก็บรักษาเครื่องมือแพทย์ให้ถูกสุขลักษณะ รวมถึงตัวผลิตภัณฑ์ต้องมีคุณภาพมาตรฐานเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด หากผลิตภัณฑ์มีข้อบกพร่องไม่ได้มาตรฐานอาจส่งผลเสียได้ทั้งต่อผู้ป่วยและผู้สวมใส่ ซึ่งในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่กำลังระบาดทั่วโลกในขณะนี้ มักพบการฉวยโอกาสลักลอบผลิตและนำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีความจำเป็นต้องใช้เกี่ยวกับการป้องกันหรือรักษาโรคโควิด-19 เป็นจำนวนมาก ซึ่ง อย. สตช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะช่วยกันสอดส่องดูแลเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค
ทั้งนี้ หากพบเห็นการลักลอบผลิต หรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ต้องสงสัย สามารถดำเนินการผ่าน 4 ช่องทางหลัก ได้แก่ สายด่วน อย. 1556 หรือ Oryor Smart Application หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ และ สายด่วน บก.ปคบ. 1135